ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์
ประวัติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 2510 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2532 ตามลำดับ ท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2520-2523 ปัจจุบันท่านเป็นข้าราชการบำนาญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)
ประวัติการศึกษา
- พ.ศ. 2508 - 2510 : วิทยาศาสตรบัณฑิต(เคมี) คณะวิทยศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์
- พ.ศ. 2511 - 2515 : ดุษฎีบัณฑิต(เคมีอินทรีย์) มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ (ทุนแผนโคลัมโบ)
- พ.ศ. 2518 - 2519 : Post-doctoral Training มหาวิทยาลัยคอแนล ประเทศสหรัฐอเมริกา (ทุนปิโตรเลียมรีเสิซ)
ประวัติการทำงาน
- พ.ศ. 2557 - 2558 : สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
- พ.ศ. 2557 - 2560 : ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
- พ.ศ. 2558 - 2559 : อนุกรรมการขับเคลื่อการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย เพื่อนวัตกรรม ใน คณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
- พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน : คณะกรรมการตัดสินรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น
- พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน : ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thai BISPA)
- ตำแหน่งทางวิชาการ
- พ.ศ. 2510 : อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
- พ.ศ. 2532 : ศาสตราจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปัจจุบัน : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล (2536)
- ตำแหน่งทางบริหาร
- - ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- - คณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
- - ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- - ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- - รองผู้อำนวยการ สวทช. (สายงานพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยี)
เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (2532)
- - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (2535)
- - ศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2549
หน้าที่และกิจกรรมในองค์กรระดับนานาชาติ
- - President, The International Association of Science Park (IASP)
- - Vice President, The International Association of Science Parks (IASP)
- - President, Asia Pacific Division of the International Association of Science Parks (IASP)
- - Consulting Director of the International Board of the International Association of Science Parks (IASP)
- - Scientific Committee of The International Center for Science and High Technology
- - (ICS) ของ United Nations Industrial Development Organization UNIDO
ผลงานเด่น
ขับเคลื่อนงานสอนและงานวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จ ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติและนานาชาติ
1. เขียนตำราที่ทรงคุณค่า
ในวาระที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอกเป็นอย่างดี สามารถผลิตบุคลากรนักวิจัยที่ดีให้แก่ประเทศชาติ ท่านได้ทำวิจัยทางเคมีอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อผนวกงานวิจัยเข้ากับเนื้อหาวิชาเรียนได้อย่างกลมกลืนทั้งการบรรยายในห้องเรียนและนำไปสู่การเขียนตำราทางเคมีอินทรีย์จำนวน 4 เล่ม (ภาษาไทย 2 เล่ม / ภาษาอังกฤษ 2 เล่ม (John Wiley และ CRC Press) ซึ่งยังสามารถนำมาใช้งานได้จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะหนังสือ “Cyclization Reactions” 1994 CRC Press 370 หน้า หนังสือเล่มนี้เขียนร่วมกับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ซึ่งได้รับการ review ที่ดีมาก นับเป็นเกียรติประวัติของนักวิจัยไทยที่ได้รับเชิญให้เขียนหนังสือในระดับ “New Directions Series ของวงการหนังสือวิชาการแนวหน้าของโลก
2. สร้างระบบบริหารจัดการเงินทุนวิจัยจากต่างประเทศ และแนวทางการทำวิจัยที่ตอบสนองต่อความ ต้องการของประเทศ และนานาชาติ
เมื่อดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ฝ่ายการเงิน ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งระบบบริหารจัดการเงินทุนวิจัยจากต่างประเทศของอาจารย์แต่ละท่าน ได้อย่างเป็นระบบ มีความคล่องตัวในการเบิกจ่าย ก่อให้เกิดความสะดวกในการทำงานวิจัยของอาจารย์
นอกจากนี้ ท่านยังได้รับความไว้วางใจจากท่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ให้เป็นหนึ่งในทีมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะกรรมการอำนวยการสถาบัน Innotech มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิด ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ประเทศ และนานาชาติ
3. บุกเบิกพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์
เมื่อท่านเกษียณอายุราชการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านได้นำความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำวิจัย และงานบริหารไปทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และนานาชาติ ในด้านต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเคมีที่สำคัญ ในฐานะผู้บริหารองค์กรทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติ และนานาชาติที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เข้าใจในการบริหารองค์กรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูงทำให้สามารถผลักดันนโยบายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศที่ทำให้การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืนได้
ท่านเป็นผู้บุกเบิกและก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย การก่อตั้งและพัฒนาโครงการ ITAP (Industrial Technology Assistance Program) เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเสริมความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมของเทศ เป็นต้น เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสริมสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศ
4. บุกเบิกพัฒนา SME ในอุตสาหกรรมไทย
ก่อตั้งและพัฒนาโครงการ ITAP (Industrial Technology Program) ตาม Model ของประเทศแคนนาดา โดยมุ่งพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลางให้สามารถแข่งขันได้ และส่งเสริมให้ก้าวขึ้นสู่การทำวิจัยและพัฒนา ในช่วงเริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว การนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแก้ปัญหาเทคโนโลยีให้โรงงานต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ณ ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญไทย 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนมากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผลงาน ณ ปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือไปกว่า 15,000 บริษัท ได้รับผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรม โดยมี บริษัท ได้รับรางวัล International awards ได้แก่ บริษัท ผลิตสินค้าใหม่เป็นรายแรกของโลก บริษัท ผลิตสินค้าใหม่เป็นรายรายแรกของประเทศไทย บริษัท เข้าสู่ตลาดบนโดยสร้างมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งนำไปสู่ยอดขายเพิ่ม กำไรเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม และรัฐได้รับภาษีอากรเพิ่ม
ที่มาข้อมูล : คุณวริศรา ทาทอง สมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล