Home » นักเอกสารสนเทศ » การกำหนด Functional Competency ของบุคลากรในวิชาชีพสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล

การกำหนด Functional Competency ของบุคลากรในวิชาชีพสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล

การกำหนด Functional Competency ของบุคลากรในวิชาชีพสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล
วันที่ 9-10 มกราคม ณ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหดิล

ผู้เข้าร่วมประชุม
วรัษยา สุนทรศารทูล / เฉิดฉันทร์ ราชบุรณะ /
อภิชัย อารยะเจริญชัย / ณิชดาภา อัจฉริยสุชา

เมื่อวันที่ 9-10 มกราคม ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมเรื่อง การกำหนด Functional Competency ของบุคลากรในวิชาชีพสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการให้ความรู้เรื่องการกำหนดสมรรถนะเฉพาะทางวิชาชีพ โดย ผศ.ดร.จิตรลดา อมรวัฒนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นจะมีการระดมความเห็นเพื่อกำหนด FC ซึ่งในสายวิชาชีพสารสนเทศจะประกอบด้วย บรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ และนักวิชาการสารสนเทศ

หากยังจำกันได้เมื่อกลางปีที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดกันไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้ได้นำข้อสรุปในครั้งนั้นมาพิจารณาร่วมกีนอีกครั้งหนึ่ง ในภาพรวมนั้นได้มีการกำหนด FC เอาไว้แบบกว้างๆ สำหรับสามตำแหน่งดังกล่าว แบ่งเป็นสามส่วนคือ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และ คุณลักษณะส่วนบุคคล (Attribute)

ความรู้ (Knowledge : K)
K1 – ความรู้พื้นฐานทางวิชาชีพ / K2 – ทรัพยากรสารสนเทศ / K3 – การจัดการสารสนเทศและความรู้ /
K4 – เทคโนโลยีสารสนเทศ / K5 – การบริการห้องสมุดและสารสนเทศ / K6 – การจัดการองค์กร /
K7 – การวิจัยและการศึกษาผู้ใช้ / K8 – การศึกษาต่อเนื่องและการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ทักษะ (Skill : S)
S1 – การบริการผู้ใช้ / S2 – การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ / S3 – เทคโนโลยีสารสนเทศ / S4 – การตลาด /
S5 – ภาษาและการสื่อสาร / S6 – การทำงานเป็นทีม / S7 – การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ /
S8 – การวางแผนและการจัดการ / S9 – การสอนและการฝึกอบรม / S10 – การจัดการความรู้

คุณลักษณะส่วนบุคคล (Attribute : A)
A1 – ภาวะผู้นำ / A2 – ทัศนคติด้านบริการ / A3 – จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ /
A4 – แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ / A5 – สามารถตรวจสอบได้ / A6 – การจัดการตนเอง /
A7 – ความสามารถในการปรับตัว

จากการร่วมพิจารณากันในวันนี้พบว่า FC ย่อยต่างๆ นั้นมีบางส่วนที่ซ้ำซ้อน สามารถรรวบเข้าได้ไว้เป็นข้อเดียว หรือบางข้อก็จัดเป็น FC หลักของทางมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นด้วยที่จะตัด รวบ ให้คงเหลือ FC ย่อยเพียงเท่าที่จำเป็น

ต้องไม่ลืมและต้องย้ำเตือนเสมอว่าข้อกำหนดในครั้งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นข้อกำหนดในการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรแต่ละตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2557 นี้ ดังนั้นการเสนอให้เพิ่ม หรือตัด หรือแก้ไขส่วนใดนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับอายุงานและตำแหน่งด้านการบริหาร

ส่วนแรกขอสรุปผลการระดมความคิดของตำแหน่งบรรณารักษ์ (ตำแหน่ง นักเอกสารสนเทศ พี่เจ จะมาสรุปให้อีกที ส่วนตำแหน่งนักวิชาการสารสนเทศ ห้องสมุดไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม) ที่ประชุมตำแหน่งบรรณารักษ์ได้สรุปข้อกำหนดไว้เมื่อครั้งที่แล้วสี่ข้อ คือ

FC01-1             ทักษะการจัดการห้องสมุด
FC 01-2            ทักษะการติดต่อสื่อสาร
FC 01-3            จิตสำนึกการบริการ
FC 01-4            ความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงาน

ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันว่า FC 01-4  (ความละเอียดรอบคอบ) สามารถรวบเข้าไว้ใน FC 01-1 ได้ จึงตัดออกและเพิ่ม “ความรู้ทางวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์” เข้ามาแทน และเพิ่มเติม “การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” เข้ามาอีกข้อหนึ่ง (สำหรับข้อกำหนดย่อยและเกณฑ์การประเมินนั้น โหลดอ่านได้จากด้านท้าย)

20140110-IMG_7688

ผู้เชี่ยวชาญสองท่าน กำลังวิพากษ์ข้อกำหนดและให้ข้อเสนอแนะ

และจากการวิพากษ์โดยผู้เชี่ยวชาญคือ ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณรุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ข้อสรุปดังนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า แท้จริงแล้วการกำหนด FC ควรเป็นการระดมความคิดของผู้บังคับบัญชามากกว่าผู้ปฏิบัติงาน เพราะเป็นการระบุอย่างชัดเจนในเชิงนโยบายว่า มหาวิทยาลัยต้องการบุคลากรประเภทใดกันแน่
  • ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามเรื่อง ความรู้ทางวิชาชีพฯ ว่าจะใช้เกณฑ์อะไรตรวจสอบ และอธิบายว่าความรู้มีการเปลี่ยนแปลงเสมอแบบวันต่อวัน ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะวัดความรู้จากอะไร
  • ทักษะการจัดการห้องสมุด ต้องระมัดระวังว่าหากบุคลากรบางคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการห้องสมุด จะมีผลอะไรหรือไม่ หากเป็นไปได้น่าจะแยกย่อยในแต่ละงาน เช่น ฝ่ายแคตตาล็อก อย่างไรเรียกว่าดี ฝ่ายตอบคำถาม อย่างไรเรียกว่าดี เป็นต้น
  • การติดต่อสื่อสาร ระบุให้ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร หมายถึงการเจรจากับผู้ใช้บริการเท่านั้นหรือไม่ การติดต่อสื่อสารในที่นี้หมายถึงอะไร หากบางท่านที่ทำงานเบื้องหลัง ไม่ต้องพบกับผู้ใช้ จะประเมินเขาอย่างไร และต้องคำนึงเสมอว่าการติดต่อสื่อสารไม่ใช่เฉพาะการพูดคุยเท่านั้น การเขียน การบรรยาย การสอน ก็ใช่เช่นกัน
  • จิตสำนึกบริการ ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพราะของเดิมนั้นมีการระบุถึงขั้นที่ว่า กล่าวคำทักทายกับผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าจิตสำนึกบริการที่ดีคืออะไร ผู้ใช้ต้องการอะไร ต้องการรอยยิ้มหรือต้องการ Information
  • การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำมาก
  • ผู้เชี่ยวชาญยังแนะนำเรื่อง Information Literacy รวมถึง ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21th Century Skills)

ข้อกำหนดทั้งหมดยังไม่นับเป็นข้อสรุปสุดท้าย ยังจะต้องมีการระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้องอีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อกำหนดอันเป็นที่ยอมรับของทุกคนในแต่ละตำแหน่ง หากมีความคืบหน้าใดๆ ตัวแทนที่ประชุมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

เอกสารสรุปของตำแหน่งบรรณารักษ์ (ครั้งที่ 1)
เอกสารสรุปของตำแหน่งบรรณารักษ์ (ครั้งที่ 2 : ฉบับร่าง)
เอกสารสรุปของตำแหน่งนักเอกสารสนเทศ (ครั้งที่ 2 : ฉบับร่าง)

Comments are closed.