"ตึกกลม" ศูนย์รวมใจชาววิทยาศาสตร์

“ตึกกลม” คือชื่อที่ชาวคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ใช้เรียกขานแทนชื่อ อาคารเรียนรวม หรือ Lecture Center ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับการเรียนการสอนแล้ว ตึกกลมยังถูกปรับเปลี่ยนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมอื่น ๆ ใช้จัดเสวนาทางวิชาการ เป็นสถานที่รับน้อง เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ไว้นัดพบ ติวหนังสือ นั่งคุยกันยามว่าง พอตกเย็นก็จะกลายเป็นสถานที่ออกกำลังกาย และอื่น ๆ อีกมากมาย

อันที่จริงเมื่อพูดถึงตึกกลม หลายคนอาจนึกไปว่าตึกนี้มีรูปทรง (Form) เป็นทรงกลม แต่แท้จริงแล้วที่เรียกเช่นนี้เพราะเมื่อมองจากด้านบนลงมา (Plan) จะเห็นเป็นรูปวงกลมขนาดใหญ่ ยิ่งอยู่ท่ามกลางสวนป่าของคณะแล้ว มองไกล ๆ อาจนึกว่ามีจานบินมาลงจอดก็เป็นได้ นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อีกหลายคนเรียกตึกนี้ว่า "ตึกจานบิน"

ตึกกลม อยู่คู่กับคณะวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 มีอายุยาวนานเกินกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลไทย และจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ แบ่งกันออกฝ่ายละครึ่ง สิ้นเงินค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ 4 ล้านบาท ออกแบบโดย อาจารย์อมร ศรีวงศ์ ซึ่งนอกจากตึกกลมหลังนี้แล้ว ผลงานที่โดดเด่นของท่าน ได้แก่ “ตึกฟักทอง” ของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาคารคณะสังคมศาสตร์ (หอดูดาว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งอาจารย์อมรเล่าให้ฟังว่า ใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็เขียนร่างต้นแบบเสร็จ

“อ.สตางค์ เดินมาบอกผมว่า จะมีประชุม ครม. อาทิตย์หน้า คุณไปเขียน Master Plan มาให้เสร็จ ... มันก็ต้องเสร็จเพราะมันกระชั้นมาก...”

เดิมทีนั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่บริเวณถนนศรีอยุธยา โดยใช้ชื่อเดิมว่า “โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” มี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ก่อตั้ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดการเรียนการสอนเตรียมแพทย์และเตรียมวิชาประเภทอื่น ๆ สำหรับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 จากการผลักดันของท่านอาจารย์สตางค์ รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะขึ้นเป็น “คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์” เปิดสอนหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้ทำการเปลี่ยนชื่อ เป็น “คณะวิทยาศาสตร์” ในเวลาต่อมา

เมื่อครั้งเริ่มตั้งคณะฯ อาจารย์สตางค์ ต้องพาอาจารย์และลูกศิษย์ไปอาศัยเรียนที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ขณะนั้นมีอาจารย์อยู่ 10 ท่าน มีนักศึกษารุ่นแรก 65 คน จนกระทั่งย้ายมาที่ตึกใหม่ ที่ถนนศรีอยุธยา บริเวณที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ในปัจจุบัน มีเรื่องเล่าว่าอาจารย์สตางค์หวงตึกใหม่นี่มาก ท่านบ่นว่า พวกอาจารย์สาว ๆ นี่ชอบมาเดินแฟชั่นทำพื้นเป็นรอยหมด เพราะสมัยนั้นสาว ๆ นิยมสวมรองเท้าส้นสูงตามแฟชั่นนิยม

ปี พ.ศ. 2511 คณะฯ จึงได้ย้ายที่ทำการมายังบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน โดยทำการก่อสร้างอาคารขึ้นพร้อม ๆ กับโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งสมัยนั้นบริเวณนี้เป็นย่านชุมชนแออัด เรียกกันว่า สลัมสะพานเสาวณีย์

“พื้นที่แถวนี้มันเป็นสลัมเก่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ท่านให้เทศบาลเอาขยะมาถมแล้วก็เกลี่ยให้เรียบ ขยะที่ไม่สลายตัวมันก็เยอะ แต่กว่ามันจะเซตตัวก็คงนาน ...” อาจารย์อมร เล่าถึงที่มาของพื้นที่

การสร้างอาคารใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์สำเร็จได้จากความตั้งใจและทุ่มเทของ “อาจารย์สตางค์” ในการติดต่อขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นธรรมดาที่เงินทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลย่อมไม่เพียงพอในการสร้างอาคารและการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ และรวมถึงบุคลากร ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุด แต่อุปสรรคดังกล่าวก็หมดไป เมื่อมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ยินยอมมอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่ามูลค่าถึง 200 ล้านบาท และยังให้การสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือรวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์จากต่างประเทศมาช่วยสอน

“... 400 ล้านนี่มันรวมทั้งเครื่องมือ ค่าจ้าง ที่จะก่อตั้งคณะ สารพัดนะ ไอ้ 400 นี่ ร็อคกี้เฟลเลอร์ ให้มา 200 แล้วก็ อ.สตางค์ ก่อนที่จะได้จากร็อคกี้เฟลเลอร์ แกก็ไปร้านทอง เซ่ง เฮง หลี ... ไปจ้างเค้าทำเรือสุพรรณหงส์ สมัยโน้น 4 หมื่นกว่าบาท ควักกระเป๋าตัวเอง เอาไปให้หัวหน้าร็อคกี้เฟลเลอร์ ... ควักกระเป๋าตัวเองทำให้ราชการ ผมก็เห็นมีคนนี้นี่แหละ...”

หลังจากที่ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณพร้อมทั้งสถานที่แห่งใหม่ โครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ก็เริ่มขึ้น สำหรับ "ตึกกลม" นั้น อาจารย์อมรเล่าถึงที่มาที่ไปของการสร้างอาคารให้ในรูปแบบ "กลม" ไว้อย่างน่าสนใจ

"... เวลาเราออกแบบเราต้องการอะไรที่ไม่ไปซ้ำกับของเดิม ขั้นแรกก็ต้องทำตัวเองให้หายไปก่อน ถ้าเราไปถือตัวตนไว้ ทุกอย่างมันก็ตัน อะไรที่ดีกว่าหรือใหม่กว่าเราก็ไม่กล้าทำ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยคำสอนของศาสนาพุทธคืออนัตตา ถ้าไม่มีเราแล้ว ไม่เอาตัวเราไปเกี่ยวข้อง มันก็ออกมาเป็นรูปร่างให้เรา มันเป็นสัจธรรม เป็นของที่ไม่ตาย มีคุณค่าในตัวของมันเอง ก็ไม่ใช่ว่าผมออกแบบเก่ง เพียงแต่แยกแยะให้ออกเท่านั้นว่าอะไรคืออะไร ...

... ทุกตารางนิ้วในห้องนั้นเสียงมันต้องเท่ากันหมด จะให้มุมโน้นด้อยกว่ามุมนี้ มุมนี้ดีกว่ามุมโน้นมันก็ไม่ถูกต้อง พยายามให้ทุกเก้าอี้ได้มองเห็น ได้ฟังเสียงเท่ากันหมด เป็นอีกประเด็นที่เราตั้งไว้ แต่ถ้าอย่างเมื่อกี้ที่พูด คือถ้าเอาตัวเราไปขวางอยู่มันก็บังไปหมด ถ้าเราไปตั้งในจุดที่ถูก สิ่งที่ถูกมันก็เกิดขึ้น มันจะเหมือนใครไม่เหมือนใครช่างมัน แต่ว่าเราทำสิ่งที่ถูก ให้แน่ใจ มันก็จบ..."

ความโดดเด่นของตึกกลมมิใช่เพียงรูปร่างที่แปลกตาเท่านั้น แต่เรื่องของประโยชน์ใช้สอยก็นับว่าดีเยี่ยมตามแนวคิด Follow to Function คือออกแบบมาเพื่อการใช้สอยอย่างแท้จริง ประกอบได้ด้วยห้องบรรยาย 5 ห้อง ขนาด 250 ที่นั่ง 4 ห้อง (L02-L05) และ หนึ่งห้องขนาดใหญ่ขนาดจุ 500 ที่นั่ง (L01) สำหรับห้องใหญ่นี้นอกจากจะใช้บรรยายรวมแล้ว ยังถูกใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ ที่ต้องการจุคนจำนวนมาก อย่างงานไหว้ครูประจำปี งานปาฐกถาพิเศษ งานประชุมวิชาการต่าง ๆ เป็นต้น

จากแนวคิดที่ว่า ห้องเหลี่ยมไม่เหมาะแก่การจัดบรรยาย เนื่องจากเสียงที่กระจายอย่างไม่สม่ำเสมอ มีการสะท้อนของเสียงมากเกินไป รวมทั้งการมองเห็นผู้บรรยายที่ไม่เท่ากัน จึงมีการออกแบบห้องบรรยายในลักษณะที่ป้านออก มีผู้บรรยายเป็นจุดศูนย์รวมสายตา เสียงบรรยายกระจายไปทั่วทุกจุดอย่างเท่าเทียม ส่วนด้านล่างของอาคารเป็นพื้นที่โล่งสำหรับทำกิจกรรมของนักศึกษา เจาะหลังคาเป็นช่องเพื่ออาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติ บริเวณพื้นผิวอาคารส่วนที่เป็นเพดานด้านนอกใช้แผ่นไม้กระดานกดทาบให้คอนกรีตเยิ้มออกมาเป็นทางเพื่อสร้าง Texture ให้ดูน่าสนใจ ส่วนฐานของโครงสร้างใช้ก้อนหินคละขนาดก่อเป็นฐาน ขณะที่หลังคาที่เรียงตัวอย่างเป็นระเบียบดูสวยงามก็ใช้กระเบื้องที่ทำในประเทศราคาสมัยนั้นแผ่นละไม่ถึง 10 บาท ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้มากทีเดียว จากงบประมาณในการสร้างตึกหลังนี้ที่ได้มา 4 ล้านบาท

ตึกกลมได้อยู่คู่ชาวคณะวิทยาศาสตร์มาอย่างเนิ่นนานจนในปี พ.ศ. 2553 จึงได้รับการคัดเลือกจาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2553 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ

นับเป็นเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษที่ตึกกลมได้อยู่เคียงคู่กับคณะวิทยาศาสตร์ จนกลายเป็น Landmark สำคัญ และเป็นดั่งสัญลักษณ์คู่กับคณะฯ จนแยกกันไม่ออก คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่าคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล คงจะคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไปอีกโข หากปราศจากอาคารรูปร่างสะดุดตาหลังนี้ และเชื่อว่าชาวคณะวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะรุ่นไหน ๆ คงให้ความรักและความสำคัญกับ "ตึกกลม" เสมือนครูผู้ประสาทวิชาจนเติบใหญ่ขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติสืบไป

"อาจารย์อมร ศรีวงศ์" ผู้ให้กำเนิดตำนาน "ตึกกลม"
ตึกกลมได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ จาก สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
พิธีรดน้ำศพ อาจารย์อมร ศรีวงศ์ สถาปนิกอาวุโสผู้ออกแบบอาคารเรียนรวม (ตึกกลม)

แหล่งที่มา :
1. อมร ศรีวงศ์. (13 กรกฎาคม 2550). สัมภาษณ์.
2. อมร ศรีวงศ์. (12 พฤศจิกายน 2553). สัมภาษณ์.
3. Nopporn Saigerdsri. (2005, October). Form Follows Function. Wallpaper, 1(2) : หน้า 60-64.

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล