Home » จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ » การเสวนาวิชาการจดหมายเหตุ: เบื้องหลังการวบรวมต้นฉบับหนังสือผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเสวนาวิชาการจดหมายเหตุ: เบื้องหลังการวบรวมต้นฉบับหนังสือผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเสวนาวิชาการจดหมายเหตุ เบื้องหลังการวบรวมต้นฉบับหนังสือผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2477-2556): ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน และเปิดตัวหนังสือ ธรรมศาสตรานุกรม 80 ปี (พ.ศ. 2477-2557)
จัดโดย หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2557 ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

DSCF6405 copy
เนื่องด้วยในปี พ.ศ. 2557 นับเป็นปีที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาปนามาครบรอบ 80 ปี โดยได้เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ มีศิษย์เก่ามากมายที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ ของสังคมไทย โดยเฉพาะแวดวงการเมืองการปกครอง หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดทำหนังสือเพื่อเป็นที่ระลึกแห่งการสถาปนา และเพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของมหาวิทยาลัยไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง

จุดมุ่งหมายในการเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้คือการไปเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานของคณะทำงานของหนังสือเล่มนี้ เพราะ หน่วยจดหมายเหตุฯ คณะวิทยาศาสตร์ มีแนวคิดที่จะจัดทำหนังสือในทำนองนี้อยู่เหมือนกัน แต่เรายังมีจุดที่ยังเป็นปัญหาอีกมากมาย ต่างจากที่ มธ. ซึ่งเขามีประสบการณ์ด้านนี้อย่างยาวนาน

จะขอพุ่งประเด็นที่การจัดทำหนังสือที่ระลึกฉลองครบรอบร้อยแปดต่างๆ อย่างเดียวนะครับ จะได้ไม่หลงทาง ลองย้อนกลับไปดูของคณะเราในอดีต รูปแบบการจัดทำก็เริ่มจากการตั้งคณะกรรมการยาวเหยียด แต่คนทำจริงๆ แค่หยิบมือ บางครั้งทำกันอยู่เพียงจำนวนไม่ถึงนิ้วมือ ก็อยากทราบอยู่ว่ารายชื่อยาวเหยียดนั้นมีไว้ทำอะไรมิทราบ วิธีการต่อมาคือการสรุปความคิดของหนังสือเล่มนั้นๆ นำเสนอที่ประชุม ซึ่งแน่นอนว่าต้องถูกรื้อแทบทุกครั้ง ซึ่งเหมือนเดิมคือคนที่เสนอแนะในที่ประชุมก็ไม่ได้มีไอเดียวิธีการทำงานหรือกระทั่งให้ความช่วยเหลือใดๆ ทำนองว่าวิจารณ์อย่างเดียว แต่อย่าลืมใส่ชื่อฉันลงไปด้วยนะ จากนั้นทีมงาน (ซึ่งมีน้อยนิด) ก็เริ่มงาน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการขอความอนุเคราะห์ข้อเขียนจากบุคลลต่างๆ มารวบรวม เรียบเรียง เป็นอันเสร็จพิธีการอย่างคร่าวๆ

ขณะที่การทำหนังสือในแบบมืออาชีพนั้นไม่ได้ง่ายแบบนี้ เฉพาะการคิดคอนเซ็ปป์ของหนังสือก็กินเวลาเป็นเดือนๆ เมื่อได้กรอบมาแล้วทุกอย่างต่อจากนี้ต้องไม่ออกนอกกรอบ ไม่ว่าจะมีผู้ใหญ่ขนาดไหนมาวิจารณ์มาเสนอว่าอยากได้โน่นอยากได้นี่ ก็ต้องฝีนใจปฏิเสธ เพราะการเสนอไอเดียร้อยแปดนั้นต้องทำตั้งแต่ขั้นตอนการตีกรอบ ไม่งั้นหนังสือก็ไม่ได้ขอบเขตที่ชัดเจนกันเสียที

การจัดหา Contents ก็จะต้องมีทีมงานเฉพาะ ไม่ใช่ว่าทีมบรรณาธิการคิดเอง เขียนเองทั้งหมด การเชิญใครมาเขียนก็ต้องวิเคราะห์กันละเอียดถึงขั้นแนวคิดของแต่ละท่าน ว่าจะขัดแย้งกับกรอบของหนังสือไหม มีกลวิธีการเขียนอย่างไร โอนเอียงไปทางไหน หรือมิเช่นนั้นก็ต้องตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะมีการดัดแปลงแก้ไขหรือไม่อย่างไร เจรจาให้ยอมรับและเข้าใจกันตั้งแต่ก่อนลงมือเขียน

วิธีการและขั้นตอนออกจะยืดยาว ขอตัดตอนมาที่การเสวนาที่ว่าข้างต้น ข้อได้เปรียบของ มธ. คือการที่เขามีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการสร้าง Contents แนวนี้ ขณะที่คณะเราเป็นชาววิทยาศาสตร์ เขียน paper ทำวิจัยไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน แต่เราเก่งในสายวิทยาศาสตร์ อาจต้องยอมรับและเข้าใจตัวตนให้ได้ก่อนว่าการตีความในเชิงสังคมและมนุษย์อาจจะแตกต่างกัน การยอมรับนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แน่นอนว่าทุกท่านเป็นคนเก่ง แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้อง “พยายามเก่ง” มันไปเสียทุกเรื่อง อย่าพยายามขับเครื่องบินทั้งที่ตัวเองยังขับรถเกียร์ออโต้ ประมาณนั้นน่ะครับ

บรรณาธิการของหนังสือจะได้อำนาจเต็มในการคัดสรรทีมงาน เจ้าของงานเขียนแต่ละท่านเป็นอาจารย์มากประสบการณ์ทั้งในด้านการหารข้อมูล การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ประเด็นการนำเสนอเรื่องของประวัติบุคคลสำคัญนั้นน่าสนใจ การเขียนประวัติทำนองที่ว่าเกิดวันไหน ลูกใคร เรียนที่ไหน เชยไปเสียแล้ว แจกฟรีก็ไม่มีใครอ่าน วิธีการนำเสนอที่ได้รับความนิยมและสร้างความสนใจได้มากคือการเล่าเรื่อง ดูตัวอย่างจากการรายงานข่าวของบ้านเราก็ได้ เดี๋ยวนี้แทบไม่มีทีวีรายการไหน “อ่านข่าว” อีกแล้ว แล้วทำไมต้องใช้การเล่า การบรรยายแบบเดิมๆ ผิดตรงไหน

คำตอบคือไม่ผิด แต่มันไม่เข้าสมัย ต้องยอมรับกันว่าคนไทยไม่ได้วัฒนธรมการอ่านมาแต่ต้น ตั้งแต่ยุคโบราณคนไทยไม่อ่านหนังสือ คนไทยรับ Contents ผ่านการเล่าเรื่อง คนไทยแต่โบราณอ่านหนังสือกันได้สักกี่คน การอ่านเป็นเรื่องของราชสำนัก ขนาดพระสงฆ์ก็ใช้ว่าจะอ่านได้มาก หรือถ้าอ่านได้ก็ใช่ว่าจะมีอะไรให้อ่านมากนัก มาถึงยุคปัจจุบัน การเล่าเรื่องช่วยย่นเวลาในการทำวคามเข้าใจ ซ้ำยังได้อรรถรสน่าติดตามมากกว่าการบรรยาย แต่ต้องระวังเรื่องความถูกต้องของข้อมูล

DSCF6415 copyด้านหน้าห้องประชุม จัดทำนิทรรศการอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ที่เป็นผู้เขียนเรื่องของ อาจารย์ปรีดี ให้ความเห็นว่า “การเขียนประวัติศาสตร์คือการตีความ” ผิดหรือถูกไม่มีใครรู้ความจริง การตีความทำโดยอ้างอิงหลักฐานที่ปรากฏ แต่การตีความก็ขึ้นอยู่กับผู้วิเคราะห์อยู่ดี วันนี้ วันหน้า อาจตีความได้ต่างกัน วันข้างหน้าอาจถูกตีความใหม่ ขึ้นกับหลักฐานและบริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย

การเขียนประวัติบุคคลให้น่าสนใจนอกจากเล่าเรื่องที่เป็น Fact แล้ว การวิเคราะห์ตันตนของคนๆ นั้นก็สำคัญ ต้องไม่โอนเอียง ข้อมูลมีมาอย่างไรต้องตีความไปอย่างนั้น แต่พูดง่ายทำยาก การตีความให้คนทั้งหมดเห็นพ้องด้วยกันเป็นไปไม่ได้ ผู้เขียนจึงต้องค้นคว้าอย่างละเอียดและต้องยอมรับในผลที่จะตามมาจากผลงานนั้น

อาจารย์วารุณี โอสถารมย์ จากหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ให้ข้อคิดเรื่องการเขียนประวัติบุคคลว่าจำเป็นต้องค้นคว้าอย่างละเอียด เอกสาร ผลงานทุกชิ้นของบุคคลนั้นๆ ต้องผ่านการอ่านและวิเคราะห์ บุคคลที่ยังมีชีวิตอาจจะสะดวกกว่าบุคคลที่เสียชีวิตแล้ว เพราะข้อมูลที่ได้จะแตกต่างกัน เช่นการสัมภาษณ์บุคคลที่สาม อันนี้ต้องระวังเรื่องความเห็นส่วนบุคคล ผู้เขียนต้องนำมาวิเคราะห์เทียบเคียงกับหลักฐานเอกสารอื่นๆด้วย

สรุปว่าการทำหนังสือครบรอบไม่ใช่เรื่องง่ายถ้าจะทำให้ได้ดี  ไม่ใช่เพียงเอาคนเก่าคนแก่มาเขียนเรื่องแล้วตีพิมพ์ ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด แต่อย่างที่บอกว่าถ้าจะให้ได้ดีนั้นเป็นเรื่องยาก แล้วจะทำไม่ได้เลยหรือ ไม่ใช่ครับ ทำได้แน่นอน แต่คงต้องทำงานกันให้หนักกว่าที่แล้วมา

ใครสนใจลองไปโหลดมาอ่านกันได้ >>  ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ.2477-2556)