Home » บรรณารักษ์ » ทักษะในศตวรรษที่ 21 และการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ในสถาบันอุดมศึกษา

ทักษะในศตวรรษที่ 21 และการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ในสถาบันอุดมศึกษา

ชื่อกิจกรรม: ทักษะในศตวรรษที่ 21 และการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ในสถาบันอุดมศึกษา
วันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2557 ณ. ศูนย์การเรียนรู้มหิดล
วิทยากร: ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช

           เรื่องของ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดถึงกันมามากในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา คีย์แมนสำคัญท่านหนึ่งคือ อาจารย์วิจารณ์ พานิช ก็เป็นชาวมหิดล โดยท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการตื่นตัวที่จะพัฒนาระบบการเรียนการสอนยุคใหม่ให้สอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่านี้ แต่คำถามสำคัญคือเมื่อไหร่เราจึงจะเห็นอะไรสักอย่างที่เป็นรูปธรรมเสียที
           แนวคิดนี้ถูกนำเสนอขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว ในหลายๆ ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งบางครั้งก็เป็นการดำเนินการไปในแนวทางนี้โดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ได้อ้างอิงทฤษฎีใดๆ หรือแนวคิดใดๆ เพียงแต่ดำเนินการไปตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและของตัวผู้เรียนและผู้สอน อย่างเช่นกรณีของประเทศสิงคโปร์ ที่มีการจัดระบบความคิดเรื่องการศึกษาที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ เอาแค่ในระดับเอเชียหรืออาเซียนนี่ก็ได้ ทำไมสิงคโปร์จึงติดอันดับท็อปเสมอเมื่อมีการจัด Ranking  ด้านการศึกษา สิงคโปร์ไม่ใช่เป็นหัวหอกในแนวคิดนี้ แต่สิงคโปร์ทำไปก่อนล่วงหน้า อาจจะเรียกว่าสัญชาตญาณก็คงไม่ผิดนัก

21Cent
           ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย หากแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นักวิชาการ นักการศึกษา นักอะไรต่อมิอะไรของประเทศนี้จะไม่ทราบเชียวหรือ สิ่งที่ได้รับฟังมาเสมอคือต้องมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่รู้สึกกันไหมว่าเราผ่านศตวรรษที่ 21 มาแล้วถึง 14 ปี เกือบหนึ่งในห้าของศตวรรษแล้ว ประเทศไทยยังคงเคยชินกับการศึกษาแบบศตวรรษที่ 20 อยู่เลย
           ผู้เขียนมิได้ชื่นชมหรือเทิดทูนแนวคิดเรื่องแนวคิดที่ว่านี้จนเกินงาม บางสิ่งบางอย่างก็อาจจะไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ท่านอาจารย์วิจารณ์ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นโชคดีอย่างยิ่งที่มีองค์ประกอบ “เกือบ” จะพร้อมในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ปัจจัยสำคัญคือผู้เรียนหรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลผ่านการคัดกรองแล้วว่าเยี่ยม คือทุกคนเป็นคนเก่ง เป็นอันว่าตัดเรื่องความเก่งด้านวิชาการ ซึ่งขั้นตอนต่อมาคือมหาวิทยาลัยจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ในขณะที่อีกหลายสถาบันไม่โชคดีอย่างมหิดลที่นักศึกษาอาจจะยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความเก่งทางวิชาการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกนาน
           ข้อมูลหลักๆ เกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 สามารถอ่านได้จากหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 (เลขหมู่ LB1134 ท337 2554 ที่ห้องสมุดเรามีให้อ่าน) ซึ่งประเด็นที่อาจารย์วิจารณ์นำเสนอในวันนั้นเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดนี้ ด้วยเวลาอันจำกัดจึงไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ถ้าได้อ่านเล่มนี้ก็น่าจะเข้าใจได้ชัดเจน และหากสนใจเพิ่มเติมก็แนะนำอีกเล่มคือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21 (เลขหมู่ LB1051 ว519ว 2555)

 

Jpegอาจารย์ระพี กับ อาจารย์ชนกพร กำลังนำเสนอโครงการ We Mahidol
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสู่การเป็นสายเลือดมหิดลอย่างสมบูรณ์

สิ่งที่ได้จากการประชุมและข้อเสนอแนะ
            การจัดประชุมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและเพื่อเฟ้นหาคณะทำงานนำร่องด้านการศึกษาและกิจกรรมนักศึกษาให้มีศักยภาพพร้อมในการสร้างทักษะดังกล่าว ในส่วนที่สองนั้นเป็นการระดมความคิดของคณาจารย์ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วห้องสมุดไปเกี่ยวอะไรกับงานนี้
           เมื่อผู้เรียนหรือนักศึกษาเปลี่ยนไป รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป องค์ความรู้หาได้ง่ายขึ้น วิธีการจัดการความรู้รูปแบบใหม่คือ สอนให้น้อยเรียนให้มาก (Teach Less, Learn More) เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อห้องสมุด เรากังวลกันเสมอว่าทำไมคนเข้าห้องสมุดน้อยลง เพราะผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเข้ามาห้องสมุดเหมือนก่อน แต่จะขาดห้องสมุดไม่ได้ ห้องสมุดเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการ การที่ผู้ใช้เข้าห้องสมุดน้อยลงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ห้องสมุดยังต้องพัฒนาทรัพยากรและการให้บริการอยู่เช่นเดิม แม้คนจะไม่เข้าห้องสมุดก็ใช่ว่าเขาจะไม่ใช้ห้องสมุด ดังนั้นห้องสมุดสตางค์และบุคลากรห้องสมุดสตางค์จึงต้องพยายามพัฒนาไปให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

  1. เมื่อความรู้หาได้ง่ายขึ้นและมีมากขึ้น จึงเกิดปัญหาการคัดกรองข้อมูล ห้องสมุดจะไม่เน้นปริมาณข้อมูลให้มากเข้าไว้ ประเภท list ข้อมูลเยอะๆ Link แหล่งสารสนเทศมากๆ แต่ถ้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็ไร้ค่า
  2. บุคลากรต้องตามเทรนด์โลกให้ทัน อาจไม่ต้องเข้าใจถ่องแท้ถึงขั้นเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง แต่ต้องทราบว่าผู้ใช้กำลังพูดถึงอะไร แน่นอนว่าเราอาจไม่รู้ได้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้ก็ถาม ถามให้รู้ รู้แล้วต้องศึกษาต่อ
  3. ปรับปรุงการให้บริการที่สนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ คือ ถูกต้อง สมบูรณ์ รวดเร็ว
  4. ทำตนให้เป็นศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมโยงแหล่งสารสนเทศอื่นๆ เราไม่ต้องมีทุกอย่าง แต่ต้องรู้ว่าที่ต้องการนั้นจะไปหาได้จากที่ไหน

ปัญหาและอุปสรรค

  1. ความช่ำชองและรู้ลึกในเรื่องต่างๆ ยังไม่กระจายไปยังบุคลากรทุกคน ต้องหมั่นฝึกฝน พัฒนาตน และต้องใส่ใจกับงานที่ทำ อย่างน้อยต้องเชี่ยวชาญในส่วนที่ตนรับผิดชอบ
  2. ความต้องการของผู้ใช้ที่หลากหลายมากเกินกว่าที่ห้องสมุดจะสนองตอบได้ ด้วยข้อจำกัดในหลายๆ ทาง ทำให้ห้องสมุดไม่สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้ครบถ้วน เช่น เรื่องสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ไอที ฯลฯ แต่อย่างน้อยห้องสมุดต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในขอบเขตที่เหมาะสม
  3. ทัศนคติเชิงบวกและความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางของมหาวิทยาลัย อาจารย์วจารณ์เปรียบเทียบว่าการศึกษายุคใหม่ อาจารย์จะไม่ใช่ผู้สอน แต่จะทำหน้าที่เสมือนโค้ช ดังนั้นห้องสมุดซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการเรียนการสอน จึงอาจเปรียบได้กับผู้ช่วยโค้ช ทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของโค้ชในด้านต่างๆ

——————————————————————————————————————————————————————————
โดย  อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข