Home » การบรรยายพิเศษ » TK Forum2018 “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”

TK Forum2018 “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”

งานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum2018 “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”
วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม: นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

งานประชุมวิชาการของ TK Forum จัดอย่างต่อเนื่องทุกปี โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ภายใน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแนวโน้มนวัตกรรมห้องสมุดและการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์จากต่างประเทศ

** สรุปเนื้อหาสำคัญของการประชุม พร้อมเสนอแนวคิดและมุมมองของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคล **

ในปีนี้ยังคงภาพรวมของการจัดสรรพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ และการจัดการความรู้ภายในห้องสมุดเหมือนเช่นเดิม มีเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่าง โดยรวมแล้วช่วยให้ผู้เข้าร่วมประชุมเกิดไอเดียและกระตุ้นแรงบันดาลใจในการพัฒนางานห้องสมุด เพียงแต่ความรู้ที่ได้ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง หากต้องนำไปประยุกต์เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของห้องสมุดของตนเองด้วย

Prof. Andrew Harrison จากมหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ทรินิตี้ เซนต์ เดวิด และกรรมการบริษัท Spaces that Work ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ให้ความเห็นว่าในยุคปัจจุบันรูปแบบการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป จากกระบวนทัศน์การสอน (Instruction Paradigm) แปรเป็น กระบวนทัศน์การเรียนรู้ (Learning Paradigm) หมายถึงว่ารูปแบบการศึกษาเดิมๆ ที่ผู้สอนคอยป้อนความรู้ให้ผู้เรียนจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ผู้สอนจะกลายเป็น Leader ที่พาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ เพิ่มทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ นั่นจึงมีผลกระทบโดยตรงต่อห้องสมุดและการดำเนินงานของห้องสมุด

เทคโนโลยีเป็นอีกปัจจัยที่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่คือต้องสามารถเข้าถึง Contents ให้ได้มากที่สุด ตรงเป้าที่สุด ทุกที่ ทุกเวลา สิ่งนี้เป็นเรื่องปกที่จะมีผลต่อทรัพยากรห้องสมุดรูปแบบเดิมคือสิ่งพิมพ์ สถิติการยืมคืนทรัพยากรห้องสมุดในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 209-2015 ลดลงจาก 36 ล้านครั้ง เหลือเพียง 19 ล้านครั้ง และช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การยืมคืนโดยเฉลี่ยต่อคนลดลงจาก 25 ครั้ง เหลือเพียง 7 ครั้ง ซึ่งคงเป็นเหตุการณ์ปกติสำหรับโลกยุคดิจิทัลและสำหรับประเทศที่มีสถิติการอ่านหรือการใช้ห้องสมุดสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อหันมามองในบ้านเรา ซึ่งจำนวนการใช้ทรัพยากรก็นับว่าน้อยอยู่แล้ว เมื่อมีกระแสดิจิทัลเข้ามา ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก

ห้องสมุดในต่างประเทศมีการปรับตัวเพื่อให้ตอบรับกับรูปแบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปตามที่ว่าไว้ข้างต้น ห้องสมุดเปลี่ยนโฉมตัวเองให้หลุดพ้นจากภาพลักษณ์เดิมๆ ด้วยการเพิ่มพื้นที่พบปะมากขึ้น และลดพื้นที่การจัดเก็บทรัพยากร

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ในประเทศไทย) ปรับตัวโดยพยายามให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยยังคงดำเนินไปตามพันธกิจ แต่เพิ่มเติมในส่วนของชุมชนมากขึ้น ขณะที่ในบ้านเรายังมีไม่มากเท่าที่ควร เมื่อเป็นเช่นนี้ ห้องสมุดจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตาม โดยเฉพาะรูปแบบการให้บริการและบริการต่างๆ ที่ไม่ใช่จัดเตรียม contents ในรูปแบบเดิมๆ ต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มกิจกรรม จากในอาคารก็เริ่มขยายไปนอกอาคาร จึงเกิดพื้นที่ผสม (Hybrid Space) เป็นพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยน “ประสบการณ์” (ไม่ใช่ “ความรู้” อีกต่อไป เพราะความรู้ถูกเปลี่ยนเป็นทักษะหรือประสบการณ์ไปแล้วจากการทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง) ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนมโนทัศน์ที่เปลี่ยนไปของผู้คนต่อห้องสมุด ตามแนวคิดของวิทยากรท่านต่อมา

Steve O’ Connor กรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษา Information Exponentials ประเทศออสเตรเลีย ให้ทัศนะว่าจากความเจริญและพัฒนาด้านเทคโนโลยีและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ห้องสมุดเปลี่ยนแปลง (ทั้งในด้านกายภาพและบริการ) แต่มโนทัศน์ที่มีต่อห้องสมุดกลับยังคงเดิมๆ โดยมีการสำรวจเรื่องนี้พบว่า เมื่อพูดถึงห้องสมุด ผู้คนส่วนใหญ่ยังนึกถึงหนังสือ ซึ่งคงเป็นเช่นนั้นต่อไปหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวมา หมายความว่าต่อให้ห้องสมุดจะพยายามเปลี่ยนตัวเองมากเท่าไร ในสายตาของผู้คน ห้องสมุดก็ยังคงเป็นห้องสมุดอยู่นั่นเอง

ปี 2005 มีการสอบถามประชาชนอเมริกันว่าเมื่อนึกถึงห้องสมุดพวกเขานึกถึงอะไร พบว่าร้อยละ 69 นึกถึงหนังสือ พอปี 2010 สำรวจแบบเดิมก็พบว่าจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 สวนทางกับบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ห้องสมุดพยายามเพิ่มเข้ามา สรุปคร่าวๆ ได้ว่า ต่อให้เปลี่ยนโฉมไปมากเท่าใด มโนทัศน์ของผู้คนต่อห้องสมุดก็ยังคงเดิม ซึ่งผู้เขียนตั้งคำถามว่าหากเป็นเช่นนี้ ห้องสมุดจะเดือดร้อนอะไร … ไม่สักนิด

นั่นเป็นเพราะห้องสมุดไม่ใช่ตัวเลือกแรกอีกต่อไปในการค้นหาข้อมูล ขณะที่ชาวห้องสมุด (ในประเทศไทย) มักประกาศปาวๆ ว่า เราไม่ใช่แค่ห้องเก็บหนังสือ เราเป็นมากกว่านั้น เราสำคัญมากกว่านั้น ฯลฯ แต่วงจรชีวิตเดิมๆ ก็ยังคงอยู่โดยไม่เปลี่ยนแปลง (หรือเปลี่ยนน้อยมาก) เมื่อผู้คนมองห้องสมุดเป็นสิ่งที่คร่ำครึ ชาวห้องสมุดจึงไม่ควรโต้แย้ง หากแต่ต้องพิจารณาและเร่งปรับวิธีคิดเสียใหม่

Mr.O’Connor มองว่าการจัดสรรพื้นที่ในห้องสมุดก็มีส่วนสำคัญ ในอดีตพื้นที่ของห้องสมุดถูกจัดเป็น 50:40:10 คือ พื้นที่จัดเก็บทรัพยากร 50 ส่วน พื้นที่ผู้ใช้งาน 40 ส่วน และพื้นที่ของบุคลากรและบริการ 10 ส่วน แต่ปัจจุบันต้องรื้อใหม่เป็น 20:70:10 นั่นคือผู้ใช้ต้องการพื้นที่มากขึ้น แม้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ใช้พื้นที่เหล่านั้นเพื่อการอ่านหรือใช้ทรัพยากรในห้องสมุดเลย

สิ่งที่ห้องสมุดสตางค์จะได้จากการเสวนาครั้งนี้

  • เราอาจมาถูกทางแล้วกับแนวคิดลดทรัพยากรแบบ Hard Copy แต่ในทางกลับกันเรายังไม่สามารถกำจัด Hard Copy ที่มีอยู่เดิมและไม่มีคนใช้ออกไปได้อย่างสมบูรณ์เสียที ด้วยข้อจำกัดทางระเบียบต่างๆ และพื้นที่ใช้สอย ทำให้เราไม่สามารถดำเนินการได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่
  • คำถามที่เคยสงสัยกันว่าตกลงนักศึกษาต้องการอะไรจากห้องสมุด Contents หรือ Space ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะความต้องการช่างหลากหลาย ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมมากมาย พื้นที่ใต้ตึกได้พิสูจน์แล้วว่า นักศึกษาอาจไม่ได้ต้องการแอร์เย็นๆ หรือหนังสือเยอะๆ ขอเพียงที่ว่าง ไฟส่องสว่าง และปลั๊กไฟ รูปแบบการจัดอาคารเก๋ๆ ห้อง Co-Working Space สวยๆ แบบเมืองนอก อาจไม่มีผลต่อนักศึกษาที่นี่ อาจถึงเวลาที่ห้องสมุดสตางค์ต้องลดขนาด Collections แล้วเพิ่ม Space และ Services มากกว่า

ข้อมูลแบบละเอียดและคลิปบรรยาย ดูเพิ่มเติมได้ที่
http://tkforum.tkpark.or.th