ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ประวัติ l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Yongyuth Yuthavong
B.Sc. (Hons. London), D.Phil. (Oxford)
1984 Outstanding Scientist Award (Biochemistry)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ.สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ เนื่องจาก พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เป็นลุง ได้ให้การสนับสนุนในด้านการศึกษามาโดยตลอด และมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านมากที่สุด

                สมรสกับ นางอรชุมา ยุทธวงศ์ มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ นางสาวณมน ยุทธวงศ์ และ นายรสา ยุทธวงศ์

การศึกษา

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจบมัธยมปลาย (พ.ศ. 2503) และเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนจบเตรียมแพทยศาสตร์ ต่อมาได้รับการชักชวนจาก ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้คิดตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ เคมีในเวลาต่อมา จึงสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาที่อังกฤษ ตามความต้องการของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับปริญญาตรีเคมี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (พ.ศ. 2509) และปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (พ.ศ. 2512) ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2541) และมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2548)

การทำงาน

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2512) จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ (พ.ศ. 2526) และศาสตราจารย์ระดับ 11 (พ.ศ. 2532) ตามลำดับ ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (พ.ศ. 2516-8) กับ ศาสตราจารย์พอล บอเยอร์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล) ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์เยี่ยม ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (พ.ศ. 2533) และ Distinguished Scholar-in-Residence ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (พ.ศ. 2551) งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเฉพาะกลุ่มของยาที่เรียกว่า แอนติโฟเลต และชีวเคมีพื้นฐานของมาลาเรีย

                นอกจากนั้นแล้วยังเป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลงานที่สำคัญ คือการค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ในเชื้อที่เป็นเป้าหมายของยา ได้ค้นพบโครงสร้างของเอ็นไซม์นี้ ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 112 เรื่อง เขียนหนังสือและตำรา 11 เรื่อง สิทธิบัตร 3 เรื่อง เป็นผู้มีผลงานเด่นในเรื่องเกี่ยวกับมาลาเรียและนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย และค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและคุณสมบัติหลายประการของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย และความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กับอาการของโรคนี้ทางโลหิตวิทยา ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์และใช้สารโฟเลต อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2528 ถึงปี พ.ศ. 2534 และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2535 ถึงปี พ.ศ. 2541 และภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

เกียรติประวัติ

พ.ศ. 2527 : ได้รับรางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2541 : ได้รับรางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียน  
พ.ศ. 2545 : ได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น (2545)
พ.ศ. 2546 : ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. จากการได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยสูงสุด
พ.ศ. 2547 : ได้รับรางวัล Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จากนิกเกอิ ประเทศญี่ปุ่น
พ.ศ. 2547 : ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ
พ.ศ. 2549 : ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสามสิบห้าคนผู้มีบทบาทสูงต่อประเทศไทย ในช่วงสามสิบห้าปีที่ผ่านมา
                   โดย หนังสือพิมพ์ The Nation
พ.ศ. 2554 : ได้รับการยกย่องเป็น "นักวิทยาศาสตร์อาวุโส" จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2554)
พ.ศ. 2564 : ได้รับการแต่งตั้งจาก WHO Science Council ให้เป็น 1 ใน 9 ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก
                   เพื่อให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภายใต้ Director General's Science Council
พ.ศ. 2564 : ได้รับรางวัลเกียรติยศนักเคมีอาวุโส สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และมหาวชิรมงกุฏ
พ.ศ. 2565 : เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
(Professor Dr.Yongyuth Yuthavong)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2527

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 3/2527 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาขาชีวเคมี ได้บุกเบิกศึกษา อิทธิพลของเชื้อมาลาเรีย ต่อคุณสมบัติของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดง อันมีผลต่อกลไกของ การทำงานของยารักษามาลาเรีย จนสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติ ให้ประจักษ์ชัดโดยทั่วไป และเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อายุ 40 ปี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ.สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาใน สหราชอาณาจักร ระหว่าง พ.ศ. 2505-2512 สำเร็จการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม อันดับหนึ่ง สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2509 ได้รับปริญญาเอก วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต ทางอินทรีย์เคมี จากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด เมื่อ พ.ศ. 2512 แล้วกลับมารับราชการ เป็นอาจารย์เอก ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา ไปทำวิจัยหลังปริญญาเอก ด้านพลังงานชีวภาพ และเยื่อเซลล์ ณ มหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลิส ระหว่าง พ.ศ. 2515-2517 ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้ทำงานวิจัย อย่างต่อเนื่องตลอดมา ตั้งแต่วัยศึกษาเล่าเรียน จนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ด้านสังคม และด้านบริหาร อาทิ เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ เคยเป็นนายกสภาสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นบรรณาธิการวารสาร ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนถึงปัจจุบันเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการ และที่ปรึกษา ของคณะกรรมการ และองค์การระดับนานาชาติ เช่น ยูเนสโก องค์การอนามัยโลก รวมทั้งเป็นที่ปรึกษา ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ในปัจจุบันด้วย โดยที่ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้มีผลงานวิชาการอย่างดีเด่น ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2526 เมื่อมีอายุเพียง 39 ปี

                ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นอาจารย์ชั้นนำ เป็นนักวิจัย และเป็นผู้นำกลุ่มวิจัย ที่ได้พบว่า เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่เยื่อหุ้ม เช่น การเปลี่ยนแปลงของการลำเลียงคัลเซียมไอออนส์ผ่านเยื่อ การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกลของเยื่อ รวมทั้งความสามารถในการหลอม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลสะท้อนต่อการอยู่รอด และการขยายปริมาณของเชื้อ ดังนั้น การศึกษาดังกล่าว จึงช่วยให้สามารถอธิบาย พยาธิสภาพบางประการ ของโรคมาลาเรียได้ และทำให้เข้าใจกลไกของการทำงาน ของยาต้านมาลาเรียบางตัวได้

                ผลงานด้านการวิจัย และความสามารถส่วนตัวเชิงการบริหาร และเชิงผู้นำกลุ่ม ของ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้ทำให้องค์การอนามัยโลก ได้สนับสนุนกลุ่มวิจัยนี้ ในด้านการวิจัย และฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคเมืองร้อนที่สำคัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521-2526 และจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในด้านการวิจัยทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน

                ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นนักวิจัย เป็นผู้นำกลุ่มวิจัย เป็นครู เป็นนักบริหารที่สามารถ และเป็นที่ปรึกษาขององค์การสำคัญ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ หลายองค์การ ได้ทำงานอุทิศตนเพื่อการวิจัย และงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างทุ่มเท ทั้งในระดับลงมือทำการวิจัยเอง ร่วมทำการวิจัยกับผู้อื่น ควบคุมการวิจัยของศิษย์ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้มีความคิดอ่านเฉียบแหลม มองการณ์ไกล มีหลักการมีเหตุมีผล จึงได้รับความไว้วางใจ ในการทำงานในระดับชาติ ในการร่างนโยบาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของประเทศไทย ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำ ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่มีงานจนล้นมือ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ก็เป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็น สุขุม มีอัธยาศัยน่านิยม พร้อมเสมอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ศิษย์ แก่เพื่อน แก่ทุกคนที่ช่วยผลักดันงานวิทยาศาสตร์

                โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ และคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ยกย่องให้ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปี พ.ศ. 2527

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2527).
                         รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๗ : ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.พุฒิพงศ์ วรวุฒิ, ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์.
                         กรุงเทพ : มูลนิธิ. ISBN 974-7576-65-1

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                "ความสำเร็จมาทีหลัง ความผิดหวังมาก่อน"

                ผมได้รับความสำเร็จดีทีเดียวจากความพยายาม ผมทึ่งในเคมีของสิ่งมีชีวิตมาก และเลือกที่จะสอนและทำวิจัยทางชีวเคมีความพยายามที่จะหาความรู้ความเข้าใจใหม่ทางด้านนี้ มาเองตามธรรมชาติ และผมรู้สึกย่อท้อบ้าง แม้เมื่อการทดลองล้มเหลว ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่เมื่อการทดลองได้รับความสำเร็จเป็นครั้งคราวนั้น ความเหนื่อยยากย่อท้อที่มาจากความล้มเหลวในเบื้องต้นก็อันตรธานไปหมดสิ้น ความตระหนักว่า นี่เป็นความรู้ใหม่ และเราเป็นคนแรกที่ค้นพบ เป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่มนุษย์พึงมีได้

                เมื่อผมได้มาใช้ชีวิตเป็นนักวิจัยเต็มตัว ผมได้เข้าใจว่า งานของผมนั้นเป็นความพยายามที่จะประสบความล้มเหลวเป็นส่วนมาก นาน ๆ ครั้งจึงจะประสบความสำเร็จสักที ทั้งนี้ เพราะงานวิจัยเป็นงานในแดนสนธยาของความรู้ ส่วนใหญ่จะพลาดและล้มเหลว เพราะยังไม่รู้ แต่ในความพลาดและล้มเหลวนั้นเอง มีเชื้อของความสำเร็จอยู่ด้วย เพราะได้เรียนรู้ว่าทำไมจึงพลาด ทำไมจึงล้มเหลว และทำอย่างไรจึงอาจไม่พลาดและล้มเหลว ถ้าจะใช้ภาษาเชิงพาณิชย์ก็คือ นักวิจัยที่ดีเป็นผู้ที่เรียนรู้ที่จะแปลงหนี้สินแห่งความล้มเหลว เป็นทุนสู่ความสำเร็จนั่นเอง มีบางครั้ง ความล้มเหลวกลับนำไปสู่ความสำเร็จที่ดียิ่งกว่าที่เดิมคาดไว้เสียอีก ตัวอย่างเช่น จากการค้นคว้าด้านกลไกการทำงานของยามาลาเรีย ผมต้องผิดหวังต่อผลการทดลองที่ไม่เป็นดังคาด ต่อเมื่อได้ติดตามเรื่องต่อไป จึงได้ค้นพบกลไกการดื้อยาแบบใหม่ ที่เดิมไม่ได้คาดคิด ความพยายามสร้างระบบสนับสนุนการวิจัย และสถาบันวิจัยของไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงต้นมีความยากลำบากมาก แต่ในที่สุด ก็สามารถช่วยกันชี้แจงให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ จนมีการก่อตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และหน่วยงานอื่นที่ประกอบกันเป็นระบบสนับสนุนและดำเนินการวิจัยในระดับชาติได้ ดังในปัจจุบัน

                ผมได้พบว่า การที่ไม่ย่อท้อเมื่อล้มเหลวนั้น สามารถนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด ในงานนอกห้องแล็บก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้เมื่อมีความผิดพลาด เพื่อไม่ให้ทำความผิดซ้ำซาก และต้องหาแนวทางใหม่ ๆ มิฉะนั้นแล้ว การมุ่งพยายามแต่อย่างเดียว อาจกลับเป็นการเอา "หัวชนกำแพง" ได้

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล