การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และทีมงาน
ถ่ายทอดสดผ่าน IPTV Mahidol University
วันที่ 23 มีนาคม 2563 เวลา 09.00-10.00 น.
ผู้เขียน นายเฉลิมพันธุ์ ตาทิพย์
หัวข้อสำคัญ
- คาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 ภายใน 1 เดือน
- ธรรมชาติของโรคระบาดและมาตรการที่ควรใช้
- “Social Distancing” หลักการคือ “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน”
- “Shelter in Place” กักตนเองอยู่ในบ้าน ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด
- แนวทางการ Work from Home เพื่อรับมือ COVID-19
- ข้อสรุปและแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์ COVID-19
คาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 ภายใน 1 เดือน
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและทีมงาน ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อคล้ายกับประเทศเยอรมนี อยู่ที่ประมาณวันละ 33% ในอัตราการเพิ่มระดับนี้ โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย และหากทุกคนปฏิบัติตนตามปกติ ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ (15 เมษายน 2563) ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ประมาณ 351,948 ราย มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 52,792 ราย มีผู้ป่วยรักษาตัวที่ห้อง ICU 17,597 ราย และเสียชีวิต 7,039 ราย
จากการคาดการณ์ตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในประเทศไทยจะรับไหว เพราะในปัจจุบันโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีห้องแยกผู้ป่วยเดี่ยว (Isolation) ห้องแยกผู้ป่วยรวมหลายเตียง (Cohort Ward) และห้องความดันลบ (AIIR) ในการรองรับผู้ป่วย COVID-19 รวมกันอยู่ที่ราว 7,063 เตียงเท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยไปถึงจุดนั้น อาจจะสะท้อนภาพเหตุการณ์ในประเทศอิตาลีที่โรงพยาบาลจะต้องเลือกว่าจะรักษาใคร
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคนร่วมมือกัน ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 20% ได้ ในวันที่ 15 เมษายน 2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเพียง 24,269 รายเท่านั้น ซึ่งจะช่วยชะลออัตราเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 หลังจาก 4-6 สัปดาห์ ชะลอการระบาดของโรค และลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้สามารถเข้าสู่ระยะที่ 4 และสิ้นสุดได้ภายใน 6-9 เดือน ซึ่งเป็นเป้าหมายในเวลานี้ แม้ว่าตัวเลขที่คาดการณ์จะไม่ดีไปกว่าประเทศที่ควบคุมได้อย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ แต่จะไม่บานปลายเหมือนกับประเทศในภูมิภาคยุโรป
ธรรมชาติของโรคระบาดและมาตรการที่ควรใช้
ระยะที่ 1: ผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศ มาตรการที่ควรใช้ คือ
- ปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามา (Containment) เช่น การระงับการเดินทางของผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง
ระยะที่ 2: ผู้ติดเชื้อแพร่เชื้อให้คนในประเทศ มาตรการที่ควรใช้ คือ
- ตรวจจับผู้ติดเชื้อให้ได้ จากนั้นนำไปกักกันเพื่อแยกออกจากคนในสังคม (Isolation)
- นำผู้ที่มีประวัติการสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อไปกักกันเพื่อเฝ้าระวังจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค (Quarantine)
- ปิดพื้นที่เสี่ยง (Mitigation) เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง โดยต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด และครอบคลุมทุกพื้นที่
ระยะที่ 3: ผู้ติดเชื้อในประเทศแพร่เชื้อให้กันและกัน มาตรการที่ควรใช้ คือ
- ปิดประเทศ ปิดเมือง เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายนอกเข้ามา และเพื่อไม่ให้คนที่ติดเชื้อในประเทศแพร่เชื้อออกไป
- ขอความร่วมมือให้ประชาชนพยายามอยู่บ้าน ไม่เดินทางพร่ำเพรื่อ
- เฝ้าระวัง สังเกต และติดตามอาการติดเชื้อของตนเองและสมาชิกในครอบครัว
“Social Distancing” หลักการคือ “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน”
- การพูดคุยในสถานการณ์ปกติจะมีละอองน้ำลายกระจายได้สูงถึง 3,000 ละออง ในระยะห่าง 1 เมตร
- ตามมาตรการของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของสหรัฐอเมริกา กำหนดให้บุคคลพูดคุยกันในระยะห่างไม่น้อยกว่า 6 ฟุต หรือ 2 เมตร
- เป็นสาเหตุให้มีประกาศปิดสถานบันเทิง โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ รวมถึงการเปิดร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน (Take away) เพื่อป้องกันการร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก ตามหลักการ “Social Distancing” คือ “โรคติดต่อจะไม่ติดต่อ หากคนไม่ติดต่อกัน”
- หากสามารถชะลอการระบาดของโรคได้ เชื้อไวรัส COVID-19 จะค่อย ๆ ลดจำนวนลง คนที่เจ็บป่วยไม่รุนแรงจะสามารถสร้างภูมิต้นทานต่อเชื้อได้
“Shelter in Place” กักตนเองอยู่ในบ้าน ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด
- คนในสังคมร่วมกันลดอัตราเสี่ยงในการรับและการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 โดยการปฏิบัติงานอยู่บ้าน (เป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุด หากคนในบ้านปลอดเชื้อ)
- ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นและน้อยที่สุด เช่น ออกไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน
- ยกเว้นผู้ปฏิบัติงานในการดูแลสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์อนามัย เป็นต้น การบริการสาธารณะ เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด พนักงานการไฟฟ้า ช่างประปา เป็นต้น ซึ่งจะมีมาตรการความปลอดภัยในการปฏิบัติงานอยู่แล้ว
แนวทางการ Work from Home เพื่อรับมือ COVID-19
- เน้นหลักการ “Social Distancing” และ “Shelter in Place”
- งานที่มอบหมายของผู้ปฏิบัติ ให้ติดตามผลงานเป็นหลัก ไม่นับชั่วโมงการทำงาน
- จัดแบ่งผู้ปฏิบัติงานแบบเดียวกันเป็น 2 ทีม เพื่อป้องกันกรณีหากผู้ปฏิบัติงานเกิดการติดเชื้อ และทีมต้องเข้าสู่การ Quarantine เป็นเวลา 14 วัน
- หัวหน้าภาควิชา/ฝ่าย/งาน/หน่วย เป็นผู้พิจารณาแยกงานที่ต้องปฏิบัติในพื้นที่และงานที่ต้องปฏิบัติอยู่บ้าน รวมทั้งออกแบบการทำงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะงานของผู้ปฏิบัติงาน
ข้อสรุปและแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์ COVID-19
- ติดตามข่าวการรายงานสถานการณ์ COVID-19 อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงประกาศสำคัญ เช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุม COVID-19 เป็นต้น เพื่อการปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
- ปฏิบัติตามหลักการ “Shelter in Place” กักตัวอยู่บ้าน/ที่พักอาศัย จัดเตรียมสิ่งของจำเป็น (ของกิน/ของใช้) ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว (ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว)
- หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ให้ปฏิบัติตามหลักการ “Social Distancing” รักษาระยะห่างจากผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือทุกครั้งที่มีการสัมผัส
- การปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว ควรมีการแบ่งงานไปทำที่บ้าน (Work from Home) โดยจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน รายงานความก้าวหน้าของการปฏิบัติงาน และจัดประชุมแบบออนไลน์ ทดแทนการทำงานแบบพบปะพูดคุยโดยตรง
- เฝ้าระวัง สังเกต และติดตามอาการของตนเอง สมาชิกในครอบครัว และคนรอบข้าง จดจำบุคคลที่ไปติดต่อ บันทึกสถานที่ที่เดินทางไป และรับทราบข่าวการประกาศพื้นที่เสี่ยง COVID-19
- วางแผนการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครอง COVID-19 เช่น กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพเฉพาะโรค สำหรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (สวัสดิการมหาวิทยาลัยมหิดล) เป็นต้น รวมถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐสนับสนุน เช่น การปรับลดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่ มี.ค.-ส.ค. 63) เป็นต้น
- ที่กล่าวมาข้าวต้น จะเป็นการช่วยให้ประเทศไทยชะลออัตราการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชะลอการระบาด และลดจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงลดภาระแก่บุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ให้สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมายเหตุ: สามารถรับชมคลิป “การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/YAmKPUNCpV4 หรือ IPTV ที่ https://iptv.mahidol.ac.th/topic/79503