Home » จดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ » การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (15 กันยายน 2559 : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ (15 กันยายน 2559 : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

การอบรมโครงการความรู้พิพิธภัณฑศึกษาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์
เรื่อง “การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์แบบบูรณาการ”
โดย กลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ และ
กลุ่มวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม : นายอภิชัย อารยะเจริญชัย

วันที่ 15 กันยายน 2559
สถานที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศึกษาเรื่อง การบริหารองค์กรเพื่อสังคม เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าและมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงเกิดปัญหาด้านต่างๆ ตามมามากมาย และยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกขณะจนเกินกว่าที่หน่วยงานของรัฐจะรับมือได้ จึงเกิดองค์กรสาธารณประโยชน์ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ก่อเกิดองค์กรเครือข่ายที่มีเป้าหมายในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ซึ่งกิจการเพื่อสังคมจะมีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากองค์กรภาคเอกชนทั่วไป ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจเป็นหลัก แตกต่างจากกิจกรรม CSR ตรงที่เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคมและเป็นองค์กรที่สร้างรายได้ สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน และนำรายได้กลับมาลงทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป

กรณีศึกษาที่ได้เรียนรู้คือ การดำเนินงานของ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ท่านทรงตั้งพระทัยที่จะพัฒนาดอยตุงซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพราะต้นไม้ถูกตัดจนกลายเป็นเขาหัวโล้น ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวดอยซึ่งไม่มีเอกสารประจำตัว ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ แม้ในช่วงแรกจะประสบปัญหามากมาย แต่ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของมูลนิธิ จึงทำให้โครงการประสบผลสำเร็จ และยังกลายเป็นโมเดลระดับชาติที่ต่างประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ประสบคล้ายๆ กัน เช่น เมียนมาร์ อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย

20160915_134615_Richtone(HDR)พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โฉมใหม่ (เฉพาะตึกหน้า ส่วนอื่นยังคงเดิม)

ช่วงบ่ายเข้าชมและศึกษาการดำเนินงานของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เกิดประเด็นคำถามถึงการดำเนินกิจกรรมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในหลายแง่มุม โดยเฉพาะการดึงดูดให้เยาวชนเข้ามาชม ความเห็นโดยรวมเชื่อว่าครอบครัวคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะปลูกฝังให้เยาวชนหันมาสนใจ และต้องพยายามลบภาพลักษณ์เดิมของความเชื่อเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ว่าคือที่เก็บของเก่า ขณะที่ตัวพิพิธภัณฑ์ต้องปรับบทบาทและสถานะของตนเองให้สอดคล้องไปกับสภานการณ์โลกและการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ทุกคนก็ยังคลางใจเรื่องแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ สภาพเศรษฐกิจ การคมนาคม โอกาสทางการศึกษา ฯลฯ

จุดหนึ่งที่มีการถกกันคือประเด็นของการส่งคืนวัตถุพิพิธภัณฑ์กลับไปยังแหล่งที่มาดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันมีหลายท้องถิ่นที่ติดต่อมายังส่วนกลางเพื่อขอคืนวัตถุพิพิธภัณฑ์นำกลับไปจัดแสดงยังที่ดั้งเดิม แต่ส่วนกลางยังคงเป็นห่วงว่าการดูแลจะได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่ แนวคิดนี้ ICOM ก็ได้ตระหนักและสนับสนุน แต่ก็น่าสงสัยว่าแล้วทำไมพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ หลายแห่งในประเทศที่เจริญแล้ว กลับยังเพิกเฉย?

20160915_153022บรรยากาศการเสวนา

Comments are closed.