Home » ประชุมวิชาการ » การศึกษาความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้รับบริการด้วย Focus Group

การศึกษาความคาดหวังและความพึงพอใจของผู้รับบริการด้วย Focus Group

วันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2557 เวลา 09.00 น. – 12.00 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

โดย :   ผศ.ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 10888018_10152997666679809_2011322334_n

การสนทนากลุ่ม (Focus Group) เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ใช้การเก็บข้อมูลเชิงลึกสำหรับการทำวิจัยเชิงคุณภาพ การสนทนากลุ่มนั้น จะแบ่งตามรูปแบบเป็น 2 ประเภท คือ

  • การทำวิจัยทางการตลาด (Market Research)
  • การทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ (Social Science)

ในการอบรมครั้งนี้ จะเน้นที่การทำ Focus Group เพื่อการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยการทำ Focus Group เพื่อทำวิจัยทางสังคมศาสตร์จะมีลักษณะที่เป็นโครงสร้างน้อยกว่าการทำวิจัยทางการตลาด คือ

  • ผู้เข้าร่วมการสนทนาจะเป็นการพูดคุยร่วมกัน มากกว่าการตอบคำถามหรือการสัมภาษณ์
  • ผู้คุมการสนทนากลุ่ม (Moderator) จะมีบทบาทช่วยให้เกิดบรรยากาศในการพูดคุยมากกว่าการตอบคำถาม (Facilitation Role)
  • การสนทนากลุ่มจะมีเป้าหมายหลัก คือ การทำความเข้าใจและตีความในสิ่งที่ผู้เข้าร่วมสนทนาแสดงออก (Understanding and interpretation) เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกที่แตกต่างจากเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม ที่เราทำได้เพียงการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ
  • การทำสนทนากลุ่มเป็นการสร้างกลุ่มการสนทนาแบบไม่เป็นทางการ เพื่อมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสนทนาร่วมกัน

ประโยชน์ของการสนทนากลุ่ม

  1. การสนทนากลุ่มมีประโยชน์ในการสำรวจและวิเคราะห์ความคิด ที่มา และเหตุผลเชิงความคิดของผู้คน
  2. เป็นการศึกษาเรื่องราว ประวัติ ประสบการณ์ ความเชื่อ ความต้องการของกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
  3. การสนทนากลุ่มเอื้อต่อการให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาได้สร้างและพัฒนาคำถามทางการวิจัยที่ผู้วิจัยสามารถนำไปต่อยอดได้
  4. เหมาะสำหรับกรณีที่ผู้วิจัยไม่มีความรู้ดีพอในเรื่องที่ต้องการทำวิจัย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำสนทนากลุ่ม

1. จำนวนครั้งของการสนทนากลุ่ม
จำนวนครั้งของการสนทนากลุ่ม ไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าควรต้องทำกี่ครั้ง แต่ควรที่ต้องทำหลายๆครั้ง เพื่อประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น การเข้าใจในกลุ่ม เพราะในการคุยกันเพียงครั้งเดียวอาจจะยังเกิดความไม่คุ้ยเคย หรือ จนกว่าเราจะได้รับข้อมูลมากเพียงพอที่จะเห็นแนวทางหรือใจความสำคัญ เป็นต้น จำนวนครั้งขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งผู้ทำวิจัยเองต้องทราบเองว่า จำนวนเท่าไหร่ จึงจะพอเพียงที่จะสามารถตอบคำถามการวิจัย หรือ ได้รับข้อมูลที่อิ่มตัว ซึ่งในบางครั้งการสนทนากลุ่มเพียงครั้งหรือสองครั้งก็อาจจะได้ข้อมูลที่ได้มีความคงที่ (Consistent) แล้ว

2. ระยะเวลา
การทำสนทนากลุ่มไม่ควรที่จะสั้นหรือยาวจนเกิน เพราะถ้าสั้นเกินไป ผู้เข้าร่วมการสนทนาอาจจะไม่ได้แสดงความคิดในสิ่งที่ต้องการสื่อ เนื่องจากการทำสนทนากลุ่ม เราควรจะมีเวลาให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาได้สร้างความคุ้นเคยกับกลุ่มในช่วงแรกๆของการสนทนา หรือเมื่อมีการถามคำถาม ก็ควรจะมีเวลาให้ผู้เข้าร่วมสนทนาคิดก่อนที่จะตอบคำถาม และถ้าการทำสนทนากลุ่มที่ยาวจนเกินไป กลุ่มผู้เข้าร่วมการสนทนาอาจจะเกิดความเบื่อหน่ายหรือหมดความสนใจในการสนทนา ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ตอบคำถามในสิ่งที่เราต้องการ ตามหลักการทั่วๆไปกำหนดไว้ประมาณ 90-120 นาที

3. จำนวนผู้เข้าร่วม
จำนวนชองผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม ที่เหมาะสม คือ ประมาณ 7-12 คน โดยควรจัดกลุ่มควรมีขนาดที่พอดี เพื่อที่ทุกคนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง และเพียงพอที่จะทำให้ผู้ทำวิจัยสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและความเห็นที่หลากหลายได้ นอกจากนี้เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมการสนทนาให้อยู่ในประเด็นที่ต้องการเก็บข้อมูล

ผู้ควบคุมการสนทนากลุ่มจะต้องมีหน้าทำให้ทุกๆคนที่เข้าร่วมการสนทนาได้ร่วมกันแสดงความเห็นอย่างทั่วถึง และจัดสภาพแวดล้อมของการสนทนาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสนทนาสามารถแสดงความเห็นได้อย่างสนิทใจ

4. การเลือกผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม คือ กลุ่มผู้เข้าร่วมต้องไม่มีการรู้จักกัน หรือหากรู้จักกันต้องไม่ให้เกิดข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็น หรือ แสดงความคิดเห็นที่เข้าข้างกัน นอกจากนี้แล้ว ไม่ควรให้ผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มทราบรายละเอียดประเด็นในสิ่งที่จะสนทนากลุ่มมากนัก (ยกเว้นการวิจัยนั้นต้องการผลตอบรับ หรือจำเป็นต้องให้ผู้เข้าร่วมรู้ประเด็น) เพื่อไม่ให้ผู้เข้าร่วมสนทนาได้มีการเตรียมคำตอบในประเด็นที่ต้องการถาม

นอกจากนี้แล้ว ผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม ควรเป็นกลุ่มที่ไม่มึความต่างกันภายในกลุ่มมากนัก เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นที่นอกเหนือไปจากเรื่องที่ต้องการเก็บข้อมูล หรือเกิดการความขัดแย้งในการสนทนา  ดังนั้นผู้วิจัยจึงควรกำหนดเกณฑ์การเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ทำให้ผู้วิจัยแยกแยะความต่างของกลุ่ม และสามารถตอบคำถามวิจัยได้มากที่สุด

เงื่อนไขความสำเร็จในการจัดการสนทนากลุ่ม

  1. ผู้ควบคุมการสนทนา (Moderator) จะต้องสร้างบรรยากาศที่ผู้เข้าร่วมการสนทนาสามารถพูดคุยได้อย่างเปิดเผย และต้องคำนึงถึงเสมอว่า การสนทนากลุ่มไม่ได้มุ่งให้เกิดข้อสรุปร่วม แต่ต้องการให้เกิดความเข้าใจในทัศนคติ พฤติกรรม ความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย
  2. บรรยากาศในการสนทนากลุ่ม ต้องเป็นไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าถูกคุกคาม หรือบรรยากาศที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่าจะถูกตัดสินหรือถูกดูถูกในเชิงความคิดหรือพฤติกรรม บรรยากาศควรเป็นไปในแบบการพูดคุยที่เป็นธรรมชาติหรือการปฏิสัมพันธ์ทั่วไปทางสังคม
  3. ต้องระลึกเสมอว่า การสนทนากลุ่มไม่ใช่การเก็บรวบรวมข้อมูลรายบุคคล แต่เป็นเครื่องมือในการเจรจาผ่านการพูดคุย แสดงความเห็น เพื่อสะท้อนความคิดและการสื่อสารระหว่างผู้เข้าร่วมการสนทนา ดังนั้นการปฏิสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมสนทนา ถือเป็น “ข้อมูลการวิจัย” ทำให้ผู้วิจัยเข้าใจบริบท ประสบการณ์ หรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สนทนา ทำให้ผู้วิจัยสามารถตีความประเด็นต่างๆ ทางการวิจัยได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดของการสนทนากลุ่ม

  1. การสนทนากลุ่มอาจไม่สามารถก่อให้เกิดความเข้าใจในเชิงลึก ในประเด็นวิจัยบางประเด็น เช่น ประเด็นที่มีความส่วนตัวสูงหรือมีความอ่อนไหว ประเด็นที่มีกรอบความคิดของความเป็นสถาบัน ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาลำบากใจที่จะตอบต่อหน้าผู้เข้าร่วมสนทนาคนอื่นๆ รวมถึงประเด็นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งของผู้เข้าร่วมสนทนา
  2. บางครั้งการสนทนากลุ่มอาจจะก่อให้เกิดข้อมูลในเชิงกว้างมากกว่าเชิงลึก ดังนั้นผู้ควบคุมการสนทนาจะต้องพยายามที่จะควบคุมประเด็นการสนทนาไม่ให้ออกไปนอกประเด็นที่ต้องการศึกษา
  3. ในการสนทนากลุ่ม บางครั้งอาจจะเกิดการครอบงำทางความคิดของผู้เข้าร่วมการสนทนาที่มีบุคลิกชี้นำทางความคิด ทำให้ผู้เข้าร่วมสนทนาคนอื่นๆ คล้อยตามหรือไม่กล้าแสดงความเห็นขัดแย้ง

10859883_10152997666694809_1863568897_n

About