Home » จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ » การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (8 กันยายน 2559 : หอศิลปฯ กรุงเทพฯ)

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (8 กันยายน 2559 : หอศิลปฯ กรุงเทพฯ)

การอบรมโครงการความรู้พิพิธภัณฑศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์
เรื่อง “การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ”
โดย กลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ และ
กลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

วันที่ 8 กันยายน 2559
สถานที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

กรณีศึกษาของครั้งนี้อยู่ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยผู้ร่วมสัมมนาจะต้องเข้าชมและศึกษาการจัดนิทรรศการและเก็บเกี่ยว Content ที่ได้ นำมาอภิปรายร่วมกันเพื่อตกผลึกประเด็นสำคัญ นิทรรศการที่เข้าชมประกอบด้วย

  • นิทรรศการภาพเขียน “ร้อยริ้วสรรพสีสรร” ตำนานชีวิตและสังคม โดย ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
  • นิทรรศการ “ตึก” โดยศิลปิน ไตรรัตน์ ศรีบุรินทร์
  • นิทรรศการ “เดินสู่หนไหน?” โดยศิลปินชาวเกาหลี Koo Youenmo
  • นิทรรศการ “แรงงาน ไม่มีประวัติศาสตร์” โดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (ประเทศเยอรมนี)
  • นิทรรศการ ดาราภาพยนตร์ไทยเทิดไท้ครองราชย์ 70 ปี

การจัดนิทรรศการงานศิลปะ จะแตกต่างจากนิทรรศการที่ให้ความรู้ทั่วไป เนื่องจากการเสพศิลปะมุ่งเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งจะมีความแตกต่างในหลายเรื่อง เช่น ประสบการณ์ ทัศนคติ การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ แต่ศิลปะมีความเป็นสากล ไม่มีข้อจำกัดด้าน Content ขึ้นอยู่ที่ผู้ชมจะตีความตามจินตนาการและประสบการณ์ของตนเอง

จุดที่น่าสนใจของนิทรรศการคือการให้ผู้เข้าชมเป็นผู้ถ่ายทอด Content เอง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นิทรรศการภาพถ่ายดาราฯ ซึ่งจะไม่มีคำบรรยายเลย มีเพียงชื่อดาราในภาพ แต่ข้อมูลต่างๆ จะพรั่งพรูจากตัวผู้เข้าชมเองว่าดาราคนนี้คือใคร แสดงหนังเรื่องอะไร โดดเด่นยังไง มีเรื่องน่าสนใจอะไร ฯลฯ เหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านบทสนทนา เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าชม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เกิดมีบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีและทำให้การชมนิทรรศการไม่น่าเบื่อ

เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิทรรศการของหอศิลปฯ ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหอศิลปฯและการดำเนินงาน การจัดงานของหอศิลปฯ จะมีการทำ Research และวางแผนล่วงหน้าปีต่อปี เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการด้านต่างๆ การเสพงานศิลปะของคนไทยยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ทีมงานจึงวางเป้าหมายที่จะปลูกฝังค่านิยมและความรู้ด้านศิลปะแก่เยาวชน โดยเริ่มจากการประสานกับครูศิลปะในโรงเรียนของ กทม. ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

ช่วงบ่ายฟังการบรรยายจาก อาจารย์ธม เกตุวงศา จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์และเทรนด์ของพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นที่การนำเสนอกรณีศึกษาพิพิธภัณฑ์ในประเทศแถบยุโรป หลักใหญ่ที่นับเป็นประเด็นสำคัญที่มักหลงลืมคือ การกำหนด Position ให้แน่นอนก่อนว่า พิพิะภัณฑ์ของเรายืนอยู่ ณ จุดใด หากตอบโจทย์นี้ได้ แนวทางการดำเนินงานที่เหลือจะราบรื่นขึ้นโดยไม่หลงทิศทาง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงตัวตนของพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เข้าชมเข้าใจได้ชัดเจนว่าจะได้พบกับอะไร และยังเป็นจุดขายที่ดีสำหรับการทำการตลาดต่อไปด้วย เช่น พิพิธภัณฑ์ไวน์ในบอร์กโดซ์ ประกาศว่าตนคือศูนย์กลางของไวน์ทั่วโลก แท้จริงแล้วเมืองอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศสต่างก็ขึ้นชื่อเรื่องไวน์ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องที่บอร์กโดซ์เท่านั้น แต่เมื่อบอร์กโดซ์ประกาศจุดยืนเช่นนี้จึงกลายเป็นที่เข้าใจและได้รับการยอมรับว่าหากจะชิมไวน์รสเลิศหรือศึกษาประวัติศาสตร์ของไวน์ ต้องมาที่ Wine Museum ที่บอร์กโดซ์

อีกจุดหนึ่งที่มักถูกมองข้ามหรือถูกจับแยกจากงานพิพิธภัณฑ์ทั้งที่ไม่ควรคือ งานด้านจดหมายเหตุ (Archives) เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักเข้าใจสถานะของพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบของ Collection ด้านวัตถุจัดแสดง แต่สิ่งเหล่านี้จะได้มาหรือจะได้ข้อมูลก็ต้องอาศัย จดหมายเหตุ ซึ่งจดหมายเหตุมิใช่เพียงเอกสาร แต่ยังหมายถึงตัววัตถุหรือสื่อประเภทอื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ไม่ควรละเลยงานจดหมายเหตุ

ส่วนการจัดนิทรรศการให้เหมาะกับเทรนด์นั้นคงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ขึ้นกับไอเดียและภัณฑารักษ์ที่ต้องก้าวตามให้ทันต่อสถานการณ์โลกและการเปลี่ยนแปลงของสังคม

BACC_3175นิทรรศการภาพถ่ายดาราภาพยนตร์เทิดไท้ครองราชย์ 70 ปี

BACC_3000การเรียนนอกสถานที่ของเด็กนักเรียนชั้นประถม

BACC_2731บรรยากาศการอภิปราย

Comments are closed.