Home » บรรณารักษ์ » การบรรยาย “บรรณารักษ์ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกอาเซียน”

การบรรยาย “บรรณารักษ์ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกอาเซียน”

สรุปเนื้อหาการเสวนาพิเศษในการประชุมสามัญประจำปี ๒๕๕๕ ชมรมห้องสมุดเฉพาะ
เรื่อง “บรรณารักษ์ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกอาเซียน”
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
โดย นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

วันนี้ (๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๕) ได้มีโอกาสไปฟังบรรยายพิเศษ โดย อาจารย์อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ในเรื่อง “บรรณารักษ์ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกอาเซียน” จัดโดย ชมรมห้องสมุดเฉพาะ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ได้มุมมองอะไรแปลกๆ จากวิทยากรที่ไม่ใช่เป็นบรรณารักษ์ แต่ทำหน้าที่ดูแล TCDC ที่มีห้องสมุดเป็นจุดขาย เพราะนี่คือห้องเฉพาะ (จริงๆ) ที่ผมว่าเลิศที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

อาจารย์อภิสิทธิ์เริ่มต้นด้วยคำถามที่แสดงความห่วงใยของความอยู่รอดของห้องสมุด ซึ่งก็น่าคิดอยู่เหมือนกันนะครับในยุคที่ความจำเป็นในการเข้าห้องสมุดน้อยลง จึงเริ่มมีคำถามว่าแล้วห้องสมุดยังจำเป็นต้องมีอยู่อีกหรือไม่? อาจารย์อภิสิทธิ์ตั้งคำถามว่า จะมีครอบครัวไหนบ้างไหมที่วันหนึ่งจะมีใครซักคนชักชวนกันบอกว่า “วันนี้ไปห้องสมุดกันเถอะ” หรือคนที่เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว ถามหน่อยว่าเคยกลับไปห้องสมุดอีกครั้งไหม

dsc00126001อาจารย์อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)

ถ้าไม่ใช่เพราะเราต้องการอะไรจากห้องสมุด จะเป็นข้อมูลเพื่อทำงานหรือเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน หรือจะอะไรก็แล้วแต่ หรือแค่เข้าไปเดินเล่นก็ตามทีเถอะ ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคนไทยโดยทั่วไปเขาจะเข้าห้องสมุดกันไหม

บางคนอาจจะเถียงว่ามีสิ ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีเหมือนกัน แต่ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ ช่วยบอกผมหน่อยว่ามีมากสักเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าก็คงจะคำนวณไม่ออก เพราะมันน้อยเต็มที แต่ถ้าเป็นห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งบันเทิงล่ะก็ คนสัญชาติไทยก็ไม่แพ้ใครในโลกแน่นอน

อาจารย์อภิสิทธิ์ ให้ทัศนะว่าศูนย์กลางของประเทศที่มีความศิวิไลซ์หน่อย อาจไม่ใช่แค่เมืองหลวงนะครับ อาจเป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ในประเทศที่เจริญๆ เขาจะต้องมีสามสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ หอสมุด หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ เหล่านี้คือการแสดงความเจริญทางวัฒนธรรม เป็นการประกาศยุทธศาสตร์เชิงวัฒนธรรม ที่ผมนึกไม่ออกว่าบ้านเรามีไหม

โลกเราทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงจนผมขี้เกียจจะจินตนาการ ความรู้เดี๋ยวนี้หาได้ทั่วไปเพียงเอื้อมมือคว้า หรือแต่เพียงหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เจอ มันเข้าถึงได้ง่าย มีความหลากหลาย และรวดเร็ว แต่ตอบไม่ได้นะครับว่าจะถูกต้องและเชื่อถือได้แค่ไหน (นี่อาจเป็นข้อโต้แย้งหนึ่งที่ห้องสมุดพอจะอ้างได้ ว่าจะหาข้อมูลที่ไหนจะถูกต้องเท่าที่ห้องสมุด) ระบบ Logistics ที่ทันสมัยมากขึ้นเป็นอีกเหตุผลที่เราไม่ไปห้องสมุด ก็บรรดา E ทั้งหลายไงครับ นั่งๆ นอนๆ อยู่ที่บ้านเราก็ดึงข้อมูลที่ต้องการได้แล้ว หรือเรื่องของ Location ถ้าห้องสมุดมันไกล เราจะไปไหมล่ะครับ

ดังนั้นถ้าจะว่ากันถึงความอยู่รอดของห้องสมุด ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง บางห้องสมุดบอกว่า โอ้ย ห้องสมุดเล็กกระจ้อยอย่างฉันจะเปลี่ยนยังไงเล่า อย่ากลัวครับ ความรู้ทั่วไปนั้นหาที่ไหนก็ได้ หนังสือทั่วๆ ไปหาที่ไหนก็มี แต่ Contents เฉพาะทางนั้นจะหาได้จากที่ไหนล่ะครับ นั่นจึงเป็นที่มาว่าถ้าอยากอยู่รอด เราต้อง “พิเศษ” กว่าคนอื่น รู้จักทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ไหมครับ สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งและรู้จักปรับตัวเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้

ไม่ต้องกลัวว่าห้องสมุดจะเล็ก หนังสือจะน้อย เพราะความรู้มันเปลี่ยนอยู่ตลอด เปลี่ยนทั้งเนื้อหาและวิธีการเข้าถึง ยิ่งในโลกยุคดิจิตอลแบบนี้ด้วยแล้ว

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในเอเชียคือ ๕๓๘ ล้านคน ตามมาด้วยอินเดีย ๑๓๗ ล้านคน ญี่ปุ่น ๑๐๑.๒ ล้านคน สองอันดับแรกนั่นเป็นเพราะคนเขาเยอะอยู่แล้ว ไทยเราอยู่ที่ ๒๐.๑ ล้านคน แต่ที่น่าสนใจคือค่าเฉลี่ยของโอกาสในการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งสำคัญกว่าจำนวนคนใช้นะครับ ปรากฏว่า เกาหลีใต้ ดันมาเป็นที่หนึ่ง ร้อยละ ๘๒.๗ หมายความว่าคนเกาหลีใต้ ๑๐๐ คน มีคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้เกือบ ๘๓ คน ส่วนตัวเลขบ้านเราคือร้อยละ ๓๑ หมายความว่าคนไทย ๑๐๐ คน มีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตแค่ ๓๑ คน ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

asean01สิบอันดับภาษาที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต

เกาหลียังมีอะไรเด็ดๆ อีกนะครับ เมื่อลองมาดูถึงภาษาที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่าภาษาอังกฤษนำโด่งเพราะเป็นภาษาที่ใช้กันทั่วโลก ตามมาด้วยภาษาจีน อันนี้ก็ของตายครับ คนจีนมีเยอะ แล้วยังกระจายไปทั่วโลก อันดับสามคือสเปน นี่ก็เป็นภาษาที่น่ากลัวเช่นกัน แต่ในท็อปเท็นนั้น เกาหลี อยู่อันดับสิบ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ หมายความว่าเว็บไซต์ในโลกนี้ถ้าเรียงลำดับจากภาษาที่ใช้ ภาษาเกาหลีมาเป็นอันดับที่สิบ ต้องไม่ลืมว่าอังกฤษ จีน สเปน เป็นภาษาที่มีคนหลากเชื้อชาติใช้ แต่เกาหลีเป็นภาษาที่ไม่แชร์กับใคร แสดงว่าคนเกาหลีเขาสร้าง Contents ป้อนให้คนเกาหลีด้วยดันเอง แล้วมันดันมากมายมหาศาลจนติดท็อปเท็นเชียวนะครับ

ส่วนประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่เท่าไหร่ไปลองค้นกันดูเองนะครับ

ตีวงให้แคบเข้ามาในกลุ่มอาเซียนที่กำลังจะ (ดัน) ให้เป็นประชาคมอาเซียนในอีกสองปีข้างหน้า มองซ้ายมองขวาผมก็เห็นแต่การรณรงค์เรื่องภาษาอังกฤษกัน ให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษกัน จะได้สื่อสารกับคนอื่นได้ ผมนึกๆ ดูก็รู้สึกว่าเราลืมปัจจัยด้านอื่นกันไปรึเปล่า เรามัวแต่พยายามทำตัวให้เป็นสากล ทั้งที่เรามีอัตลักษณ์ของเราอยู่แท้ๆ เราไม่ยอมเป็นเรา แต่อยากเป็นคนอื่น … แปลกไหมครับ ผมไม่ได้ต่อต้านว่าไม่ให้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ผมว่าเราเทิดทูนของพวกนี้มากไปรึเปล่า

การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยมีสอนภาษาอังกฤษกันมาตั้งแต่อนุบาลนะครับ แต่ผมเห็นเด็กมหา’ลัยหลายคน เจอฝรั่งแล้ววิ่งหนี นี่ก็แปลกนะครับ เรียนมาตั้งแต่น้อย แต่ทำไมโตขึ้นกลับใช้งานไม่ได้

ประเทศในอาเซียนที่พูดภาษาอังกฤษได้โดยธรรมชาติก็มีสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมื่อก่อนนั้นพม่าก็พูดได้ เพราะเป็นของอังกฤษมานานโข แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วครับ คนรุ่นนั้นของพม่าตายเกลี้ยงแล้ว แต่มีสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

โดยสรุปแล้วผมไม่ได้แอนตี้เรื่องภาษาอังกฤษ ผมเห็นด้วยด้วยซ้ำในการรณรงค์ให้คนไทยใส่ใจการใช้ภาษาอังกฤษ แต่ขอร้องว่าอย่าเยอะ อย่าอยากเป็นฝรั่งจ๋า (แต่วิ่งหนีฝรั่ง) เอะอะก็ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อวงดนตรี ชื่อร้านค้า ชื่อดารา ชื่ออะไรต่อมิอะไรก็ตั้งเป็นอังกฤษหมด เดี๋ยวนี้ผมแทบจะไม่ได้ยินคำว่า งานกีฬาสี แล้วนะครับ ผมเห็นมีแต่คนใช้ Sport Day จัดงานอะไรก็ตามก็ต้องตั้งชื่อภาษาอังกฤษ แบบนี้ผมรู้สึกว่าเยอะไปไงครับ

ผมจึงเริ่มคิดว่าตกลงเราจะเป็นประชาคมอาเซียนกันเพื่ออะไรแน่ จะเป็นทองแผ่นเดียวกัน แต่ยังทะเลาะกันไม่เลิก ผมแอบคิดชั่วไม่ได้ว่าต้องเพราะการเมืองกับผลประโยชน์แน่ๆ ยังไงเสียมันก็คนละประเทศอยู่ดีแหละครับ ถ้าบอกว่ารวมกันแล้วก็ต้องอย่ามีผลประโยชน์แอบแฝงสิ ต่อให้รวมกันอย่างไร แต่ละประเทศมันก็เป็น “คู่แข่ง” กันอยู่ดี จะประกาศว่าผนึกพลังกัน ผมว่ามันฟังไม่ขึ้นหรอกครับ นี่ดีนะครับที่ไม่ได้ใช้สกุลเงินเดียวกันอย่างในยุโรป ขืนเป็นแบบนั้นบรรลัยเกิด อีกตอนมันรุ่งๆ ก็ดีกันหรอก ถ้าประเทศไหนเกิดซวยขึ้นมา จะมาพาลเอาว่าเพราะสกุลเงินเดียวกัน ฉันใช้ของฉันมาไม่เห็นเป็นไร พอมารวมกะพวกแกก็เจ๊งเลยแบบนี้ จะโทษกันเสียเปล่าๆ แล้วที่จะช่วยเหลือกันน่ะเหรอ มันมีจริงๆ หรือครับเรื่องแบบนี้ ลองดูกรีซนั่นเป็นไร มีหน้าไหนในยุโรปที่อ้าแขนช่วยเหลือบ้างล่ะครับ

ดังนั้นตอบกันให้ได้ก่อน หรือช่วยทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่าจะ ประชาคมอาเซียน กันไปทำไม จะอาเซียนยังไงก็ทำไปครับ แต่กับห้องสมุดแล้วผมว่าอย่าไปกังวลมาก เพราะกว่าเราจะรวมเป็นประชาคมอาเซียนกันเสร็จ ตอนนั้นประชาคมโลกเขาก็ไปถึงไหนกันแล้ว

อาจารย์อภิสิทธิ์เน้นย้ำว่าห้องสมุดต้องเปลี่ยน ต้องค้นหาจุดเด่นของเราให้ได้ ห้องสมุดของเราต้องพิเศษกว่าคนอื่น ทรัพยากรน้อยก็ช่างมันสิครับ งบไม่พอก็ช่างมันสิครับ เค้นไอเดียออกมา อย่าอยู่เฉยๆ แล้วบ่นไปวันๆ สร้างกิจกรรมให้มากโดยใช้ Contents เดิม ใครที่บ่นว่ามีทรัพยากรน้อย ผมขอบอกว่าให้ลองพิจารณาดีๆ อีกที ว่าทรัพยากรเท่าที่คุณมีนั่นน่ะ ใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือยัง

สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดกับการอยู่รอดและการดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันก็คือ ทรัพยากรบุคคล …บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด นี่แหละครับสำคัญที่สุด ผสมผสานความรู้เดิมกับความคิดสร้างสรรค์และประสบการณ์ เราจะได้ความรู้ใหม่ ซึ่งนั่นจะทำให้เราพัฒนาและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

หมายเหตุ ๑ : ย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ผสมผสานความรู้ที่ได้จากการบรรยาย กับความคิดส่วนตัวของผู้เขียน หากไม่พ้องกับความคิดของท่านใดก็ขอน้อมรับความรับผิดชอบนั้นไว้ครับ

หมายเหตุ ๒ : ใครที่สนใจฟังการบรรยายแบบละเอียด ติดตามชมได้ใน youtube ที่ http://www.youtube.com/watch?v=WJJEIIkzVyo