Home » ห้องสมุดกับการตลาด » งานประชุมวิชาการ “Branding กับห้องสมุด” (ตอนที่ ๑)

งานประชุมวิชาการ “Branding กับห้องสมุด” (ตอนที่ ๑)

สรุปเนื้อหาจากการเข้าร่วมประชุมวิชาการชมรมห้องสมุดเฉพาะ ประจำปี ๒๕๕๕
เรื่อง “Branding การสื่อสารอัตลักษณ์ของห้องสมุดและการบริการสารสนเทศ”
วันที่ ๖-๗ กันยายน ๒๕๕๕ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ
โดย นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

วันที่ ๖-๗ กันยายน ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาวิชาการซึ่งจัดโดยชมรมห้องสมุดเฉพาะ ในหัวข้อที่ค่อนข้างทันสมัยมากสำหรับวงการห้องสมุด คือเรื่องของการสร้าง Branding ของห้องสมุด แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องปกติสามัญสำหรับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ แต่กับห้องสมุดซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ทั้งที่ความจริงเกือบทุกห้องสมุดก็ทำ Branding ของตัวเองไปแล้วเพียงแต่ยังไม่รู้ตัว จนกระทั่งเริ่มมีผู้สนใจศึกษาในกรณีของห้องสมุดอย่างจริงจังขึ้นมา

วิทยากรท่านแรกที่มาให้ความรู้คือ อาจารย์ประดิษฐา ศิริพันธ์ จาก ศูนย์การเรียนรู้ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ เริ่มแค่การตีความของคำว่า Brand หรือคำว่า อัตลักษณ์ ก็สนุกแล้วครับ ในความเห็นส่วนตัวของผมเองยังมอง แบรนด์ ในเชิงนามธรรมมากกว่า ส่วนที่เป็นรูปธรรมนั้น่าจะเป็นตัวสินค้า (Products) ซึ่งอาจหมายรวมไปถึงการให้บริการต่างๆ ด้วย ซึ่งใช้ความคุ้นชินของเราก็มักจะเรียกรวมๆ กันไปความเข้าใจว่า แบรนด์ ส่วนอัตลักษณ์นี่ไม่ยาก ก็มาจากคำว่า อัต หรือ อัตตา ก็คือตัวตน ความเป็นตัวตน รวมกับ ลักษณ์ กลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงตัวตน แล้วที่นี้เจ้าสองสิ่งนี่มาเกี่ยวกับห้องสมุดได้อย่างไร

ต้องยอมรับกันว่าทุกวันนี้คนเข้าใช้ห้องสมุดน้อยลง ไม่ได้หมายความว่าห้องสมุดจะหมดประโยชน์ เพียงแต่ในยุคดิจิตอลเช่นี้ ผู้คนสามารถเลือกช่องทางที่จะเข้าถึงห้องสมุดได้มากกว่าเดิม หรือแม้แต่คนที่เข้ามาที่ห้องสมุดเองก็ตาม ลองสังเกตดีๆ ว่ามีสักกี่คนที่เข้ามาใช้ทรัพยากรในห้องสมุดจริงๆ เหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ห้องสมุดกลายเป็นเพียงสถานที่สำหรับใช้ทำงาน แต่ไม่ได้ใช้ค้นคว้า หลายคนหอบโน้ตบุ๊คเข้ามา หอบเอกสารเข้ามา แล้วมาอาศัยห้องสมุดเพื่ออ่านหรือศึกษา หนังสือดิจิตอลมีมากมาย ฐานข้อมูล วารสารอิเล็กทรอนิกส์ก็มากมี บางครั้งเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาใช้ที่ห้องสมุดก็ได้ แล้วแบบนี้ห้องสมุดจะอยู่ได้ล่ะหรือ …

0001_
อาจารย์ประดิษฐา ศิริพันธ์ จาก ศูนย์การเรียนรู้ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

ห้องสมุดยังไม่ตายหรอกครับ แต่ต้องปรับเปลี่ยนสถานะและบทบาท อาจารย์ประดิษฐาพูดไว้น่าฟังมาก ท่านบอกว่า “… เพื่อไม่ให้ห้องสมุดจมหายไปจากโลก เราจำเป็นต้องทบทวนสำรวจตัวตนสัก ๒-๓ ประเด็น เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของห้องสมุด …” อธิบายง่ายๆ ก็คือเราต้องหันมามองตัวเองก่อนว่าจริงๆ แล้วเราคือใคร เราคือห้องสมุด แล้วเราทำหน้าที่อะไร เพื่อให้รู้ตัวตนที่แท้จริง เราจะได้รู้ว่าเราควรทำอะไร คิดอะไร สร้างสรรค์อะไร

อาจารย์ประดิษฐา ยังยกกรณีศึกษาจากห้องสมุดหลายๆ แห่งที่เลือกจะใช้สร้างอัตลักษณ์ของตนด้วยการ Rebranding ซึ่งอาจเป็นการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาหรือปรับตัวตนให้กลายเป็นห้องสมุดที่มีบุคลิกใหม่ แต่ที่สำคัญคือยังต้องคงพันธกิจเดิม (ก็คือยังต้องตอบโจทย์เดิมอยู่เช่นเดิมว่าห้องสมุดมีหน้าที่ทำอะไร) หลายแห่งปรับโฉมใหม่ด้วยการสร้างใหม่ ดัดแปลงสถานที่ให้ดูทันสมัย เพิ่มเติม accessories ต่างๆ เข้ามา อย่างร้านกาแฟ ร้านอาหาร เน็ตคาเฟ่ บางแห่งก็สร้างภาพลักษณ์ใหม่เพื่อสร้าง Brand awareness อย่างห้องสมุดสีเขียว ห้องสมุดอนุรักษ์พลังงาน หรืออื่นใดตามแต่ที่จะคิดสรรค์กันได้

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเหล่านี้เป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์และแสดงให้เห็นความพยายามในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้ใช้ แต่วิธีการนี้ก็ใช่ว่าจะประสบผลสำเร็จไปทุกครั้ง ก็ขอให้ย้อนกลับมาหาอัตลักษณ์ของตนเองก่อนนั่นแหละว่าเราเป็นใคร ถ้าขืนห้องสมุดทุกแห่งเปิดร้านกาแฟเหมือนกันหมด ผู้ใช้คงเมาคาเฟอีนตายเสียก่อนเป็นแน่ การจะปรับเปลี่ยนอะไรนั้นต้องคำนึงถึงในหลายองค์ประกอบด้วยเช่นกัน

การเพิ่มบริการหรือกิจกรรมใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างสนับสนุนมากกว่า ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องให้บริการในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป การบริการเชิงรุกที่พูดกันมานมนานเห็นควรนำมาปัดฝุ่นกันอีกรอบ ห้องสมุดแสนได้เปรียบตรงที่เป็นขุมความรู้ ดังนั้นจึงน่าจะนำความได้เปรียบนั้นมาต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้คนจดจำน่าจะดีกว่า