โครงการอบรมประจำปีงบประมาณ 2568 หัวข้อ “ลิขสิทธิ์เป๊ะ ต้นฉบับปัง” ครั้งที่ 1
โดย : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล
สถานที่ : ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
วัตถุประสงค์ : เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์หนังสือ/ตําราวิชาการ แนวทางจัดการลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม เพื่อการเตรียมต้นฉบับได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในการจัดทำผลงานทางวิชาการประกอบการเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : นายอภิชัย อารยะเจริญชัย
วิทยากร
– คุณคณนาถ จันทร์ทิพย์ กองลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
– คุณฐิตินันท์ ศรีสถิต สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล
– ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
– ศาสตราจารย์ ดร.บุษบา กนกศิลปธรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
– ศาสตราจารย์ ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหิดล
ประเด็นที่น่าสนใจ
- งานอันมีลิขสิทธิ์ จะต้อง 1) ไม่ขัดต่อกฎหมาย 2) ไม่ขัดต่อศีลธรรม 3) มีความริเริ่มสร้างสรรค์ (Originality)
- งานแปล ลิขสิทธิ์เป็นของใคร
- ลิขสิทธิ์ 100% เป็นของเจ้าของต้นฉบับ ผู้แปลจะได้ลิขสิทธิ์หรือไม่ อย่างไร ขึ้นกับข้อตกลงที่กระทำต่อกัน
- หากเจ้าของลิขสิทธิ์เห็นว่าผู้แปลกระทำการใด ๆ อันกระทบต่อสิทธิ์ แม้จะมีการอนุญาตแล้ว (กรณีที่กระทำการเกินสมควรตามความเห็นของเจ้าของสิทธิ์) ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องได้
- ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจ้าของสิทธิ์ว่าเห็นว่ากระทบต่อสิทธิ์ของตนไหม (แต่การพิจารณาขึ้นอยู่กับศาล)
- สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์มี 3 แบบ
- แบบเด็ดขาด (Exclusive Licensing) A เป็นเจ้าของสิทธิ์ มอบสิทธิ์ให้ B ทั้งหมด โดยที่ A จะไม่มีสิทธิ์ในงานนั้นอีกต่อไป
- แบบไม่เด็ดขาด (Non-Exclusive Licensing) A เป็นเจ้าของสิทธิ์ มอบสิทธิ์ให้ B แต่ที่ A ยังมีสิทธิ์ในงานนั้นและสามารถมอบสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้อีก
- แบบกึ่งเด็ดขาด (Sole Licensing) A เป็นเจ้าของสิทธิ์ มอบสิทธิ์ให้ B ทั้งหมด โดยที่ A จะยังมีสิทธิ์ในงานนั้นอยู่ แต่ไม่สามารถมอบสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้อีก
- การโอนสิทธิ์ ต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร มีระยะเวลาที่ชัดเจน และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามแต่ตกลงกัน
- การโอน คือ เปลี่ยนมือผู้ถือสิทธิ์ / การอนุญาต คือ ให้ใช้สิทธิ์ตามระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด
- ชื่อหนังสือ / ชื่อเพลง / คำขวัญ / สูตรอาหาร / สูตรคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ / รูปแบบตัวอักษร ไม่นับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ (รูปแบบตัวอักษร จะมีลิขสิทธิ์ในกรณีที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์)
- ผลงานของอาจารย์ที่สร้างสรรค์ในขณะที่ยังทำงานในมหาวิทยาลัย ลิขสิทธิ์เป็นของใคร?
- หากทำตามคำสั่งของมหาวิทยาลัยหรือตามหน้าที่ ลิขสิทธิ์เป็นของมหาวิทยาลัย หรือเป็นไปตามคำสั่งว่าระบุไว้ว่าอย่างไร
- หากทำนอกเวลางาน อาจารย์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่ผลงานนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับงานในหน้าที่อย่างปฏิเสธไม่ได้ เช่น อาจารย์สอนเคมี เขียนนิยายหลังเลิกงาน อันนี้ลิขสิทธิ์เป็นของอาจารย์ แต่อาจารย์เขียนตำราเคมีหลังเลิกงาน อันนี้ลิขสิทธิ์เป็นของมหาวิทยาลัย เพราะผลงานยังผูกพันกับภาระงานของอาจารย์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากงานที่ทำ เว้นแต่พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่าไม่เกี่ยวข้องกัน
- ตำรามือสองขายต่อได้ไหม?
- ขายต่อได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่หากนำต้นฉบับไปทำสำเนาแล้วขาย แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะเราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตำราเล่มนั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเนื้อหาในตำราเล่มนั้น
- การซื้อภาพจากเว็บไซต์มาใช้ เราเป็นเจ้าของภาพนั้นหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพนั้นหรือไม่?
- ขึ้นกับข้อตกลงกับเว็บไซต์ หากซื้อแล้วเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่ตกลงกับเว็บไซต์ ภาพนั้นจะต้องถูกลบออกไปจากเว็บไซต์ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์เปลี่ยนมือไปแล้ว แต่ถ้าซื้อแล้วภาพนั้นยังคงอยู่ในเว็บไซต์และยังมีคนอื่นซื้อต่อไปใช้ได้อีก แบบนี้อยู่ในนิยามของการอนุญาตให้ใช้ตามเงื่อนไข
- การซื้อภาพจากเว็บไซต์มาใช้ สามารถใช้ได้อย่างอิสระใช่หรือไม่?
- ขึ้นกับข้อตกลงกับเว็บไซต์ ตรวจสอบให้ละเอียดโดยเฉพาะการทำซ้ำจำนวนมาก ๆ เช่น นำมาพิมพ์หนังสือเพื่อจำหน่าย ต้องดูในเงื่อนไขว่าอนุญาตให้ทำซ้ำในปริมาณเท่าไหร่
- ภาพถ่ายที่ถ่ายด้วยตัวเอง เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใช่หรือไม่?
- ใช่ แต่ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย ซึ่งอาจจะไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่มีความผิดกรณีอื่น
- ก่อนจะบันทึกภาพทั้งสถานที่หรือวัตถุ ต้องตรวจสอบให้ดีว่าเจ้าของสถานที่หรือเจ้าของวัตถุให้อนุญาตหรือไม่
- ถ้าจะนำมาภาพใช้ ควรได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่หรือเจา้ของวัตถุก่อน เช่น อาจารย์บันทึกภาพในห้องผ่าตัดเพื่อใช้ประกอบงานวิชาการ ต้องได้รับอนุญาตจาก ผอ.โรงพยาบาลก่อน แม้จะทำเพื่อประโยชน์ทางวิชาการก็ตาม หรือต่อให้เป็นภาพของงานที่ไม่นับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ก็ตาม ก็ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน
- ปัญหาของผลงานที่สร้างโดย AI
- ลิขสิทธิ์จะมอบให้กับบุคคล AI ไม่ใช่บุคคลจึงไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน งานจาก AI จึงไม่ใช่งานอันมีลิขสิทธิ์
- คนสั่งให้ AI ทำ หรือเป็นคนป้อนคำสั่ง (Prompt) คนจึงเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานและมีสิทธิ์ในงานนั้น แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า AI สร้างสรรค์งานขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากผลงานอื่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกรณีนี้หากมีการฟ้องร้อง คนสั่งคือคนละเมิดลิขสิทธิ์
- ถ้า AI สร้างสรรค์ผลงานโดยสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งคนใส่ Prompt ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผลงานเป็นของใหม่ทั้งหมดหรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของผลงานเดิมแล้ว
- ผลงานโดย AI ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของ AI แต่ละแพลตฟอร์ม เมื่อยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน จึงอาจจะต้องใช้เงื่อนไขดังกล่าวเป็นเอกสารอ้างอิง
- เหตุการณ์ใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบคือผู้ใช้ Prompt ในฐานะคนสั่ง
- วิทยากรเสนอว่าหากนำงานที่สร้างโดย AI มาใช้ ควรอ้างอิงถึงแพลตฟอร์มของ AI ที่ใช้ และระบุ Prompt ที่ใช้
- สิ่งใดที่ไม่ใช่ของเรา ให้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงานและอ้างอิงทั้งหมด
- Slide ประกอบการบรรยายเรื่อง ลิขสิทธิ์