งานประชุมวิชาการประจำปี TK Forum2017 “Better Library and Learning Space: Trends and Ideas”
วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมสุโกศล
ผู้เข้าร่วมกิจกรรม
– นายอภิชัย อารยะเจริญชัย
– นายปิยะนันท์ จำนงสุทธเสถียร
งานประชุมครั้งนี้จัดโดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ภายใน สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแนวโน้มนวัตกรรมห้องสมุดและการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ และกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากวิทยาการผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์จากต่างประเทศ
เนื้อหาโดยรวมของกิจกรรมอาจจะไม่ตรงเป้าอย่างชัดเจน วิทยากรทั้งสามท่านมิได้มาเลคเชอร์ให้ความรู้เป็นข้อๆ แต่เน้นการเล่าถึงแนวคิดและประสบการณ์การทำงาน ซึ่งผู้เข้าฟังต้องพยายามเก็บสาระสำคัญนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ในบริบทของสังคมไทย ซึ่งอาจเป็นไปได้และเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง Keywords สำคัญที่วิทยากรทั้งสามท่านได้เน้นย้ำเสมอคือ “การเปลี่ยนแปลง” และ “ความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาในแวดวงบรรณารักษ์และห้องสมุดวนเวียนไปมาหลายสิบปีแล้ว
Les Watson อาจารย์พิเศษด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ University of Lincoln สหราชอาณาจักร เปิดประเด็นที่น่าสนใจว่า เรารู้ทั้งรู้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง ห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนกันหรือยัง และเปลี่ยนกันอย่างไร มีผลการวิจัยพบว่าในวัยเด็ก 3-5 ปี เราจะมีจินตนาการสูงถึงร้อยละ 98 แต่เมื่อโตขึ้น จินตนาการกลับลดลง ยิ่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คือ 25 ปีขึ้นไป ระดับจินตนาการจะลดลงอย่างน่าใจหาย มร.วัตสันชี้ว่านั่นเกิดจากระบบการศึกษา ซึ่งน่าแปลกว่ายิ่งเราเรียนสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ระดับจินตนาการกลับสวนทางกัน
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนคือเทคโนโลยี มร.วัตสันเล่าว่าเรามักเบื่อกับการเรียนการสอนแบบท่องจำ และพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นการสอนแบบคิดวิเคราะห์ แต่ทุกคนมี Laptop มี Smart Phone ติดตัวเข้าห้องเรียนด้วยโดยคิดว่านั่นคือเครื่องมือสำหรับประกอบการเรียน แท้จริงแล้วมันเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่ท่องจำแทนเรา ดังนั้นเราจึงยังคงวนเวียนอยู่กับการเรียนการสอนแบบท่องจำอยู่เช่นเดิม แค่เปลี่ยนวิธีเท่านั้นมิใช่หรือ
เราจึงต้องหาข้อสรุปให้ได้ว่าแท้จริงแล้วอะไรกับแน่ที่เปลี่ยนแปลง ถ้าเรายังตอบไม่ได้แล้วเราจะเปลี่ยนอะไร
ในส่วนของการจัดการห้องสมุด มร.วัตสันซึ่งมีประสบการณ์ในการออกแบบห้องสมุดหลายต่อหลายแห่ง ให้ทัศนะถึงการจัดสรรพื้นที่ว่าแบ่งออกเป็นสี่ประเภท
1. พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ในชุมชน มีชีวิตชีวา ต้องการการมีส่วนร่วม
2. พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ซึ่งสร้างการพึ่งพาและปฏิสัมพันธ์ สำหรับสืบค้นส่วนบุคคลหรือทำงานกลุ่ม
3. พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่ค่อนข้างเงียบ ไม่จำเป็นต้องมีชีวิตชีวา
4. พื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับการใคร่ครวญและดำดิ่งในห้วงความคิด
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องสมุด (และหมายรวมถึงบริบทอื่นๆ) ควรคำนึงปัจจัยสำคัญอีกสองสิ่งคือ คน และ สิ่งแวดล้อม ทั้งสามสิ่งต่างเป็นหลักที่ยันกันและกัน การนำมาใช้จะยึดเพียงหลักใดหลักหนึ่งไม่ได้
มร.วัตสัน สรุปท้ายว่าการออกแบบห้องสมุดนั้นไม่ยาก (แต่ก็ไม่ง่าย) คือการตั้งโจทย์ให้ห้องสมุดเป็น Third Place สำหรับผู้ใช้ คือไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่ทำงาน แต่รู้สึกผูกพันและพึงพอใจจนอยากกลับมาอีก
วิทยากรท่านที่สองคือ Rob Bruijnzeels เป็นนักออกแบบห้องสมุดอีกท่านหนึ่งของฮอลแลนด์ มีโปรเจคต์ดังๆ เกี่ยวกับห้องสมุดหลายแห่ง มร.เบราซีลส์เน้นการกระตุ้นความคิดในการสร้างสรรค์งาน งานส่วนใหญ่ของแกจะเป็นการออกแบบห้องสมุดรวมถึงพื้นที่การเรียนรู้ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการแบ่งสรรพื้นที่ข้างต้น ที่เหลือคือความเก๋ไก๋ ความแปลกแหวกแนว สวยงาม แต่ทั้งหมดต้องใช้งานได้จริง ซึ่งสังเกตว่าจะสอดคล้องอีกครั้งกับแนวคิดสามเส้าคือ เทคโนโลยี-คน-สิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดหลักอีกประการของแกคือ การสร้างห้องสมุดที่ดีไม่ใช่แค่การออกแบบ (Architech) แต่มันคือการวางยุทธศาสตร์ (Strategy)
โปรเจคต์เจ๋งๆ ที่เป็นกรณีศึกษาของ มร.เบราซีลส์คือ Chocolate Factory ที่เมือง Gouda เป็นโรงงานชอกโกแลตเก่าที่ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานมาหลายครั้งจนกระทั่งแกมาพัฒนาเป็นห้องสมุดชุมชน ที่นี้แบ่งพื้นที่สำหรับเก็บหนังสือเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือถูกใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ จนไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าห้องสมุดดีหรือไม่ Chocolate Factory ได้รับรางวัลห้องสมุดที่ดีที่สุดของประเทศฮอลแลนด์ ประจำปี 2015-2016 (ลองไปค้นหาดูเอาเอง)
ผังของ Chocolate Factory จะเห็นว่าพื้นที่เก็บหนังสือมีจิ๊ดเดียว
วิทยากรคนที่สามไม่ได้อยู่ฟัง แต่เข้าใจว่าน่าจะเล่าถึงนวัตกรรมเกี่ยวกับห้องสมุดเคลื่อนที่ซึ่งเกิดจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
เท่าที่ฟังมาทั้งหมด ทุกท่านล้วนแต่มองห้องสมุดที่ต่างไปจากห้องสมุดแบบเดิม ไม่มีใครให้ความสำคัญกับ Collection อีกเลย ขนาดงาน Catalog หรืองาน Routine อื่นๆ ก็ยังมีแนวคิดให้ปฏิรูป แต่กลับไม่ได้เสนอว่าปฏิรูปอย่างไร นั่นน่าจะเป็นการบ้านที่ชาวห้องสมุดต้องขบคิดกันเอง ทั้งหมดมุ่งเน้นกิจกรรมของห้องสมุดโดยยึดเอาผู้ใช้เป็นหลัก แต่ตามความเข้าใจของผู้เขียน ผมทึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ผมไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในประเทศของเรา ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ คิดกันสนุกสนานถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะป้อนให้ผู้ใช้ ประเทศไทยยังรณรงค์ให้คนอ่านหนังสือกันอยู่เลย เราชอบมองห้องสมุดอื่น (ที่พัฒนาแล้ว) ว่าดีเลิศ แล้วพยายามนำกลับมาใช้โดยไม่ได้ดูพื้นเพของผู้ใช้ ไม่ได้ศึกษาถึงวัฒนธรรมที่แท้ของเรา ไม่ได้ดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ ทั้งที่ไม่เวิร์ค แต่ก็ยังตะบี้ตะบันใช้โดยเชื่อว่าเดี๋ยวมันต้องดี เดี๋ยวมันต้องเวิร์ค
วิเคราะห์ไปแล้วก็เหมือนหมาที่ไล่งับหางตัวเอง จะดีจะเลวอย่างไร “การศึกษา” คือจุดเริ่มต้นที่แท้ของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ซึ่งเริ่มต้นอย่างง่ายที่สุดคือ “การอ่าน” แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วจะอ่านออกได้อย่างไร เห็นไหมว่ามันเวียนวนไม่รู้จบ
เรื่องความคิดสร้างสรรค์ก็เช่นกัน หากคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญและจำเป็น คนในประเทศนี้ก็ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ ย้ำว่า อย่างสร้างสรรค์ คือไม่ใช่สักแต่ว่าคิดหรือคิดอะไรก็ได้ แต่ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ ถูกต้อง ทั้งในแง่กฎหมายและศีลธรรม ซึ่งก็ยากอยู่ เราพยายามคิดเอาเองว่ากำลังกระตุ้นให้เยาวชนคิดอย่างสร้างสรรค์ เช่นการออกข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์ แต่หากการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้องคือการคิดวิเคราะห์ที่ตรงกับผู้ใหญ่ ประเทศนี้ก็จงจมอยู่กับความคิดเดิมๆ อยู่ต่อไปเถิด
ข้อคิดน่าสนใจอันหนึ่ง ซึ่ง ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวในพิธีเปิดที่ว่า “…เมื่อโลกเปลี่ยน เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ห้องสมุดก็อยู่เฉยไม่ได้ เพราะถ้าห้องสมุดจะยังดำรงอยู่ ต้องตอบให้ได้ว่าห้องสมุดจำเป็นอย่างไร…” นี่คือสิ่งที่น่าคิดมากๆ เหลียวมองคนที่เข้าร่วมประชุมแล้วก็ยังนึกตามว่า นั่นสิ ตกลงห้องสมุดมันจำเป็นอย่างไร (วะ) กับโลกปัจจุบัน
————————————————————————————————————————————
เอกสารอ่านเพิ่มเติม ซึ่งควรอ่านมากๆ (บอกก่อนว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นการประดิษฐ์คำสวยๆ ดูเท่ แต่ยังลอยๆ ฟุ้งๆ ต้องขมวดเก็บเอาสาระเอาเอง)
– ห้องสมุดและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่เหนือกว่า : ทิศทางและแนวคิด
– ฉันจะต้องเปลี่ยนเพื่อให้อยู่เหมือนเดิม… สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับห้องสมุดในอนาคต
– Idea Box การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ ณ ที่ใดก็ได้ !
บันทึกการบรรยายสามารถเข้าฟังได้ที่แฟนเพจ TK Park