Home » กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ » “ป่วย กิจ คลอด” … ลาอย่างไร ยังได้เงินเดือน

“ป่วย กิจ คลอด” … ลาอย่างไร ยังได้เงินเดือน

sick-at-workพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งหลาย รู้กันหรือไม่ว่า สิทธิการลาหยุดงาน (ลาป่วย ลากิจ ลาคลอดบุตร) ที่สามารถจะได้รับเงินเดือนระหว่างลานั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.บ.ค. (คณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้ แล้วลายังไงล่ะ ถึงจะถูกหลักเกณฑ์ และยังได้รับเงินเดือน มาดูกันค่ะ

การลาป่วย

ไม่ว่าจะป่วยหนัก ป่วยเบา ฯลฯ พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิลาป่วยได้ ปีละไม่เกิน 120 วันทำการ โดยยังได้รับเงินเดือนตามปกติ ซึ่งไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาตให้ลาป่วย แบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้ค่ะ

1. ลาป่วยเพื่อรักษาตัว ปีหนึ่งสามารถลาได้ไม่เกิน 60 วันทำการ หากลาเกิน 3 วันทำการติดต่อกัน ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยันด้วยนะคะ
2. กรณีลาป่วยที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Admit) หรือพักรักษาตัวต่อเนื่องตามความเห็นของแพทย์  ปีหนึ่งสามารถลาได้ไม่เกิน 60 วันทำการเช่นกันค่ะ

การลาป่วยที่ไม่สามารถส่งใบลาได้ ในขั้นต้นต้องแจ้งลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบก่อน และ ต้องส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติงาน หากผู้ลามีอาการป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในวันที่ลาได้ สามารถให้ผู้อื่นลาแทนได้ค่ะ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาโดยเร็ว

“แล้วถ้าป่วยหนักจะขอใช้สิทธิลามากกว่า 120 วันได้ไหม?”
กรณีที่ได้รับอนุญาตให้ลาเกิน 120 วันทำการ สามารถลาได้นะคะ แต่ให้ถือเป็นการลาโดยที่ “ไม่ได้รับเงินเดือน” ค่ะ

********************

การลากิจส่วนตัว

พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิลากิจส่วนตัว โดยยังได้รับเงินเดือน ปีละไม่เกิน 45 วันทำการ เว้นแต่ปีแรกที่เริ่มเข้าปฏิบัติงานจะลากิจส่วนตัวได้ไม่เกิน 15 วันทำการ ผู้ลาต้องส่งใบลา และ ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา จนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนจึงสามารถหยุดงานได้ แต่หากมีความจำเป็นจริงๆที่ต้องหยุดงานไปก่อน ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาก่อน และสามารถยื่นใบลาได้ในภายหลัง พร้อมระบุเหตุผลด้วย หากผู้ลาไม่ทำตามขั้นตอนการลาที่ว่านี้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าขาดงานค่ะ

อีกนิดนะคะ กรณีที่ได้รับอนุญาตให้ลากิจส่วนตัวแล้ว หากมีงานด่วนเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาสามารถเรียกกลับมาปฏิบัติงานได้ และถือว่าการลานั้นเป็นอันสิ้นสุดลงค่ะ

********************

การลาคลอดบุตร

อีกเรื่องนึงที่พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ว่าชายหรือหญิง ที่กำลังวางแผนจะมีบุตรควรทราบ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อท่านอย่างยิ่งค่ะ

พนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิลาคลอดบุตรได้ครั้งหนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยยังได้รับเงินเดือน หากมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานจากกองทุนประกันสังคม ให้ได้รับเงินเดือนเฉพาะส่วนที่ไม่ครบ 90 วัน จากมหาวิทยาลัย  (ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากกองทุนประกันสังคม ได้จากลิงค์ด้านท้าย) และมีสิทธิลาเพื่อดูแลบุตรและภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายหลังคลอด โดยได้รับเงินเดือนด้วยนะคะ แต่ต้องครั้งละไม่เกิน 15 วันทำการค่ะ

นอกจากนี้การลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรต่อเนื่อง จากการลาคลอดบุตร สามารถลาได้ไม่เกิน 150 วันทำการ แต่จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนระหว่างลานะคะ อันนี้ขอบอก

การลาคลอดบุตรที่ไม่สามารถส่งใบลาได้ ในขั้นต้นต้องแจ้งการลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หากผู้ลาไม่สามารถลงชื่อได้ สามารถให้ผู้อื่นลาแทนได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาโดยเร็วค่ะ และหากการลาคลอดบุตรคาบเกี่ยวกับการลาประเภทใดๆก็ตาม ให้ถือว่าการลาประเภทนั้นสิ้นสุดลง และให้นับเป็นการลาคลอดบุตรตั้งแต่วันแรกที่ลาค่ะ

ฝากอีกนิด พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้รับอนุญาตให้ลาแล้ว หากต้องการยกเลิกวันลาที่ยังไม่ได้หยุดงานให้เสนอขอยกเลิกวันลาต่อผู้บังคับบัญชา จนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต ให้ถือว่าการลาเป็นอันสิ้นสุดลงนะคะ

ไม่ยากเลยใช่ไหมค่ะ กับหลักเกณฑ์ง่ายๆสำหรับการลาป่วย ลากิจส่วนตัว และลาคลอดบุตร ลายังไงถึงยังได้รับเงินเดือน ผู้เขียนหวังว่าหลักเกณฑ์และวิธีการลาหยุดงานนี้ จะมีประโยชน์ต่อหลายๆท่าน และครั้งต่อไปจะเป็นการลาประเภทไหน แล้วพนักงานมหาวิทยาลัยมีสิทธิแบบใด อย่าลืมติดตามกันนะคะ

Link เพิ่มเติม

———————————————————————————————————————————
แบ่งปันความรู้โดย : นางสาวภัสสร เกิดสมบัติ (เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป)

Comments are closed.