“ห้องสมุด” กับ “การตลาด”
ขอดเกล็ดความรู้มาจากการประชุมวิชาการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง การเชื่อมโยงความรู้: ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี (Connecting Knowledge: Library, New Media & Technology)
(ข้อเขียนนี้ดึงแนวคิดสำคัญจากการร่วมสัมมนาออกมา รายละเอียดดูและขยายความรู้ต่อได้จากสไลด์ของวิทยากรด้านท้าย และมีการเพิ่มเติมความรู้จากแหล่งอื่นๆ ด้วยเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น)
หนึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ที่มีการหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งคือการดำเนินกิจการของห้องสมุดภายใต้กรอบความคิดทางการตลาด เมื่อพูดถึงการตลาด คนส่วนใหญ่มักคิดถึงกิจกรรมทางธุรกิจที่มุ่งเป้าเพื่อผลกำไรทางการค้า แต่ความจริงแล้วการตลาดอยู่ใกล้ชิดกับเรามากกว่าที่คิด การตลาดอยู่รอบตัวเราตั้งแต่เกิดจนตาย กับห้องสมุดแล้ว การตลาดเข้ามามีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และในช่วงเวลาที่ก่อให้เกดความคลางแคลงใจต่อการมีอยู่ของห้องสมุด การตลาดนิ่งมีส่วนสำคัญในการดำรงอยู่ของห้องสมุดมากยิ่งขึ้น
ทุกคนพยักหน้ากันอย่างพร้อมเพรียงเมื่อถูกถามว่าการตลาดสำคัญต่อห้องสมุดใช่ไหม แต่มีไม่กี่คนที่บอกได้ว่าแล้วตกลงห้องสมุดของท่านนำกลยุทธ์ทางการตลาดอะไรมาปรับใช้
คำจำกัดความของ การตลาด (Marketing) นั้นหลากหลายทิศทางมาก และยังสามารถนำมาเชื่อมโยงกับทุกกิจกรรมของห้องสมุดได้ ตอบแบบหยาบๆ ก็อาจกล่าวได้ว่ามันคือ “กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้กิจการดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ห้องสมุดก็เช่นกัน หากเปรียบห้องสมุดกับธุรกิจสักอย่าง เราก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน มิเช่นนั้นเราจะตอบไม่ได้เลยว่าเรายังจำเป็นที่ต้องมีอยู่อีกไหม
เราเป็นใคร? เราขายอะไร? ใครจะซื้อเรา? เรามีดีตรงไหน? เราต่างจากคู่แข่งอย่างไร? เราจะไปทางไหน?
แค่คำถามแรกก็ตอบยากแล้ว แต่มันคือคำถามที่สำคัญที่สุด ถ้ายังไม่รู้จักตัวเองดีพอก็ปิดเกมได้เลย
แล้วเราควรจะทำตัวอย่างไรล่ะ ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมาก แค่ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด พัฒนาตนเอง และพัฒนางานที่ทำ ผมว่าแค่นี้ก็เหลือแหล่แล้ว เพราะทุกสิ่งอันที่เราทำนั่นคือการตลาดโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ การตลาดมันกว้างเหลือเกิน คงยากที่เราจะทำทุกอย่างได้หมด เมื่อเราทำหน้าที่อย่างดี ผู้ใช้ก็จะมาหาเราเอง แต่สิ่งที่ว่าดีที่สุดก็ยังต้องแตกต่างหรือเหนือกว่าคู่แข่งเช่นกัน
สิ่งที่ห้องสมุดต้องเผชิญในยุคใหม่นี้นอกจากเรื่องของผู้ใช้และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวกับห้องสมุดก็มีส่วนสำคัญ หลายครั้งที่เรามองข้ามทั้งที่มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดแท้ๆ อาทิ งบประมาณ การประเมินผลงาน บุคลากร เป็นต้น
ยอมรับกันเถอะครับว่างบประมาณนั้นสำคัญ ชอบมีคำพูดสวยๆ ของบรรณารักษ์โลกสวยทั้งหลายว่าเงินไม่สำคัญ ห้องสมุดสวยๆ ไม่สำคัญ อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเท่าทรัพยกรที่มี ผมเห็นห้องสมุดหลายแห่งก็ตายนะครับทั้งที่มีหนังสือดีๆ เพียบ ขณะที่ห้องสมุดที่คนเข้าเยอะๆ กลับงดงามจากภาพลักษณ์ภายนอกและประโยชน์ใช้สอย อย่าลืมครับว่า Information ลอยไปลอยมารอบตัวเรา ขอให้มีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็สอยลงมาได้แล้ว คนเข้ามาใช้ห้องสมุดหรือเข้ามาใช้ “พื้นที่” ในห้องสมุดกันแน่ บรรณารักษ์โลกสวยเหล่านี้พอไม่ได้งบประมาณก็เห็นโวยวายกันทุกคน ตกลงจะเอามั้ยครับเงินน่ะ ผมว่ามันขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะจัดสรรเงินมาใช้ในทางใดมากกว่า บางทีการอยากได้ห้องสมุดสวยๆ ก็ไม่ผิด แต่ลองถามผู้ใช้หรือยังว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ หรือถามตัวเองก็ได้ครับว่าอยากให้ห้องสมุดเป็นอย่างไร ระวังนะครับ หลายแห่งปรับโฉมเสียสวยงามใหญ่โต แล้วก็มานั่งงงๆ เอาภายหลังว่าจะใช้พื้นที่ทำอะไรดี
การประเมินผลงานของห้องสมุด อันนี้เกี่ยวกับความเป็นความตายขององค์กรโดยตรงเลยครับ ห้องสมุดน่ะไม่ตายหรอก แต่อาจจะไม่โต ถ้าทำผลงานแย่ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประเมินยุคใหม่หันมาใส่ใจมากๆ คือ ความคุ้มทุนของการลงทุนให้ห้องสมุด อาจจะมองว่าดูเหมือนภาคธุรกิจเข้าไปทุกที แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ สิ่งที่เราทำให้เกิดไม่ใช่มูลค่าทางทรัพย์สินแต่เป็นมูลค่าทางปัญญา มันก็ขึ้นกับว่าเราทำให้องค์กรเห็นความสำคัญของเราแต่ไหน
โดยสรุปแล้วเรื่องการตลาดแบบกว้างๆ ลองไปหาอ่านกันเองเพื่อลับสมอง ลองคิดเล่นๆ กันว่าจะเอามาประยุกต์ใช้กับห้องสมุดเราได้อย่างไร เอาแค่กับงานของตัวเองก็ได้ หากคิดไม่ออกก็แนะง่ายๆ ว่าหาให้เจอว่าเราทำอะไร เพื่อใคร เจอสองอย่างนี้ก็ต่อยอดได้อีกโขเลย เหนืออื่นใดการทำการตลาดที่ง่ายที่สุดโดยไม่ยุ่งยากเลยก็คือ “ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด” ง่ายไหมล่ะครับ
เอกสารการบรรยาย
สร้างแบรนด์ด้วย 3O (Operation Opportunity Outreach)