Home » Research Data » ประชุมวิชาการ ชบอ. “บทบาทของห้องสมุดอุดมศึกษาในการจัดการข้อมูลวิจัยฯ”

ประชุมวิชาการ ชบอ. “บทบาทของห้องสมุดอุดมศึกษาในการจัดการข้อมูลวิจัยฯ”

การประชุมวิชาการชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
เรื่อง บทบาทของห้องสมุดอุดมศึกษาในการจัดการข้อมูลวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เข้าร่วมประชุม : น.ส วรัษยา สุนทรศารทูล และ นาย อภิชัย อารยะเจริญชัย

RDM: Research Data Management

เกิดจากแนวคิดที่เชื่อว่า Research Data ควรเป็นข้อมูลที่เป็นสาธารณะ 1) ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงและใช้ได้ 2) สามารถนำมาต่อยอดได้ 3) นำมาพัฒนาเป็นความรู้ใหม่ 4) นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังมีฝ่ายที่เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลวิจัย อาจมีผลกระทบบางอย่าง เช่น การลักลอกผลงาน ความไม่เท่าเทียม การละเมิดสิทธิ์ ดังนั้นกระบวนการจัดการข้อมูลวิจัย จึงน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ในกระบวนการทำวิจัยนั้น นอกจากจะนำเสนอผลงานวิจัยในท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมโดยผู้วิจัยก็ควรเผยแพร่ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสทั้งในด้านกระบวนการทำวิจัย แหล่งทุนวิจัย หรือจริยธรรม อาจเกิดการค้นพบระหว่างทางที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานวิจัย

นโยบายข้อมูลวิจัย (Research Data Policies) กำหนดขึ้นโดย 1) ผู้ให้ทุนวิจัย 2) สถาบันหรือหน่วยงานของผู้วิจัย 3) สำนักพิมพ์หรือวารสารที่เผยแพร่ผลงานวิจัย ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีการกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม แต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้เนื่องจากถูกกำหนดโดยสามส่วนสำคัญข้างต้น

ข้อมูลวิจัย (Research Data) ประกอบด้วยอะไรบ้าง เราอาจแบ่งข้อมูลวิจัยตามกระบวนการวิจัยได้ 3 ประเภท

  1. Raw Data คือข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวม ค้นคว้า โดยผู้วิจัย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการดำเนินการวิจัย เช่น เอกสารต่าง ๆ บันทึก รูปภาพ เสียงสัมภาษณ์ ฯลฯ อาจอยู่ในรูปของสื่อที่จับต้องได้หรือสื่อดิจิทัล รวมถึงโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ด้วย
  2. เอกสารการวิจัย (Research Records) คือเอกสารที่ใช้ประกอบการทำวิจัย เช่น ข้อเสนอโครงการวิจัย เอกสารโครงการ แบบขอรับทุนวิจัย รายงานวิจัยขั้นต้น จดหมายโต้ตอบ ฯลฯ
  3. ผลงานวิจัย (Research Outputs) คือ งานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว รวมถึงผลที่เกิดจากงานวิจัย ได้แก่ รายงานฉบับสมบูรณ์ วิทยานิพนธ์ บทความวิชาการ รายงานการประชุม โปสเตอร์ เอกสารเผยแพร่ ฯลฯ

ผู้วิจัยควรจัดการกับข้อมูลอย่างไร ขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดการข้อมูลวิจัย ที่กำหนดขึ้นจากแหล่งทุน สถาบันต้นสังกัด สำนักพิมพ์หรือวารสาร โดยจะกำหนดขอบเขตว่าข้อมูลใดบ้างที่ต้องจัดเก็บ รูปแบบใด มีมาตรฐานอย่างไร จัดเก็บที่ใด เผยแพร่อย่างไร ฯลฯ ซึ่งจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้กำหนดนโยบาย กระบวนการเหล่านี้ผู้วิจัยจำเป็นต้องศึกษาให้ดี และอาจจำเป็นต้องมีแผนการจัดการ (Data Management Plans: DMP) นำเสนอก่อนขอทุนหรือดำเนินการวิจัย

เมื่อมีกระบวนการจัดการข้อมูลวิจัยจึงทำให้เกิด FAIR Data คือข้อมูลที่ ค้นหาได้ (Findable) เข้าถึงได้ (Accessible) แลกเปลี่ยนได้ (Interoperable) และใช้ซ้ำได้ (Reusable) แต่ FAIR Data อาจไม่ใช่ Open Data ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละหน่วยงาน

บทบาทของห้องสมุดและบรรณารักษ์ต่อการจัดการข้อมูลวิจัย


ที่มา: วชิราภรณ์ คลังธนบูรณ์. (2562). Research Data Management 5W1H. ใน การประชุมวิชาการชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา เรื่อง บทบาทของห้องสมุดอุดมศึกษาในการจัดการข้อมูลวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย. (20 ธันวาคม 2562). กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

จากเดิมที่เป็นผู้สนับสนุนนักวิจัยในการค้นคว้าหรือเข้าถึงข้อมูลวิจัย ต้องเพิ่มบทบาทการเป็นเสมือนผู้ช่วยนักวิจัยตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการวิจัย ระหว่างดำเนินการวิจัย และภายหลังปิดโครงการวิจัย อาทิ

  • ให้ความรู้เกี่ยวกับ RDM
  • ช่วยเหลือในการเขียนแผนการจัดการ (DMP)
  • ช่วยเหลือวางแผนการจัดการกับข้อมูลวิจัย เช่น การจัดระบบไฟล์ข้อมูล ตั้งชื่ออย่างไร ใช้ Format ใด ฯลฯ
  • วางแผนการจัดเก็บ ให้คำแนะนำคลังข้อมูลที่ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ
  • ให้คำแนะนำการ Back Up ข้อมูล การแชร์ข้อมูล
  • ให้คำแนะนำเครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล
  • ช่วยเหลือในการอนุรักษ์ข้อมูล การเข้าถึง การสืบค้น
  • ฯลฯ

เมื่อเกิดกระบวนการจัดการข้อมูลวิจัยขึ้น หน้าที่ของบรรณารักษ์จึงปรับเปลี่ยนไปจากเดิม บรรณารักษ์จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่าบริการห้องสมุดแบบเดิม ๆ อาทิ

  • จริยธรรม กฎ ข้อบังคับ สำหรับการวิจัย
  • ความรู้เกี่ยวกับแหล่งให้ทุนวิจัย กระบวนการทำวิจัย (แม้จะไม่เคยทำวิจัยก็ตาม)
  • กระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย
  • Digital Curation และ Digital Preservation
  • Documentation & Metadata
  • ความรู้เรื่องคลังสารสนเทศ Information Repositories
  • ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม

www.dcc.ac.uk/resources/how-guides (ความรู้เรื่อง RDM จาก Digital Curation Centre ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการและมาตรฐานคลังข้อมูลดิจิทัล)

https://libguides.ntu.edu.sg/rdm (ตัวอย่างการให้บริการ RDM ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยนันยาง สิงคโปร์)