Home » บรรณารักษ์ » การเชื่อมโยงความรู้: ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี (ตอนที่ 1)

การเชื่อมโยงความรู้: ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี (ตอนที่ 1)

การประชุมวิชาการสำนักงานวิทยทรัพยากร 2557
การเชื่อมโยงความรู้: ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี
(Connecting Knowledge: Library, New Media & Technology)

ผู้เข้าร่วมสัมมนา: อภิชัย อารยะเจริญชัย

โดยทั่วไปหากมีการประชุมเรื่องทำนองนี้ เรามักได้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นจากฝ่ายห้องสมุดเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าใครจัดก็มักจะเชิญวิทยากรที่มาจากวงการห้องสมุด สิ่งที่ได้รับคือคำถามเดิมๆ คำตอบเดิมๆ  แนวคิดเดิมๆ เปรียบเหมือนการส่องกระจก ส่องทีไรก้เห็นแต่ตัวเอง ถ้า “ยอมรับ” ตัวเองได้ก็ดีไป แต่ข้อเสียหนักๆ คือห้องสมุดจะได้คำตอบหรือมุมมองจากคนห้องสมุด รู้เรา แต่ไม่รู้เขา ไม่รู้โลก ไม่รู้ผู้ใช้ ก็จะไม่ต่างอะไรกับการพายเรือวนในอ่าง วนไปวนมาสิบกว่าปีก็ยังอยู่ที่เดิม

แม้การประชุมครั้งนี้จะได้รับเกียรติจากวิทยากรที่อยู่ในแวดวงห้องสมุดเหมือนเคย ตามหน้าตาของเจ้าภาพ แต่ไม่แออัดเท่าครั้งก่อนๆ เมื่อดูรายชื่อวิทยากรแล้วพบว่ามาจากหลายวงการที่ล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกับห้องสมุดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ ผศ. (พิเศษ) ดร. เนตร หงษ์ไกรเลิศ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร. จารุวัส หนูทอง วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ดร. วิศปัตย์ ชัยช่วย คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร. สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ, ดร. ยรรยง เต็มอำนวย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น

Jpeg
ประเด็นหลักๆ ของการประชุมครั้งนี้ว่าด้วยความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนพันธกิจและทัศนคติของห้องสมุดกับโลกยุคใหม่ ทั้งกับผู้ใช้ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สารสนเทศที่เปลี่ยนไป ห้องสมุดไม่อาจหยุดอยู่กับที่ได้ ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมต่างทราบกันดี แต่ส่วนตัวคิดว่าแนวคิดสวยหรูเหล่านี้อาจจะกลับไปไม่ถึงห้องสมุดต่างๆ เพราะมันอาจหล่นหายหรือหลงลืมไปเสียกลางทาง เช่นเดียวกับที่ผ่านมา พัฒนาการห้องสมุดกระจุกตัวอยู่กับห้องสมุดไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ หลายแห่ง “เคย” มุ่งมั่น แต่พัฒนาการกลับหยุดชะงักด้วยนานาเหตุผล ผมเชื่อว่าการพัฒนาห้องสมุดอยู่ในสำนึกของบรรณารักษ์และบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกคน แต่ต้องยอมรับว่าแรงผลักของแต่ละคนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน กับเหตุผลอีกนานัปการที่ทำให้ไปได้ไกลเพียงเท่าที่เห็นจริงๆ

สิ่งที่ได้ยินบ่อยมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือ “การเป็นยิ่งกว่าห้องสมุด” (More Than A Library) ห้องสมุดบางแห่งยึดเอาเป็นสโลแกนของห้องสมุดตัวเองด้วยซ้ำ (เราใช้มาจนเบื่อแล้ว) หลายแห่งภูมิใจนำเสนอความที่เป็นมากกว่าห้องสมุด บริการที่เหนือความคาดหมายของผู้ใช้เช่น สมมติกระดุมขาด ห้องสมุดก็มีอุปกรณ์เย็บผ้าให้ใช้ รองเท้าขาด ห้องสมุดก็คู่สำรองให้ยืม ห้องสมุดเป็นเพื่อนคู่คิดในทุกๆ เรื่อง ฯลฯ ขณะที่ทุกคนฮือฮากับบริการที่แสนเซอร์ไพรส์และยกมือถามไถ่ตลอดว่าทำได้ยังไง อะไรคือแรงบันดาลใจ สุดยอดเลยค่ะ จะกลับไปใช้ที่ห้องสมุดตัวเองบ้าง … คำถามที่อยู่ในหัวผมคือ แล้วตกลงเขาเป็นอะไร เขาจะยังเป็นห้องสมุดอีกไหม ใช่เลยว่าเขาเป็นมากกว่าห้องสมุดแน่ แต่เขาก็กำลังจะ “ไม่เป็น” ห้องสมุดอยู่เหมือนกัน

ในมุมมองของอาจารย์ซึ่งมีหลายท่านมาเป็นวิทยากร ผมพอจะจับประเด็นได้ว่าพวกเขาหันมาให้ความสำคัญกับรูปแบบการนำเสนอมากกว่า หากอิงตามทฤษฎีของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่ว่าผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรม การนำเสนอจึงต้องปรับเปลี่ยน วิธีการสอนแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว แต่ส่วนใหญ่ Contents ยังคงเดิมมิใช่หรือ เนื้อหาเดิม เปลี่ยนให้ทันสมัยและปรับรูปแบบให้น่าสนใจ นี่ต่างหากคือสิ่งที่ผู้สอนต้องการ แล้วห้องสมุดสนองเขาได้ไหม ห้องสมุดสร้าง Contents เองไม่ได้ (สำหรับผู้ใช้ที่เป็นอาจารย์) แต่ห้องสมุดสรรหามาให้ได้ และเป็นที่ปรึกษาในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล หรือกระทั่งช่วยแก้ปัญหาทางไอทีได้ (สำหรับห้องสมุดที่มีศักยภาพเพียงพอ)

อีกมุมหนึ่งที่ผู้สอนมองคือการเสพข้อมูลของผู้เรียน การส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นคว้า เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสิ่งดี แต่ข้อมูลที่มีมากมายนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด เพราะต้องตระหนักว่าผู้เรียนยังขาดประสบการณ์ ขาดวุฒิภาวะ เขาอาจแยกไม่ออกว่าข้อมูลใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แล้วห้องสมุดจะเข้ามามีบทบาทส่วนนี้ได้หรือไม่

ในมุมมองของวิศวกรคอมพิวเตอร์ก็มองห้องสมุดยุคใหม่ที่ต่างออกไปอีก คนกลุ่มนี้มองว่าความเป็น Smart Library ที่ชอบพูดๆ กันนั้น มีนคืออะไรกันแน่ เขามองว่าหลายๆ สิ่งที่เกี่ยวกับห้องสมุดมีความเป็น Automation มากขึ้น เช่น การแคตตาลอก การสืบค้น ดังนั้นบรรณารักษ์จึงน่าจะใช้เวลากับงานประจำได้น้อยลงและหันมาพัฒนาหรือสร้างงานใหม่ๆ เพราะโลกนี้มี Information มากมายมหาศาลกว่ายุคก่อน ซึ่งคนที่จะจัดการกับสิ่งนี้ได้คือบรรณารักษ์

ส่วนในมุมมองของคนห้องสมุดก็คงไม่ต่างอะไรจากที่เราทราบกันดี คือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากร พัฒนาสิ่งแวดล้อม การตามเทรนด์ใหม่ๆ ของเทคโนโลยี สื่อใหม่ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ผมเชื่อว่าไม่มีห้องสมุดไหนไม่ทราบ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่พัฒนาคนเสียก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดในสายตาของผม

อีกประโยคที่ได้ยินตลอดคือการพลิกมุมคิดให้เอาผู้ใช้เป็นตัวตั้ง ทุกคนร่ายยาวได้เป็นวันๆ ว่าผู้ใช้เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ความสนใจเปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยน ฯลฯ ดังนั้นห้องสมุดต้องปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ แต่ผมก็อยากถามอีกทีว่า ถามผู้ใช้หรือยัง ? คนรุ่นใหม่ชอบเข้าร้านกาแฟไปนั่งอ่านหนังสือ ติวหนังสือ บางห้องสมุดเลยเกิดไอเดียว่าจะดัดแปลงห้องสมุดให้มีอิมเมจแบบร้านกาแฟบ้างดีไหม ก็ต้องย้อนกลับไปตอนต้นของข้อเขียนนี้ว่า ตกลงแล้วจะไม่เป็นห้องสมุดแล้วใช่ไหมครับ

โดยสรุปแล้วผมเชื่อว่าห้องสมุดเรามาถูกทางแล้ว เราเป็นมากกว่าห้องสมุด แต่เรายังคงเป็นห้องสมุดอยู่ สิ่งสำคัญที่เราต้องทำให้มากขึ้นคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Information เราไม่ต้องเขียนตำรา ไม่ต้องผลิตสื่อแปลกๆ ตามเทรนด์ก็ได้ เราแค่นำเสนอ คัดเลือก คัดกรอง ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ เท่าที่อยู่ในวิสัยของห้องสมุดจะทำได้ และบุคลากรยังคงสำคัญที่สุดเสมอสำหรับห้องสมุดยุคใหม่

เอกสารการบรรยาย
1. ห้องสมุด สื่อใหม่ และเทคโนโลยี โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. Always One Step Ahead! Libraries as community centers and hubs for digital inclusion
3. Media Convergence กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดย ดร. บรรพต สร้อยศรี ผจก.ศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักงานวิทยฯ จุฬาฯ
4. Media Convergence กับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดย ดร. จารุวัส หนูทอง วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว.
5. ฝันให้ไกล… ไปให้ถึง… Academic Solution Provider โดย ดร. พิมพ์รำไพ เปรมสิทธิ์
6. Smart libraries : ต่างคนคิด พลิกมุมมอง โดย ดร. ยรรยง เต็มอำนวย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ