หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ราชวงศ์จักรีกับคณะวิทยาศาสตร์ > เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528

          ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ ทรงเข้าศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยทรงร่วมสอบคัดเลือกเช่นเดียวกับนักเรียนอื่น ๆ เมื่อทรงอยู่ชั้นปีที่สอง ทรงเลือกสาขาวิชาเคมีเป็นวิชาเอก เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในปีการศึกษา 2521 ทรงได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

          สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเลือกศึกษาวิชาเคมี เนื่องจากทรงตั้งปณิธานว่าจะทรงนำความรู้มาใช้ในงานทดลองของโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่างปิดภาคเรียนชั้นปีที่ 3 ทรงปฏิบัติการฝึกงานตามกฎเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย โดยเสด็จไปฝึกงาน ณ กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย

          หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเข้ารับการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวิชาอินทรีย์เคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยคะแนนยอดเยี่ยม มหาวิทยาลัมหิดลจึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อน ทรงเริ่มการศึกษาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528

          ระหว่างที่ทรงศึกษา ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถทั้งในการศึกษาและการวิจัย ทรงทำการวิจัยสองเรื่องได้แก่ การวิจัยส่วนประกอบของกระชายเหลืองหรือกระชายแกง ซึ่งมีสรรพคุณทั้งในทางยาไทยและการบริโภคโดยทั่วไป และการวิจัยเกี่ยวกับยา วิธีการในการสังเคราะห์สารเคมี นำมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยยารักษาโรค ด้านการเกษตร หรือด้านอุตสาหกรรม เช่น การสังเคราะห์อนุพันธ์ของสารฆ่าแมลงบางชนิด 1

1 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2531). พระประวัติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี. ใน 30 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2501-2531. กรุงเทพ : ฤทธิศรีการพิมพ์.

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ทรงสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2528 ณ ห้องประชุมร็อคกี้เฟลเลอร์ คณะวิทยาศาสตร์
โดยมีคณะกรรมการควบคุมการศึกษาและวิทยานิพนธ์ และคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ประกอบด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล (ประธานกรรมการ) ดร.พิทยา ตันติเวชวุฒิกุล (กรรมการ)
และ ดร.ปทุมรัตน์ ตู้จินดา (กรรมการ)
(ภาพจาก หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล)

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ฉายพระรูปร่วมกับคณาจารย์ บัณฑิต นักศึกษา และบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์
ในวันเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (สาขาวิชาเคมีอินทรีย์)
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528
(ภาพจาก หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล)

หมายเหตุ : ภาพจาก หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์