Home » จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ » สัมมนาเครือข่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ : พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ

สัมมนาเครือข่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ : พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ

สัมมนาเครือข่ายจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ ๔
ศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินานาถ

มิวเซียมแห่งนี้เปิดดำเนินการโดยใช้ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในเขตพระราชฐานชั้นนอก อาคารแห่งนี้เป็นอาคารโบราณสร้างมาตั้งแต่ต้นกรุง มาปรับปรุงและเพิ่มเติมครั้งใหญ่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ทำหน้าที่เป็นที่ทำการกรมพระคัลงมหาสมบัติ คือจัดการด้านภาษีอากร ต่อมาก็ขยับขยายเป็นสำนักงานของหน่วยงานอื่นๆ อีก ๔ แห่ง คือ สำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน และกองราชพิธี อยู่มาหน่วยงานเหล่านี้ก็แยกย้ายออกไป อาคารจึงว่างเปล่า จนถึงปี ๒๕๔๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นอาคารสำหรับมิวเซียมแห่งนี้ แต่กว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการก็เมื่อปี ๒๕๕๕

 DSCF5963001ทางเข้า หอรัษฎากรพิพัฒน์

ผมว่าแค่ได้ดูตัวอาคารแห่งนี้ก็เจ๋งแล้ว แม้จะมีการปรับปรุงบ้างตามความเหมาะสม แต่ยังคงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ อาคารเป็นแนวยาวทรงยุโรป แต่ก็แอบแทรกสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ เอาไว้ โถงด้านหน้าที่ชั้นหนึ่งงดงามมาก เดินเข้ามาก็จะเห็นโถงกลาง มีบันไดขนาดใหญ่เด่นตระหง่านตามแบบนิยม สวยจริงๆ

มิวเซียมแห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดแสดงและอนุรักษ์ฉลองพระองค์ของทั้งสองพระองค์ ตอนที่เห็นในข่าวพระราชสำนักเราก็รู้สึกเฉยๆ แต่พอมาเห็นของจริงแบบใกล้ชิดแล้วต้องทึ่ง นี่คืองานศิลปะชั้นสูงชัดๆ ไม่ใช่เป็นเพียงฉลองพระองค์ แต่นี่คือการแสดงให้ต่างชาติเห็นถึงอารยธรรมของชาติเรา เป็นกุศโลบายแฝงที่ชวนทึ่ง ยามเสด็จฯ ไปเยือนต่างประเทศก็ได้นำพาศิลปะเหล่านี้ไปอวดโฉม ผลพลอยได้ก็คือเขารู้จักประเทศเรา และยังต่อยอดทั้งด้านงานศิลป์และเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

เจ้าหน้าที่เล่าว่าจะมีทีมงานเข้าไปสำรวจในพระบรมมหาราชวัง ฉลองพระองค์เป็นร้อยชุดที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจะถูกรวบรวมไว้ที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งจัดเก็บกันประสาบ้านๆ คือพับบ้าง แขวนบ้าง เหล่านี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำออกแสดงได้ คุณเจ้าหน้าที่บอกว่าเลือกไม่ถูกจริงๆ อยากเอามาทั้งหมดแต่ก็ไม่ไหว จึงเลือกเฉพาะชุดที่มีเรื่องราวหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาอนุรักษ์และแสดง อาทิ ฉลองพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศต่างๆ หรือในเหตุการณ์สำคัญๆ

กรมมวิธีการอนุรักษ์นั้นซับซ้อนมาก เริ่มจากการทำความสะอาด คุณเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีการซัก ใช้วิธีปัด ดูด เช็ด เท่าที่จะทำได้ เพราะถ้าลงน้ำซักก็พังหมดพอดี เมื่อแรกเข้าวัตถุทุกชิ้นจะถูกแช่แข็งที่ -๒๐ องศา เป็นเวลา ๒๐ วัน ให้เชื้อโรคและแมลงต่างๆ ช็อคตายไปเอง ไม่ใช้การอบหรือรมสารเคมีเด็ดขาด เพราะผ้าจะเสียหาย จากนั้นจึงนำออกมาดูดฝุ่นและซากต่างๆ ออก แล้วจึงซ่อมแซม ทำทะเบียน จัดแสดง จัดเก็บ ตามกระบวนการที่เขามีต่อไป

queen1มีโอกาสได้เห็นการซ่อมแซมที่ต้องบอกว่า ใครไม่ชอบเย็บปักถักร้อยคงทำไม่ได้ เป็นการซ่อมแซมฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ฉลองพระองค์เป็นการทอด้วยเส้นไหมแบบโปร่ง นึกถึงครุบของจุฬาฯ นั่นล่ะครับ แต่จะทอห่างกว่าและโปร่งกว่ามาก แต่ละเส้นนี่บางเฉียบราวกับเส้นผม หรืออาจจะเล็กกว่าด้วยซ้ำ ตรงไหนหลุดตรงไหนขาดก็ซ่อมแซมตามหลักวิชาการ ไม่มีเพิ่มหรือเติมไปจากของเดิม ถ้าโบ๋เป็นรูก็ใช้ผ้าชนิดพิเศษ บางมากและโปร่งมาก ซ้อนรองไว้ให้ผ้าคงรูป แต่มองผ่านแล้วจะไม่รู้เลยว่าถูกซ่อมเพราะผ้าเขาบางจริงๆ

ส่วนการจัดเก็บนั้นบางชุดต้องเก็บแนวระนาบ พับก็ไม่ได้ ต้องวางทั้งชุดในแนวนอนใส่ตู้เก็บไว้ในห้องควบคุมอุณหภูมิ เขาโชว์ฉลองพระองค์ชุดหนึ่งที่เขาว่าเก่าที่สุดและสภาพน่าห่วงที่สุด เป็นฉลองพระองค์แบบไทย เส้นใยและเครื่องประดับโทรมตามกาลเวลา ขนาดเขาว่าโทรมแล้วเราเห็นก็ยังตะลึง มันสวยจริงๆ ดูใกล้ๆ จะเห็นลายผ้าที่ต้องอึ้งว่าทำได้ไง แล้วชุดเหล่านี้ใช้มือล้วนๆ ไม่มีเครื่องจักร

ในส่วนการจัดแสดงผมให้เกือบเต็ม การจัดแสงนี่ต้องยกนิ้วให้ หากเงยหน้ามองเพดานจะเห็นรางไฟที่ดูไม่เป็นระเบียบ แต่แสงไฟกลับส่องลงมาบนพื้นที่จัดแสดงได้อย่างลงตัวเหลือเชื่อ พื้นที่แสดงแต่ละจุดจะสว่างพอดีและไม่รบกวนสายตา คุณเจ้าหน้าที่อวดว่าเป็นทีมงานต่างประเทศ ยกมาเป็นโขยง แต่ละคนจะ expert ในแต่ละทาง แบ่งกันทำตามที่ถนัด ที่ถูกใจผมเป็นพิเศษคือฟิล์มที่เขาติดตู้จัดแสดง เวลาที่เราดูวัตถุชิ้นหนึ่ง บริเวณรอบข้างจะขุ่น ทำให้สายตาเราโฟกัสที่วัตถุตรงหน้าได้อย่างชัดเจน แต่พอเอี้ยวตัวหรือเบนสายตาไปจุดอื่น ก็จะเปลี่ยนโฟกัสตามสายตา งงมากว่าทำได้ยังไง ถ้ามองห่างๆ จะไม่เห็นว่ามันขุ่น แต่จะสะท้อนแสงไฟเห็นเป็นประกายคริสตัล แต่ก็ไม่รบกวนสายตา เป็นการใช้หลักการหักเหของแสงล่ะมั้ง ขอบอกว่ามันเจ๋งจริงๆ

เกือบสิบปีกว่าโครงการนี้จะเป็นรูปเป็นร่างและเปิดแสดงอย่างเป็นทางการ มิวเซียมโดยส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาประมาณนี้ นับเฉพาะมิวเซียมที่เป็นรูปแบบสากลนะครับ เวลาที่หมดไปเกินครึ่งคือการจัดการกับ Content ตั้งแต่การสืบเสาะ ค้นคว้า ประมวล ส่วนการจัดแสดงและรูปแบบการแสดงนั้นขอให้มีทรัพย์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ >> http://www.qsmtthailand.org