ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ได้เริ่มจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นในปี พ.ศ. 2500 โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิม พรมมาส อธิการบดีของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นได้มอบหมายให้ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ดำนินการจัดตั้งตามความมุ่งหมายเพื่อจัดตั้งเป็นคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทางราชการกองทัพบกได้กรุณาโอนที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ถนนศรีอยุธยามาให้ เป็นเนี้อที่ประมาณ 7 ไร่ ครึ่ง และรัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการก่อสร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับนโยบายสร้างคณะแพทยศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ในปีแรกสถาบันการศึกษานี้มีชี่อเรียกว่า โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการรับนักศึกษาเตรียมแพทย์รุ่นแรกเป็นจำนวน 65 คน ให้คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ในปีต่อมา ทางสถาบันได้ขยายาการรับนักศึกษาของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่จำเป็นต้องศึกษาวิชาด้าน Basic Sciences เป็นเวลาสองปีทั้งหมด เช่นนักศึกษาเตรียมแพทย์สำหรับโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ นักศึกษาเตรียมเภสัชศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ เตรียมเทคนิคการแพย์ เตรียมวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และเตรียมแพทย์ปริญญาและได้ขยายหลักสูตรขั้นปริญญาตรี–โท ในสาขาวิชา Basic Sciences คือวิชาเคมีกายวิภาคศาสตร์ตามลำดับ
ในปี พ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติยกฐานะขึ้นเป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดการศึกษาในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงขั้นระดับปริญญาตรี-โท จำนวนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2501 | มีนักศึกษา | 65 | คน |
พ.ศ. 2502 | มีนักศึกษา | 396 | คน |
พ.ศ. 2503 | มีนักศึกษา | 501 | คน |
พ.ศ. 2504 | มีนักศึกษา | 574 | คน |
พ.ศ. 2505 | มีนักศึกษา | 654 | คน |
พ.ศ. 2506 | มีนักศึกษา | 670 | คน |
พ.ศ. 2507 | มีนักศึกษา | 644 | คน |
พ.ศ. 2508 | มีนักศึกษา | 839 | คน |
พ.ศ. 2509 | มีนักศึกษา | 1,065 | คน |
พ.ศ. 2510 | มีนักศึกษา | 1,223 | คน |
จำนวนอาจารย์
เนื่องจากเป็นสถานบันศึกษาใหม่และอาจารย์ทางด้านวิชา Basic Sciences ก็หาได้ยากมาก ฉะนั้นทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจำเป็นต้องวางโครงการระยะยาวสร้างอาจารย์ของตนเองขึ้นมาตั้งแต่ปีแรกที่ได้ลงมือดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ทางคณะฯ ได้ทำการคัดเลือกนักศึกษาที่เรียนดีมาในปีที่ 1-2 ของคณะฯ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่สอบได้มัธยมปีที่ 8 (ม.ศ. 5) ได้ในพวก 50 คนแรกส่งไปศึกษาวิชาด้านสาขาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนจบปริญญาตรี-โท-เอก ในประเทศออสเตรเลีย นิวซิแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
จำนวนนักศึกษาที่ได้ส่งออกไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ ในขณะนี่มีทั้งหมดประมาณ 40 คน และบางคนเมื่อได้รับปริญญาเอกได้เริ่มทะยอยกลับมาประจำที่คณะฯ แล้ว คาดว่าภายในเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทางคณะฯ จะมีอาจารย์ที่มีมาตราฐานสูงเป็นจำนวนมากพอดู สำหรับที่จะเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของคณะฯ ต่อไปในภายภาคหน้า
การสร้างอาจารย์ตั้งแต่ขั้น Undergraduate ของคณะฯ ได้รับความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จากแผนการโคลัมโบของประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศอังกฤษ และทุนของรัฐบาลไทย นักศึกษาเหล่านี้ส่วนมากกำลังศึกษาทำปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยทุนการศึกษาของมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ หรือทุนของรัฐบาลไทยและที่อังกฤษ โดยทุนของรัฐบาลไทยหรือทุนของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งการช่วยเหลือเกี่ยวกับการสร้างอาจารย์นี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์รู้สึกขอบคุณอย่างสูงแก่บรรดาประเทศและมูลนิธิฯ ที่กล่าวนามมาแล้ว และที่จะเว้นการขอบคุณเสียมิได้ก็คือ เจ้าหน้าที่ของกรมวิเทศสหการ สำนักงบประมาณและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ให้ความร่วมมืออย่างดีที่ยิ่งเกี่ยวกับการสร้างอาจารย์ของคณะฯ ตลอดมา
ในปี พ.ศ.2505 ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทาบทามขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ โดย Dr.Richmod K. Anderson, Associate Director ทาง Natural and Medical Sciences ของมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ได้พิจารณาโครงการวิจัยของคณะฯ ทางมูลนิธิฯ ได้อนุมัติเงินช่วยในการวิจัยครั้งแรก 15,000 เหรียญ และได้ส่งศาสตราจารย์ Dr. James S. Dinning มาช่วยการสอน การวิจัยในสาขาวิชาชีวะเคมี และต่อมาทางมูลนิธิฯ ประจำประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกด้วย
เพื่อจะขอขยายงานของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ก้าวหน้าต่อไปในด้านวิจัยและช่วยขจัดปัญญาหาการขาดแคลนอาจารย์ทางด้านวิชา Basic Sciences ทางคณะฯ ได้ทาบทามขอความช่วยเหลือเป็นโครงการใหญ่ระยาวจากมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ ทางมูลนิธิฯ ได้ให้ความสนใจและช่วยเหลือด้วยดีตลอดมา จนถึงปี พ.ศ. 2508 ทางรัฐบาลไทยได้อนุมัติเงิน งบประมาณและที่ดินหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับสร้างตึกทดลองวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสร้างโรงพยาบาลของคณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดีขึ้น
ในด้านการช่วยเหลือตามโครงการร่วมกับมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์นี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ให้การช่วยเหลืออย่างมากมายในด้านเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ อาจารย์เชี่ยวชาญในสาขาวิชาทาง Basic Sciences ทุนการศึกษาไปศึกษาปริญญาโท-เอก สหรัฐอเมริกาทุน อุดหนุนการวิจัยและห้องสมุดร่วมกับ China Medical Board นอกจากนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้ร่วมมือทางการวิจัยร่วมกับ Department of Nutrition and Food Science มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology จึงได้ให้การช่วยเหลือในด้านเครื่องมือ อาจารย์ และทุนการวิจัยอีกด้วยเช่นเดียวกัน
ในระยะเวลา 10 ปี ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินงานมาทางคณะฯ ได้รับการช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอจากรัฐบาลอังกฤษในด้านผู้เชี่ยวชาญทางวิชาเคมี ทุนการศึกษาและเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์และองค์การสนธิสัญญา SEATO ก็ได้จัดส่งศาสตราจารย์ทางวิชาอินทรีย์เคมีมาช่วยทำการสอนและการวิจัยติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีแล้ว รัฐบาลประเทศเยอรมันตะวันตกก็กำลังเตรียมการหาอาจารย์มาช่วย พร้อมกับให้เครืองมือทดลองวิทยาศาสตร์บางส่วน รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ด้วยเป็นบางส่วนซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอแสดงความขอบคุณในไมตรีจิตอันดียิ่งของบรรดาประเทศต่าง ๆ ที่ได้ให้การช่วยเหลือแก่คณะมาแล้วด้วย
แนวการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
หลังจากที่นักศึกษาได้ผ่านการเรียน Basis Sciences ในคณะฯ มาสองปีแล้ว นักศึกษาจะแยกไปศึกษาในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือบางส่วนจะไปศึกษาในขั้นปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น เคมี ชีววิทยา ชีวะเคมี จุลชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์ ณ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อจบการศึกษาครบหลักสูตร 4 ปี แล้วจะได้รับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต
หลังจากได้ปริญญาตรีแล้ว นักศึกษาบางพยกอาจจะทำการวิจัยทางด้านวิชา Life Sciences ต่อไปถึงขั้นปริญญาโทและเอก ภายใต้การควบคุมการดูแลการดูแลการวิจัยของศาสตราจารย์ ซึ่งทางมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ได้จัดมาช่วยตามโครงการดังกล่าว ส่วนนักศึกษาอีกบางส่วนที่ประสงค์จะศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ก็จะได้ไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีอีก 2 ปีทางด้าน Clinical Sciences เพื่อทำปริญญาต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นแนวการศึกษาแผนใหม่ในอันที่จะได้ให้โอกาสแก่นักศึกษาเลือกเรียนในวิชาที่แต่ละคนมีความจัดเจน โดยเฉพาะ เพื่อนำไปบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
หมายเหตุ : การสะกดคำในบทความนี้ คัดลอกจากต้นฉบับทุกประการ
คัดลอกจาก : ประวัติคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์. ใน หนังสือที่ระลึกในวันเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบ พิธีเปิด ตึกทดลองวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 26 กุมภาพันธ์ 2511. พระนคร : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2511.