รางวัลเชิดชูเกียรติ

พื้นที่บริเวณใกล้กับหอเกียรติยศนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้จัดเป็นพื้นที่จัดแสดงโล่ ประกาศเกียรติคุณ และรางวัลเชิดชูเกียรติของคณาจารย์ หน่วยงาน และบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่เป็นรางวัลภายในประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โล่ประกาศเกียรติคุณรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังได้รวบรวมโล่ที่ระลึกและของที่ระลึกจากงานประชุมต่าง ๆ รวมถึงจากผู้มาเยือนจากต่างสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก อนึ่ง โล่รางวัล ประกาศเกียรติคุณ ของที่ระลึก ฯลฯ ที่นำมาจัดแสดง ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของรางวัลทั้งที่เป็นในนามบุคคลหรือหน่วยงาน ในสังกัดของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หากท่านที่มีความประสงค์จะมอบให้หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ คุณอภิชัย อารยะเจริญชัย โทร. 0 2201 5716 / apichai.ara@mahidol.ac.th

รางวัลเชิดชูเกียรติหน่วยงานและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ

รางวัลมหิดลทยากร
รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล
เมธีวิจัยอาวุโส
รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (TTSF)
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น
รางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโส สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และ รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชปถัมภ์
ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”

รางวัลมหิดลทยากร

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งรางวัลมหิดลทยากรมอบให้แก่ศิษย์เก่า ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีแห่งมงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เป็นการยกย่องประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เพื่อส่งเสริมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลให้ทำความดี ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล



^ Go to top

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจ แก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่าง ๆ ซึ่งผู้ได้รับรางวัล จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และได้รับรางวัลเงินสด





    รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ
  • พ.ศ. 2520 : ผศ. ดร.ประดน จาติกวนิช ภาควิชาสรีรวิทยา
  • พ.ศ. 2530 : อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
  • พ.ศ. 2544 : ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล งานสารสนเทศและห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข
  • พ.ศ. 2549 : ผศ.บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ์ ภาควิชาสรีรวิทยา
  • พ.ศ. 2550 : ผศ. ดร.สุนันทา วิบูลย์จันทร์ ภาควิชาเคมี
  • พ.ศ. 2556 : นายคำรณ โชธนะโชติ งานบริหาร คณะวิทยาศาสตร์


^ Go to top

เมธีวิจัยอาวุโส

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้การสนับสนุน ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เพื่อสนับสนุนนักวิจัยระดับสูงที่มีความสามารถ มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เป็นนักวิจัยที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างกลุ่มวิจัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่ประชาคมวิจัยระดับประเทศ ให้เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาและคลังความรู้ของประเทศในระยะยาว โดยผู้ที่ได้รับทุนจะได้รับการยกย่องเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” และจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย จะใช้วิธีการสรรหาและเสนอชื่อโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ได้รับทุนต้องเป็นนักวิจัยชั้นนำที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ มีจริยธรรมที่ดี มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าทีมวิจัย สามารถพัฒนาทีมงาน พัฒนาผลงาน และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่

ปี พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเรื่อง “พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562” โดยกำหนดให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปปฏิบัติหน้าที่เป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือเรียกโดยย่อว่า “สกสว.” ด้วยเหตุนี้ รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส จึงโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รายนามคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย
1. ศ.เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ภาควิชาชีววิทยา : พ.ศ. 2538, 2542
2. ศ. ดร.เสาวรภย์ บัวเล็ก ภาควิชาเคมี : พ.ศ. 2538
3. ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ภาควิชาเคมี : พ.ศ. 2539, 2543, 2546
4. ศ.เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ ภาควิชาชีวเคมี : พ.ศ. 2539, 2543
5. ศ.เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม ภาควิชาชีวเคมี : พ.ศ. 2539, 2543, 2546
6. ศ.เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ : พ.ศ. 2540, 2544, 2547
7. ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ ภาควิชาเคมี : พ.ศ. 2540, 2544
8. ศ.เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ : พ.ศ. 2540
9. ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี ภาควิชาคณิตศาสตร์ : พ.ศ. 2542, 2545
10. ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ภาควิชาชีวเคมี : พ.ศ. 2544, 2547
11. ศ.เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ : พ.ศ. 2545
12. ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา : พ.ศ. 2547
13. ศ. ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ภาควิชาเคมี : พ.ศ. 2551, 2554
14. ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ภาควิชาชีวเคมี : พ.ศ. 2556, 2559
15. ศ.อาวุโส ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ภาควิชาสรีรวิทยา : พ.ศ. 2557, 2560
16. ศ.พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ : พ.ศ. 2559, 2562


^ Go to top

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (TTSF)

Toray Industries, Inc. ก่อตั้งมูลนิธิ The Toray Science Foundation ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2503 ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย ต่อมามูลนิธิฯ ได้ขยายความช่วยเหลือมายังประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ให้การสนับสนุนเยาวชน อาจารย์ และสถาบันทางวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2536 ได้ก่อตั้ง มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย (TTSF) ด้วยเงินบริจาค 40 ล้านบาท เป็นกองทุนถาวรเพื่อนำดอกผลมาใช้ในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยและมอบรางวัลให้แก่หน่วยงาน บุคคล หรือผู้ที่ค้นคว้าอันเป็นประโยชน์กับวงการวิทยาศาสตร์ ให้การสนับสนุนครู-อาจารย์ที่สอนในระดับมัธยมศึกษา ให้มีการเสริมสร้างความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยการคิดสร้างสื่อการสอนและการทดลองที่น่าสนใจ แบ่งออกเป็น

1) รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Awards)
2) ทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and technology Research Grants)
3) รางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ (Science Education Awards)

การมอบรางวัลและทุนดังกล่าวเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 โดยหน่วยงานและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเรฯ มีดังนี้

พ.ศ. 2537 : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ประเภทสถาบัน)
พ.ศ. 2538 : ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ภาควิชาเคมี (ประเภทบุคคล)
พ.ศ. 2539 : ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล ภาควิชาชีวเคมี (ประเภทบุคคล)
พ.ศ. 2543 : คณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ประเภทสถาบัน)
พ.ศ. 2546 : ศ.เกียรติคุณ ดร.วิทยา มีวุฒิสม ภาควิชาจุลชีววิทยา (ประเภทบุคคล)
พ.ศ. 2553 : ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ประเภทสถาบัน)
พ.ศ. 2556 : ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา (ประเภทบุคคล)
พ.ศ. 2560 : ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ประเภทสถาบัน)


^ Go to top

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยผู้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการ หรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่น ที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม และเป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมกันมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ โดยผลงานวิจัย สร้างคุณูปการ และเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงชุมชน สังคม และ เชิงนโยบาย อย่างต่อเนื่อง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยผู้อื่นได้

รายนามคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ มีดังนี้

สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
พ.ศ. 2541 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
พ.ศ. 2565 : ศ.พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล

สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
พ.ศ. 2539 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์
พ.ศ. 2543 : ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย บุญแสง
พ.ศ. 2546 : ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัฒน์
พ.ศ. 2547 : ศ.เกียรติคุณ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
พ.ศ. 2548 : ศ.เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล
พ.ศ. 2549 : ศ.เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม
พ.ศ. 2551 : ศ.เกียรติคุณ ดร.มนัส พรหมโคตร
พ.ศ. 2555 : ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น
พ.ศ. 2557 : ศ.เกียรติคุณ ดร. ภญ.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์
พ.ศ. 2566 : ศ.เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร

สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
พ.ศ. 2529 : ศ.เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
พ.ศ. 2554 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน
พ.ศ. 2556 : ศ. ดร.ทิมโมที เฟลเกล


^ Go to top

ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น

ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสระดับศาสตราจารย์ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น ให้ได้มีโอกาสพัฒนาและผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีผลกระทบทางวิชาการสูง หรือมีศักยภาพสูงมากในการนำไปต่อยอดหรือก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ ก่อให้เกิดผลดีในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบาย

ผู้มีคุณสมบัติได้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ต้องเป็นศาสตราจารย์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว และปฏิบัติงานเต็มเวลาในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย มีผลงานที่มีคุณภาพสูง สร้างผลกระทบต่อวงวิชาการและ/หรือสังคม มีผลงานการวิจัยในสาขาที่เชี่ยวชาญในระดับแนวหน้าอย่างต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ควรได้รับรางวัลในระดับชาติหรือนานาชาติ หรือผ่านการรับทุนวิจัยหลักอื่นมาแล้ว อาทิ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นนักวิจัยระดับแนวหน้าอย่างแท้จริง

งบประมาณโครงการเป็นการร่วมสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด

ปี พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเรื่อง “พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562” โดยกำหนดให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปปฏิบัติหน้าที่เป็น “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือเรียกโดยย่อว่า “สกสว.” ด้วยเหตุนี้ รางวัลศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น จึงโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

รายนามคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น
พ.ศ. 2552 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
พ.ศ. 2556 : ศ.เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม ภาควิชาชีวเคมี
พ.ศ. 2557 : ศ.เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ภาควิชาสรีรวิทยา
พ.ศ. 2563 : ศ.อาวุโส ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ภาควิชาสรีรวิทยา


^ Go to top

รางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโส
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

กระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มีผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการหลายรุ่น ได้แก่ รุ่นอาวุโสผู้มีคุณูปการต่อวงการ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นที่มีผลงานบุกเบิกทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เปรียบเสมือนดาวรุ่ง เหล่านี้นอกจากจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อกระวบการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นปูชนียบุคคลสำคัญที่ควรค่าแก่การยึดถือเป็นแบบอย่าง

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ จึงริเริ่มรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์อาวุโสสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และดำเนินการสรรหานักวิทยาศาสตร์อาวุโสผู้มีคุณสมบัติคู่ควรกับรางวัลดังกล่าว โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เมื่อ พ.ศ. 2525 ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับรางวัลโล่พระราชทานในฐานะนักวิทยาศาสตร์อาวุโส ในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้บุกเบิกและสัมฤทธิ์ผลทางวิทยาศาสตร์ มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมและสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ และเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่นับถือของสังคม

คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโส มีดังนี้
พ.ศ. 2537 : ศ.เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ
พ.ศ. 2548 : ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ
พ.ศ. 2553 : ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนฑล
พ.ศ. 2554 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
พ.ศ. 2556 : ศ.เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
พ.ศ. 2558 : รศ. ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์
พ.ศ. 2559 : รศ. ดร.นัยพินิจ คชภักดี


^ Go to top

รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ครู คือผู้สั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างคน ให้เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็นนักคิด มีวินัย ความรับผิดชอบ ยุติธรรม ฝึกคนให้เป็นผู้ที่มีทั้งคุณธรรมคู่กับองค์ความรู้ จนได้คนที่มีคุณภาพ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ตระหนักถึงความสำคัญของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ จึงจัดตั้งโครงการสรรหาหรือคัดเลือกครูวิทยาศาสตร์ดีเด่นสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจ แด่ครูวิทยาศาสตร์ผู้มีใจศรัทธาในวิชาชีพ

โครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ครูวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ และส่งเสริมให้กำลังใจแด่ครูวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มสถานภาพของครูวิทยาศาสตร์ให้สูงยิ่งขึ้น โดยแบ่งรางวัลเป็นสี่ประเภท ได้แก่ ระดับอุดมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และ ระดับประถมศึกษา

คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับอุดมศึกษา มีดังนี้
พ.ศ. 2540 : ผศ. ดร.สุนันทา วิบูลย์จันทร์ ภาควิชาเคมี
พ.ศ. 2542 : รศ. ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ภาควิชาชีวเคมี
พ.ศ. 2565 : ผศ. ดร.ป๋วย อุ่นใจ ภาควิชาชีววิทยา


^ Go to top

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และ รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชปถัมภ์

ด้วยศักยภาพและความสามารถในการสร้าง/พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติหรือเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และชุมชนในประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีของประเทศนั้น ๆ อย่างมาก ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก

มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงได้จัดให้มีโครงการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา โดยมุ่งหวังเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่น ไม่ว่าจะเป็นนักเทคโนโลยีในภาครัฐหรือภาคเอกชน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักวิชาการและนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถจำนวนมากในประเทศไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้สามารถแข่งขันในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว และด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์

อาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่
พ.ศ. 2548 : รศ. ดร.จิตต์ลัดดา ศักดาพาณิชย์ ภาควิชาเคมี


^ Go to top

ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”

ในปี 2542 บริษัท ลอรีอัล สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส ได้เซ็นสัญญาจับมือกับองค์กรยูเนสโก จัดโครงการรางวัลและทุนวิจัย “For Women In Science” ขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ คือ เพื่อสนับสนุนและให้เกียรติสตรีแห่งสายงานวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเธอจะอยู่ในส่วนใดของโลก และในปี 2545 บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย จำกัด ได้ริเริ่มโครงการดังกล่าวระดับประเทศ ในชื่อ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อ:

  1. 1. ร่วมรณรงค์สร้างโอกาสให้สตรีมีบทบาท และได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น
  2. 2. ร่วมประชาสัมพันธ์ความสามารถของสตรี ที่เป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของงานวิจัย และวิวัฒนาการสำคัญต่าง ๆ อันมีผลต่อคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
  3. 3. ร่วมสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรี มีทุนทรัพย์และความพร้อมในการทำงานวิจัย อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากขึ้น
  4. 4. ร่วมชูความสำคัญของงานวิทยาศาสตร์ และสนับสนุนให้สตรีสนใจสายงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น
  5. 5. เฟ้นหาโครงการงานวิจัยที่น่าสนใจ และสมควรได้รับการนำเสนอ เพื่อชิงทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับสากลต่อไป
  6. 6. ถ่ายทอดเจตนารมณ์ของบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย ในความมุ่งมั่นที่จะร่วมสร้างโอกาส และส่งเสริมคุณภาพของสังคมไทย ให้สมดุล สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้น

    รายนามบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับ ทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
  • พ.ศ. 2546 : ศ. ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์
  • ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
  • โครงการวิจัยเพื่อศึกษาวิทยาภูมิคุ้มกัน เกี่ยวกับการติดเชื้อราในผู้ป่วยโรคเอดส์
  • พ.ศ. 2546 : ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น
  • ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • โครงการวิจัยเพื่อศึกษากลไกการทำงานของเอนไซม์ เพื่อกำจัดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
  • พ.ศ. 2548 : นางวรรณสิกา เกียรติปฐมชัย
  • หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง คณะวิทยาศาสตร์
  • งานวิจัยเพื่อศึกษาหาพาหะของเชื้อไวรัส Taura syndrome (TSV) ด้วยเทคนิค RT – PCR และการพัฒนาวิธีการเก็บเลือดกุ้งบนกระดาษกรอง
  • เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส TSV สาเหตุของโรคในกุ้งขาว
  • พ.ศ. 2550 : ดร.กัลยาณ์ แดงติ๊บ (สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ)
  • หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง คณะวิทยาศาสตร์
  • งานวิจัยกลไกการก่อโรคของไวรัสดวงขาวในกุ้ง เพื่อลดอัตราการตายของกุ้ง
  • พ.ศ. 2550 : ศ. ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ (สาขาวัสดุศาสตร์)
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลการศึกษาน้ำยางธรรมชาติที่ได้มาจากต้นยางพารา ที่ผ่านกระบวนสังเคราะห์ ทำให้คุณสมบัติความคงทนของยางธรรมชาติดีขึ้น
  • พ.ศ. 2555 : ผศ. ดร.อทิตยา ศิริภิญญานนท์ (สาขาเคมี)
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • งานวิจัย เรื่อง “การศึกษาการกระจายขนาดของอนุภาคนาโนเชิงวิศวกรรมในตัวอย่างอาหาร ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค และสิ่งแวดล้อม”
  • พ.ศ. 2558 : รศ. ดร.ศิวพร มีจู สมิธ (สาขาวัสดุศาสตร์)
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลงานวิจัย “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ เพื่อสิ่งแวดล้อม”
  • พ.ศ. 2558 : รศ.ดร.ดารุณี สู้รักรัมย์ (สาขาวิทยาศาสตร์เคมี)
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลงานวิจัย “การสังเคราะห์สารประเภทเซโคลิกแนนที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ”
  • พ.ศ. 2558 : รศ. ดร.มาริสา พลพวก (สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ)
  • ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษากระบวนการออโตฟาจี ซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์
  • เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรีย และวัณโรค”
  • พ.ศ. 2562 : รศ. ดร.พนิดา สุรวัฒนาวงศ์
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลงานวิจัย “การศึกษาการทำงานร่วมกันของโลหะและกรดลิวอิส เพื่อการสลายพันธะคาร์บอนออกซิเจนของแอริลอีเทอร์ ด้วยวิธีคำนวณทางเคมีควอนตัม”
  • พ.ศ. 2562 : รศ. ดร.ศิริลตา ยศแผ่น
  • ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
  • ผลงานวิจัย “การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์สารอินทรีย์วิธีใหม่ ด้วยแนวคิด C-H functionalization
  • สู่การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน”
  • พ.ศ. 2563 : รศ. พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ (ทุนพิเศษ ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยโควิด-19)
  • ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
  • โครงการวิจัย เพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัย วิธีการรักษาโรค วัคซีนของโรค COVID-19 และการติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม
  • และระบาดวิทยา ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2


^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล