Home » จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ » การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (22 กันยายน 2559 : พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ)

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (22 กันยายน 2559 : พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ)

การอบรมโครงการความรู้พิพิธภัณฑศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์
เรื่อง “การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ”
โดย กลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ และ
กลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

วันที่ 22 กันยายน 2559
สถานที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) จ.ปทุมธานี

ศึกษาเรื่อง ศาสตร์พระราชา : การบริหารพิพิธภัณฑ์เพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยเข้าชมและศึกษาการบริหารจัดการของ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) อ้างอิงแนวคิดและทฤษฎีการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านพิพิธภัณฑ์ รวมถึงงานอื่นๆ ได้อย่างลงตัว

ศาสตร์พระราชา หรือหลักการทรงงาน สามารถสรุปได้เป็น 23 หัวข้อสำคัญ คือ

1. ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ศึกษาข้อมูล รายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง
2. ระเบิดจากข้างใน สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่จะเข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน
3. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก มองปัญหาในภาพรวม แต่การแก้ปัญหาจะเริ่มจากจุดเล็กๆคือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม
4. ทำตามลำดับขั้น การพัฒนาให้เริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข ต่อไปจึงเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสิ่งจำเป็นสำหรับประกอบอาชีพ
5. ภูมิสังคม การพัฒนาใดๆ ต้องคำนึงถึงภูมิประเทศของบริเวณนั้น เช่น ดิน, น้ำ, ป่า, เขา ฯลฯ และสังคมวิทยา เช่น นิสัยใจคอของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น
6. องค์รวม คิดอย่างองค์รวม หรือมองอย่างครบวงจร มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
7. ไม่ติดตำรา การทำงานมีลักษณะที่อนุโลม รอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สภาพสังคม จิตวิทยาของชุมชน ไม่ผูกมัดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย
8. ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด แก้ไขปัญหาด้วยความประหยัด เรียบง่าย ราษฎรสามารถทำได้เอง หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ
9. ทำให้ง่าย ทำสิ่งยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อนให้เข้าใจง่าย
10. การมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้สาธารณชน ประชาชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน
11. ประโยชน์ส่วนรวม การให้เพื่อส่วนรวมนั้น ไม่ได้ให้เพื่อส่วนรวมอย่างเดียว แต่เป็นการให้เพื่อตนเอง สามารถมีส่วนรวมหรือสังคมที่จะอาศัยอยู่ได้
12. บริการที่จุดเดียว ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้นแบบการบริหารรวมที่จุดเดียว เพื่อประชาชนที่จะมาใช้บริการ ได้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานส่วนราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการ ณ ที่แห่งเดียว
13. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติจะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรม พระราชทานพระราชดำริการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก(ต้นไม้) ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ
14. ใช้อธรรมปราบอธรรม นำกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักและแนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงสภาวะที่ไม่ปกติให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การใช้ผักตบชวาบำบัดน้ำเสียโดยดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ
15. ปลูกป่าในใจคน การที่จะพื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา จะต้องปลูกจิตสำนึกให้คนรักป่าเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง
16. ขาดทุนคือกำไร การเสียคือการให้ หลักการคือ “การให้” และ “การเสียสละ” เป็นการกระทำอันมีผลเป็นกำไร คือ ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร
17. การพึ่งตนเอง การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ประชาชนแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป ขั้นต่อไปก็คือ การพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อม และสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด
18. พออยู่พอกิน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบากให้สามารถอยู่ได้อย่าง “พออยู่พอกิน” เสียก่อนแล้วจึงค่อยขยับขยายให้มีขีดสมรรถนะที่ก้าวหน้าต่อไป
19. เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างความเข็มแข็งหรือภูมิคุ้มกันทุกด้านซึ่งจะสามารถอยู่ได้อย่างสมดุล ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ปรัชญานี้สามารถประยุกต์ใช้ทั้งระดับบุคคล องค์กร ชุมชน
20. ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อย ก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้ที่มีความรู้มาก แต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธ์ใจ
21. ทำงานอย่างมีความสุข ทำงานโดยคำนึงถึงความสุขที่เกิดจากการได้ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น
22. ความเพียร จากตัวอย่างบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก พระมหาชนกเพียรว่ายน้ำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน แม้จะมองไม่เห็นฝั่งแต่ยังคงว่ายต่อไป ไม่จมลง จนกลายเป็นอาหารของปลา และได้รับความช่วยเหลือจนถึงฝั่งได้ในที่สุด
23. รู้-รัก-สามัคคี
รู้ : การที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีแก้ปัญหา
รัก : เมื่อเรารู้ครบด้วยกระบวนการแล้ว จะต้องเห็นคุณค่า เกิดศรัทธา เกิดความรักที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ปัญหานั้นๆ
สามัคคี : เมื่อถึงขั้นลงมือปฏิบัติต้องคำนึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน สามัคคีกันเป็นหมู่คณะ จึงจะเกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงด้วย

20160922_123606_Richtone(HDR)20160922_130115_Richtone(HDR)20160922_144749