ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.00 – 17.30 น.
วิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนา
1. คุณเทียนชัย ปิ่นวิเศษ (ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ)
2. อาจารย์มกุฏ อรฤดี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ / บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ผีเสื้อ / อาจารย์พิเศษ วิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
3. คุณปฐม อินทโรดม (ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
4. คุณปกรณ์ สันติสุนทรกุล (ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D.com และ COO บริษัท Dek-D Interactive จำกัด)
ดำเนินรายการ โดย อาจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ อาจารย์ประจำ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนา
1. นายครรชิต บุญเรือง
2. นายเฉลิมพันธุ์ ตาทิพย์
เปิดประเด็นการเสวนาในครั้งนี้ ด้วยคำถามที่ว่า “สื่อสิ่งพิมพ์…จะหายไป สื่อออนไลน์…จะได้รับความนิยม”และหากเป็นเช่นนั้นจริง จะเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่?
จากคำถามข้างต้นนั้น วิทยากรทั้ง 4 ท่านมีความเห็นตรงกันคือ กระดาษไม่มีวันตาย เพียงแต่ใช้น้อยลง ตราบใดที่ยังคงมีการผลิตตำราเรียนออกมาอยู่ แต่บางสำนักพิมพ์ที่ปิดไป โดยเฉพาะธุรกิจนิตยสาร เนื่องจากมีสื่อออนไลน์มาแทนที่และสามารถเข้าถึงได้สะดวกกว่า แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมทและส่งเสริมการขายมากกว่า เช่น ใช้ Facebook โฆษณาขายหนังสือ เป็นต้น
สื่อออนไลน์จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เข้ามาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ 100% บางสำนักพิมพ์ขายทั้งหนังสือและ e-Book ควบคู่กัน จะมีเพียงสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเท่านั้น ที่เติบโตด้วยการขาย e-Book อย่างเดียว ถึงแม้รายได้ของสำนักพิมพ์จะลดลง บางสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่เริ่มทำ e-Book แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีที่ใดสามารถเติบโตได้ด้วย e-Book เช่นกัน ปัจจุบันเราจึงอยู่ในยุค Hybrid ใช้ทั้งตัวเล่มและออนไลน์
วิทยากรเชื่อว่า การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจและสังคมยังมีปัญหาอยู่มาก ประเทศไทยมีความเป็นชุมชนเมืองเพียง 20% ในขณะที่อีก 80% เป็นสังคมชนบท ในบางพื้นที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึง ส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อขายแบบออนไลน์ ฉะนั้นทิศทางของสื่อออนไลน์จึงจะไม่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ยังคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานที่ e-Book จะมาแทนที่สิ่งพิมพ์ได้ โดยวัดได้จากการเป็นประเทศพัฒนา ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ที่เป็นชุมชนเมือง 100% ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงและบริโภคสื่อออนไลน์ได้ทั้งหมด
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การคัดกรองเนื้อหาและละเมิกลิขสิทธิ์ของนักเขียนออนไลน์จะหวังเผยแพร่ผลงานบนเว็บไซต์และแอพพิเคชั่นต่างๆ “การกำกับดูแลเนื้อหา” ของสื่อออนไลน์ในบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาให้ โดยมักจะให้สิทธิแก่นักเขียนได้อย่างเสรี ต่างจากสิ่งพิมพ์ที่มีการกลั่นกรองหลายขั้นตอนจากบรรณาธิการ ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของเนื้อหา และเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่าย ซึ่งวิทยากรยังได้กล่าวไปถึง Thailand 4.0 ว่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนกว่าจะมี ”ระบบสื่อออนไลน์แห่งชาติ” อันจะนำมาซึ่งมาตรฐานและแนวทางการสร้างสรรค์สื่อออนไลน์ในทางที่ถูกต้อง คือ มีการขออนุญาตเจ้าของผลงานก่อนนำไปเผยแพร่ มีการให้เครดิตเจ้าของผลงานเมื่อนำไปใช้ และไม่ดัดแปลงผลงานผู้อื่นมาเป็นของตนเอง