เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

เหรียญดุษฎีมาลา เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างหนึ่ง เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า เหรียญแพรแถบเป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๕ อันเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งบรรจบครบรอบร้อยปีที่หนึ่ง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเริ่มพระราชวงศ์จักรีสืบราชสันตติวงศ์ยั่งยืนมาจนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้ดำรงรักษาความสามัคคีในราชตระกูลรุ่งเรืองสืบมา ส่วนข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดี มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่บ้านเมือง ก็ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเหรียญดุษฎีมาลา เป็นเหรียญเครื่องประดับสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในราชการแก่ทหารและพลเรือนตามความดีความชอบ

เหรียญดุษฎีมาลาเมื่อแรกสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรา พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยยศสำหรับความชอบเหรียญดุษฎีมาลา ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔ (พุทธศักราช ๒๔๒๕) ขึ้น พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้มีเหรียญดุษฎีมาลา ลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปไข่กะไหล่ทอง ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องล่างมีใบชัยพฤกษ์ไขว้ ด้านหลังมีรูปพระสยามเทวาธิราช ทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ พระหัตถ์ซ้ายทรงพวงมาลา จะสวมที่ตรงจารึกนามผู้รับ เบื้องล่างใต้แท่นที่ประทับมีเลข ๑๒๔๔ ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ ที่ห่วงเหรียญเป็นรูปพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรไขว้รองรับแผ่นโลหะ จารึกอักษรว่า “ทรงยินดี” ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร ริ้วแดงริ้วขาวสำหรับพระราชทานทหารหรือตำรวจ ริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับพระราชทานฝ่ายพลเรือน กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้งสองข้าง จารึกอักษรว่า “ศิลปวิทยา” กลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญสำหรับประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย เหรียญที่พระราชทานสตรี ใช้ห้อยกับแพรแถบ ผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย


(ที่มาภาพ : www.thaimedals.com)

พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา จุลศักราช ๑๒๔๔ นี้ กำหนดให้มีเข็มพระราชทานประกอบกับเหรียญเป็น ๕ ชนิด คือ (๑) เข็มราชการในพระองค์ (๒) เข็มราชการแผ่นดิน (๓) เข็มศิลปวิทยา ๔) เข็มความกรุณา (๕) เข็มกล้าหาญ

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างให้เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันหมายถึงเครื่องประดับเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของพระราชา และทรงจัดไว้ในกลุ่มเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จกล้าหาญ เพื่อพระราชทานแก่ผู้ใช้ความกล้าหาญทางปัญญาความรู้ให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน นับเป็นครั้งแรกที่ผู้มีความสามารถในศิลปวิทยา จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นพิเศษเช่นนี้ ทั้งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในการพัฒนาวิชาความรู้เพื่อปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเมื่อพินิจถึงหลักเกณฑ์การพระราชทาน จะเห็นได้ว่ามีหลักอันเข้มงวดต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่น ๆ คือ จะพระราชทานเฉพาะผู้มีฝีมืออย่างเอกอุ อันเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินที่ไม่มีผู้ใดทำได้เสมอหรือดีกว่า ดังปรากฏในพระราชบัญญัติเครื่องอิสริยยศสำหรับความดีความชอบ เหรียญดุษฎีมาลา จุลศักราช ๑๒๔๔ พุทธศักราช ๒๔๒๕ ว่า

“เข็มที่จาฤกว่าศิลปวิทธยานั้น ไว้สำหรับพระราชทานนักปราชราชกระวี นายช่างแลฝีมือช่างพิเศศต่าง ๆ ที่ได้คิดอย่างสิ่งของที่จะเปนประโยชนทั่วกัน ครั้งแรกคราวแรกฤาชักนำสิ่งของใด ๆ เข้ามาทำมาสร้างขึ้นในแผ่นดิน เปนผลประโยชนต่อบ้านเมืองแลราชการ ฤาผู้ที่แต่งหนังสือตำราวิทธยการต่าง ๆ ที่เปนของเก่าของใหม่ก็ดี ที่เปนคุณต่อแผ่นดิน เปนประโยชนแก่ราชการ เปนผลแก่การค้าขาย ฤาผู้เปนช่างอย่างฝีมือเอก ที่ได้คิดก็ดี ทำเองก็ดี ปรากฏว่าไม่มี ผู้ใดผู้หนึ่งทำได้เสมอดีกว่า แล้วผู้ทำคุณประโยชนดังกล่าวมานี้ ก็จะทรงพระราชดำริวินิจฉัย พระราชทานเข็มชนิดนี้ให้ตามฐานานุรูป”

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานพระบรมราโชบายในการพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่ผู้มีความรู้ในศิลปวิทยา แต่มีพระราชดำริว่าเหรียญดุษฎีมาลานั้นตัวเหรียญมีพระบรมรูปและพระบรมนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่างพระองค์กัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างตราวชิรมาลาขึ้นแทน ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเหรียญพระราชทานแทนเหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการในพระองค์ เข็มราชการแผ่นดิน เข็มความกรุณา และเข็มกล้าหาญ เหรียญและเข็มทั้ง ๔ ชนิดจึงยกเลิกไป คงเหลือแต่เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาเพียงอย่างเดียว

พุทธศักราช ๒๔๘๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงได้มีพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔ ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิม พุทธศักราช ๒๔๒๕ เสีย พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้กำหนดเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ขึ้นใหม่โดยเฉพาะสำหรับพระราชทานแก่ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้เห็นประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว ซึ่งจะได้พระราชทานตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร เหรียญและเข็มคงมีรูปลักษณะเช่นเดิม

การพระราชทานจะพระราชทานให้เป็นสิทธิแก่ผู้รับ แต่ถ้าผู้รับหรือทายาทโดยธรรมของผู้รับกระทำความผิดอย่างร้ายแรง หรือประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ เหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตรเพราะได้จารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทานไว้ด้านหลังของเหรียญแล้ว แต่จะประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา

ระเบียบการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยหลายครั้ง ฉบับปัจจุบันคือ “ระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พุทธศักราช ๒๕๒๑” แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๕๓๒, ๒๕๔๓ และ ๒๕๔๗ สาระสำคัญแห่งระเบียบนี้มีว่า เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เป็นเหรียญซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้พระราชทานเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ

ในการขอพระราชทานให้คำนึงอย่างรอบคอบถึงกรณีความชอบที่ได้ใช้ศิลปวิทยาเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติว่ามีลักษณะถึงขนาดควรจะได้บำเหน็จเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ทั้งนี้ เพื่อให้เหรียญนี้ทรงไว้ซึ่งเกียรติอันสูงและเป็นที่ภาคภูมิใจแก่ผู้ได้รับพระราชทาน ทายาท ครอบครัว และวงศ์ตระกูล ผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • (๑) คิดค้นความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือประดิษฐ์สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ
  • (๒) ปรับปรุงความรู้ ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
  • (๓) ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่ามีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา
  • ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวต้องแสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ


เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สำหรับพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ (ซ้าย) และเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สำหรับพระราชทานแก่พลเรือน (ขวา)
ที่มาภาพ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (๒๕๒๓). เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๒๓. กรุงเทพ : ศิริมิตรการพิมพ์.

การจะเสนอชื่อบุคคลใดเข้ารับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยานั้น ระเบียบดังกล่าวกำหนดผู้มีสิทธิเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาไว้โดยเฉพาะ คือ

  • (๑) กระทรวงทบวงเจ้าสังกัด หรือกระทรวงทบวงที่เกี่ยวข้องกับผลงานของผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทาน
  • (๒) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  • (๓) ราชบัณฑิตยสถาน
  • (๔) สภามหาวิทยาลัยหรือสภาสถาบันอุดมศึกษาที่เทียบเท่ามหาวิทยาลัย
  • (๕) สถาบันที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือ
  • (๖) ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ในสาขาเดียวกันกับผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทาน
  • ทั้งนี้ ให้เสนอชื่อและผลงานของผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

การพิจารณาวินิจฉัยผลงานเพื่อขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา กำหนดให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคน ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัย ในกรณีจำเป็นจะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาพิจารณาให้ความเห็น นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ เป็นกรรมการเฉพาะเรื่องอีกจำนวนไม่เกินสองคนเข้าร่วมพิจารณาก็ได้ กรรมการเฉพาะเรื่องนี้มีสิทธิออกเสียงลงมติในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้น ๆ ด้วย

การพิจารณาผลงานของผู้ซึ่งสมควรจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ให้พิจารณาตามสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง หรือหลายสาขาร่วมกัน ดังนี้ (๑) มนุษยศาสตร์ (๒) ศึกษาศาสตร์ (๓) วิจิตรศิลป์ (๔) สังคมศาสตร์ (๕) นิติศาสตร์ (๖) วิทยาศาสตร์ (๗) วิศวกรรมศาสตร์ (๘) แพทยศาสตร์ (๙) เกษตรศาสตร์ หรือ (๑๐) สาขาวิชาการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา พิจารณาเห็นสมควรให้คณะกรรมการเสนอผลการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จึงให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานต่อไป

เรียบเรียงจาก
๑. กรมศิลปากร. (๒๕๑๔). เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา. กรุงเทพ : โรงพิมพ์การศาสนา.
๒. ทรงสรรค์ นิลกำแหง. (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๑). "เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา บำเหน็จของผู้กล้าหาญทางปัญญาความรู้ให้เป็นคุณแก่แผ่นดิน" วารสารไทย. ๒๙(๑๐๗) : ๔๖-๕๑.

   

รายนามคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ประจำปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห: สาขาวิทยาศาสตร์ (ด้านวิทยาภูมิคุ้มกัน)
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล: สาขาวิทยาศาสตร์
  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข: สาขาวิทยาศาสตร์
  ศาสตราจารย์ ดร.ทิมโมที เฟลเกล: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์: สาขาวิทยาศาสตร์
ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์: สาขาวิทยาศาสตร์
   
   

เอกสารประกอบ

   
   

เหรียญดุษฎีมาลา (เหรียญทรงยินดี)

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พ.ศ. ๒๔๒๕ กำหนดให้มีเข็มพระราชทาน ประกอบด้วยเหรียญ ๕ ชนิด มีลักษณะปลายเป็นดอกปทุมสองข้าง สำหรับใช้กลัดติดกับแถบแพร เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณพิเศษตามสาขาความชอบแห่งผู้ได้รับพระราชทาน ดังนี้

๑. เข็มราชการในพระองค์ สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้รับราชการในพระองค์และรัชทายาท หรือผู้สืบบรมราชตระกูลวงศ์และมีความชอบพิเศษ

๒. เข็มราชการแผ่นดิน สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่มีความชอบ ทำประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการ แต่ยังไม่ควรถึงจะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกและมงกุฎสยาม

๓. เข็มศิลปวิทยา สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ ราชกวี นายช่างและช่างฝีมือพิเศษ ที่ได้คิดริเริ่มประดิษฐ์สิ่งของเป็นแบบอย่างหรือมีคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองและราชการ หรือผู้ที่ได้แต่งหนังสือตำราวิทยากรต่าง ๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน หรือผู้เป็นช่างฝีมืออย่างเอก ไม่มีผู้เสมอ

๔. เข็มความกรุณา สำหรับพระราชทานแก่ผู้มีความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ หรือบริจาคเกื้อกูล หรือช่วยเหลือรักษาผู้ประสบภัยอันตรายให้รอดพ้นด้วยกำลังความสามารถองอาจอย่างสูงถึงอาจเสี่ยงต่อชีวิตตน

๕. เข็มกล้าหาญ สำหรับพระราชทานแก่นายทหารและข้าราชการในกองทัพ ลูกเรือกะลาสี ขุนหมื่นกรมการไพร่หลวง ไพร่สมทั้งหลายที่ได้ต่อสู้ข้าศึกแห่งราชอาณาจักรโดยความภักดีต่อแผ่นดิน และราชการซึ่งการพระราชทานเข็มแต่ละประเภทนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของความชอบ ซึ่งจะประดับที่อกด้านซ้าย และเพื่อให้เหรียญนั้นมีคุณค่าและศักดิ์สิทธิ์ เป็นเกียรติยศเกียรติคุณแก่ผู้ได้รับพระราชทานอย่างแท้จริง จึงมีกฎหมายออกบังคับด้วยว่า ผู้ใดทำเหรียญปลอมขึ้นใช้หรือแอบอ้างใช้เหรียญ และเข็มที่สูงกว่าประดับใช้ จะได้รับโทษอย่างหนัก เหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตรกำกับ เพราะได้จารึกชื่อของผู้ที่ได้รับพระราชทานไว้ด้านหลังของเหรียญแล้ว พร้อมทั้งได้รับพระราชทานเงินเป็นรางวัลอีกด้วย เมื่อผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทที่รักษาไว้เป็นที่ระลึกประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจเรียกคืนได้

ลักษณะของเหรียญ

เป็นเหรียญกลมรี ขนาดกว้าง ๔.๑ เซนติเมตร สูง ๔.๖ เซนติเมตร สร้างด้วยโลหะ ๔ ชนิด คือ ทองคำ เงินกะไหล่ทอง เงิน สำริด ซึ่งเหรียญชนิดทองคำนั้น มีผู้ได้รับพระราชทานน้อยรายมาก พระบาทสมเด็พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลทั่วไป มีดังนี้

พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ แด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด้จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมขุนนครสวรรวรพินิจ (กรมพระนครสวรรวรพินิจ) แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูมินาถ (กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ) และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาชนิดทองคำ โดยพระราชทานเปลี่ยนให้ใหม่จากเดิมเนื้อเงินกะไหล่ทองแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธวงษ์วรเดช (จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงษ์วรเดช) ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา

พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๘ แด่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบูรฉัตรไชยากร (นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์)

พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองคืเจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พระบรมวงศ์เธอกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร)

ส่วนเหรียญดุษฎีมาลาชนิดเงินนั้น มีผู้ได้รับพระราชทานเป็นจำนวนมาก และชนิดสำริดนั้นไม่ปรากฏว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ใดเท่าที่มีผู้ได้รับพระราชทานนั้น ทุกท่านได้รับพระราชทานเข็มที่แสดงคุณวิเศษของผู้ที่ได้รับทุกคน แต่ปรากฏว่ามีผู้มีความชอบ สมควรได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเปล่าเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้รับพระราชทานเข็มประดับแพรแถบเพียงสองท่านคือ บาบู สรัต จันทัสส ชาวอินเดีย ซึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายหนังสือเรื่องเมืองธิเบต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิสันถารโดยสมควรแล้ว พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาให้ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙ แด่หมอทอมซัน ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา จากการที่ได้ช่วยเหลือคราวเรือต่อสู้ไพรินทรล่ม เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙

ด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกตามขอบด้านบนของเหรียญว่า “จุฬาลงกรณว์หัส์สปรม ราชาธิราชิโน” แปลว่า เป็นของพระบรมราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระนามว่า จุฬาลงกรณ์ ขอบล่างเป็นรูปใบชัยพฤกษ์ไขว้กันรองรับพระบรมรูป ใต้พระบรมรูปมีอักษรโรมันขนาดเล็กว่า J.S. & A.B. WYON SC

ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปพระสยามเทวาธิราช ทรงพระขรรค์ยืน แท่นพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัย จะสวมตรงที่จารึกชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทาน ใต้แท่นมีเลข ๑๒๔๔ บอกจุลศักราชปีที่สร้าง และมีอักษรรอบขอบนอกเป็นภาษามคธว่า “สยามิน์ทปรมราชตุฏฐีป์ปเวทน์อิท” แปลว่า เหรียญนี้เป็นเครื่องหมายแสดงความยินดีของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระเจ้ากรุงสยาม ริมขอบนอกของเหรียญมีอักษรว่า “สัพ์เพสสฆภูตาน สมาค์คี วุฑ์ฒิสาธิกา” แปลว่า ความสามัคคีของบุคคลผู้รวมกันเป็นหมู่คณะ ย่อมเป็นเครื่องยังความเจริญให้สำเร็จ เบื้องบนมีพระขรรค์ไชยศรีกับธารพระกรไขว้กัน มีห่วงยึดกับเหรียญและติดกับแผ่นโลหะ จารึกว่า “ทรงยินดี” ใช้ห้อยกับแพรแถบริ้วแดง ริ้วขาว สำหรับฝ่ายทหาร และแพรแถบริ้วขาว ริ้วชมพู สำหรับฝ่ายพลเรือน โดยให้ประดับที่อกเบื้องซ้าย ต่อมาในสมัยพระยาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขขนาดของเหรียญให้เล็กลงกว่าครั้งที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ และต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้มีพระราชบัญญัติกำหนดให้เหรียญดุษฎีมาลาเป็นเหรียญชนิดเงินกะไหล่ทองเพียงชนิดเดียว

ที่มาภาพและข้อมูล :
เหรียญดุษฎีมาลา (เหรียญทรงยินดี). (๒๕๓๗). ใน พระราชประวัติและเหรีญในรัชกาลที่ ๕. หน้า ๖๔-๖๘. กรุงเทพ : กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล