คณะวิทยาศาสตร์เมื่อแรกเริ่ม

            ได้รับการประกาศจัดตั้งในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในนาม โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เบื้องต้น เพื่อจัดการศึกษาเตรียมแพทย์ และเตรียมประเภท
วิชาอื่น ๆ ขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยใช้สถานที่ที่ตึกเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีแรก และย้ายมายังอาคารเรียนใหม่ ณ ถนนศรีอยุธยา ในปีต่อมา

พ.ศ. 2503      รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดหลักสูตรการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงระดับปริญญาตรี-โท (และเอก ในเวลาต่อมา) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีท่านแรก

พ.ศ. 2507      เริ่มดำเนินการกำหนดนโยบายในการเตรียมจัดตั้งภาควิชาปรีคลินิก ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีความแตกต่างจากคณะวิทยาศาสตร์ที่อื่น ๆ คือมุ่งหมายให้นักศึกษาที่เข้าเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน 2 ปี ได้เรียนปรีคลินิก 2 ปี แล้วได้ปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยหวังว่าจะมีส่วนหนึ่งเรียนต่อให้จบถึงปริญญาเอก เพื่อเป็นอาจารย์ทางปรีคลินิกต่อไป และส่วนหนึ่งเรียนต่อทางแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจะมีการก่อตั้งใหม่ (คือ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี) นโยบายเรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะนักศึกษาเรียนต่อแพทย์ที่คณะแพทย์กันหมด แต่นโยบายในการจะให้คณะเป็นสถาบันชั้นนำในภูมิภาคได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง

พ.ศ. 2508      รัฐบาลอนุมัติเงินงบประมาณและที่ดินที่ถนนพระรามที่ 6 ให้ก่อสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ในวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2508 การก่อสร้างเป็นอาคาร 5 หลัง 6 ชั้น มีอาคารเรียนรวมเป็นตึกชั้นเดียวทรงกลมรูปร่างแปลกตา เป็นจุดสนใจสำหรับคณะสร้างใหม่ เรียกกันว่า ตึกกลม หรือ ตึกจานบิน ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ถึง พ.ศ. 2510

พ.ศ. 2511      คณะวิทยาศาสตร์ฯ ได้ย้ายสถานที่ตั้งมาพื้นที่บนถนนพระรามที่ 6 ตรงข้ามกระทรวงอุตสาหกรรม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดตึกทดลองวิทยาศาสตร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนที่ดิน 40 ไร่ และงบประมาณร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ก่อสร้างอาคารบรรยายและอาคารทดลองวิทยาศาสตร์ พร้อมอุปกรณ์วิจัยที่ทันสมัย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ยังได้ติดต่อขอความช่วยเหลือ จากองค์กรต่างประเทศอื่น ๆ เพื่อขอความสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย จนทำให้คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นฐานปฏิบัติการวิจัยที่สำคัญที่สุดของประเทศและของภูมิภาคในขณะนั้น

พ.ศ. 2512      มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ใช้พระนามาภิไธย "มหิดล" เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 และประกาศเป็น "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512" ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 1 มีนาคม 2512 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ใช้ชื่อใหม่เป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจนถึงปัจจุบัน

            ในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำภาควิชาปรีคลินิก ทั้ง 6 สาขา ในช่วงเวลาต่างกัน ภาควิชาที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่เมื่อครั้งที่คณะอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาใน (พ.ศ. 2507-2509) ประกอบด้วย ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จุลชีววิทยา ชีวเคมี และสรีรวิทยา ส่วนภาควิชาเภสัชวิทยา และพยาธิชีววิทยา ก่อตั้งใน พ.ศ. 2511 และ 2512 เมื่อคณะได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนพระราม 6 ทุกภาควิชาจะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่หัวหน้าภาค และเป็นอาจารย์ผู้สอนอีกภาคละ 3 คน เมื่อถึง พ.ศ. 2513 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เริ่มทยอยส่งผู้เชี่ยวชาญกลับสหรัฐอเมริกายกเว้นหัวหน้าภาควิชาเมื่อ อาจารย์ชาวไทยที่จบการศึกษาปริญญาเอกทยอยกลับมาทำหน้าที่สอน จนถึง พ.ศ. 2518 ผู้เชี่ยวชาญจึงเดินทางกลับทั้งหมด อาจารย์ไทยได้รับหน้าที่หัวหน้าภาคต่อไป

            หัวหน้าภาควิชาและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้ มาวางรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาปรีคลินิก และวางแผนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาตามแบบอย่างการศึกษาในต่างประเทศ นักศึกษาเล่าว่า สิ่งประทับใจตั้งแต่วันแรกของการเรียน คือ วิชาแนะนำการใช้ห้องสมุด การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ต้องศึกษาค้นคว้าช่วยตนเองให้มีความคิดแบบวิจารณญาณ เป็นแบบ Active Learning ไม่มีการแจกชีท มีการปลูกฝังระบบ Honour System ในภาควิชาต่าง ๆ นอกจากนักศึกษาชาวไทยแล้ว ยังมีชาวต่างชาติจากประเทศต่าง ๆ มาศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิสิปปินส์ และพม่า และยังมีนักศึกษาหลังปริญญาเอก (Post Doctoral Fellows) จากหลายประเทศมาศึกษาด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย บรรยากาศที่คณะวิทยาศาสตร์จึงเป็นบรรยากาศการศึกษานานาชาติ มีผลต่อนักศึกษาไทยให้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี สามารถศึกษาค้นคว้าจากตำราภาษาอังกฤษได้ พร้อมทั้งมีประสบการณ์การติดต่อความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ ทำให้เป็นประโยชน์ในการไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

            คณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้นำในการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกทางสาขาวิทยาศาสตร์ เริ่มจากภาควิชาจุลชีววิทยา เป็นหน่วยงานแรกของประเทศที่ได้รับผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก เมื่อ พ.ศ. 2515 ภาควิชาอื่น ๆ ก็ได้ผลิตบัณฑิตปริญญาโท – เอก ออกมาอย่างต่อเนื่อง บัณฑิตเหล่านั้นได้รับใช้สังคมในการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ ทั้งในส่วนกลาง เช่น วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎ และในส่วนภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ยอมรับกันว่าผลผลิตจากคณะวิทยาศาสตร์คุณภาพสูงเทียบเท่ามาตรฐานสากล ผลงานวิจัยก็เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นการสร้างชื่อเสียงของประเทศไทยในวงการวิทยาศาสตร์นานาชาติ

เอกสารอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล :
- ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (26 กุมภาพันธ์ 2511)
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พุทธศักราช 2486 (2 กุมภาพันธ์ 2486)
- พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2501 (21 ตุลาคม 2501)
- พระราชบัญญัติโอนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2502 (2 กันยายน 2502)
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2503 (5 เมษายน 2503)
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2512 (1 มีนาคม พ.ศ. 2512)
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล (18 พฤศจิกายน 2512)

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล