อาจารย์สตางค์ในความทรงจำ

รวมข้อเขียนไว้อาลัยถึง “อาจารย์สตางค์”

 

ศาสตราจารย์ นพ.ชัชวาล โอสถานนท์
อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

             “... อาจารย์สตางค์ฯ เป็นผู้ได้ทำประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอย่างมาก ตลอดจนให้แก่การศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็นส่วนรวมเป็นอย่างมากอีกเช่นเดียวกัน เป็นคนที่มองเห็นการณ์ไกลจึงได้เสนอให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขึ้นในปีการศึกษา 2502-2503 เพื่อให้การศึกษาแก่นักศึกษาเตรียมต่าง ๆ ของเราเอง ในปีต่อจึงเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้บริหารงานร่วมกับอาจารย์อื่น ๆ ในคณะเป็นอย่างดียิ่ง จนมาเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
           หลังจากที่ประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ได้เข้ามาประเทศไทยในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2507 และได้แสดงความสนใจที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในทางวิชาการแก่ประเทศไทยแล้ว สำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่ง ดร.กำแหง พลางกูร และ ดร.สตางค์ฯ ไปพบปะกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่สหรัฐอเมริกา และเจรจาขอความช่วยเหลือในทางแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสังคมศาสตร์ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง
           นับได้ว่าอาจารย์สตางค์ฯ เป็นบุคคลสำคัญที่ได้ช่วยดำเนินการให้มูลนิธิได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานในคณะวิทยาศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัย และความช่วยเหลือส่วนหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ...”

คัดจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ. (2514). กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

   
   

ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์
อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            “... ท่านอาจารย์สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องในฐานแห่งผู้ทรงวิทยาคุณ และเป็นผู้ขวนขวายในหน้าที่ราชการอย่างหาได้ยาก ผลงานของท่านปรากฏออกมาชัดแจ้งในการสร้างสรรค์ และลงหลักปักรากฐานคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมาก็ในงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านกำลังทำงานให้แก่ชาติ ให้แก่อนุชนอย่างเข้มแข็งสุดกำลังและได้ผลโดยแท้ ไม่น่าจะด่วนล่วงลับไปเลย ...”

คัดจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ. (2514).
กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

   

ศาสตราจารย์ ดร.บัวเรศ คำทอง
อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

           “ในทัศนะของข้าพเจ้ารู้สึกว่าถ้าคนที่ไม่รู้จักสตางค์อย่างจริงจังมาก่อน อาจเห็นว่าสตางค์นั้นเป็นคนตรงไปตรงมาจนเกินไป จนทำให้ทุกคนรู้สึกว่าสตางค์นั้นพูดไม่อ้อมค้อมแต่เต็มไปด้วยความจริงใจ แต่เนื่องจากข้าพเจ้าใกล้ชิดสตางค์มาตลอด รวมทั้งครูบาอาจารย์เก่าของสตางค์ทุกคนต่างก็เห็นพ้องกันว่าสตางค์นั้นเป็นคนดี ตั้งใจดี ไม่เคยผูกพยาบาทผู้ใด ช่วยเหลือคนไม่เลือกว่ามิตรหรือศัตรู และที่เด่นชัดที่สุดก็คือความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติอันเลิศของสตางค์ หาผู้ที่เสมอเหมือนได้ยาก ดังนั้นการสูญเสียสตางค์ สำหรับข้าพเจ้ารู้สึกว่าเหมือนสูญเสียเพชรน้ำหนึ่งอย่างน่าใจหาย”

คัดจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ. (2514).
กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

   

ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีลนิธิ
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         “... สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าอดชม ดร.สตางค์ ไม่ได้ก็คือความบากบั่นที่จะทำประโยชน์ให้แก่การศึกษาและวิจัยทางเคมีโดยทางลัดและรวดเร็วซึ่งเป็นนิสัยเดิมของ ดร.สตางค์ อยู่แล้วที่ต้องการดำเนินชีวิตให้ก้าวหน้าโดยทางลัดและรวดเร็ว และก็ได้รับความสำเร็จด้วยดีตลอดมา การขอความช่วยเหลือเพื่อประโยชน์และความเจริญในกิจการที่ ดร.สตางค์ กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวไทย ชาวต่างประเทศ จากองค์การภายในหรือนอกประเทศ ดร.สตางค์ ทำได้ดีและได้รับความสำเร็จมาแล้วหลายอย่าง อันยังผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยใหม่ที่สุดในประเทศไทย คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ดร.สตางค์ มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เริ่มจากการได้มาซึ่งที่ดินที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ในขณะนี้ จนกระทั่งการจัดตั้งคณะและแผนกวิชาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยนี้ และกำลังจะเดินไปต่างประเทศเพื่อเจรจาเกี่ยวกับการรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพื่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่น่าเสียดาย และน่าอนาถใจที่มัจจุราชได้มาคร่าชีวิตไปเสียก่อนที่จะได้ไปทำประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแก่มหาวิทยาลัยนี้ เหตุใดหนอคนดี ๆ ที่กำลังจะทำประโยชน์อันใหญ่หลวงให้แก่ประเทศชาติ จึงต้องมาจบชีวิตอย่างกระทันหัน คำตอบนั้นก็คือความไม่เที่ยงแห่งชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่เที่ยงตรงแน่นอนและทุกคนหลีกไม่ได้ก็คือความตาย สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ทำไมไม่ตายเมื่อได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งสำเร็จแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถยิ่งอย่าง ดร.สตางค์ เองก็คงจะตอบปัญหาข้อนี้ไม่ได้ นอกจากจะอาศัยทางศาสนาอธิบายว่าเป็นกรรมของ ดร.สตางค์ นั่นเอง
         ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้จากไปแล้วไม่มีผู้ใดสามารถเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ขอให้คุณงามความดีที่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วได้บำเพ็ญไว้ จงเป็นปัจจัยนำดวงวิญญาณอันผ่อนใสของท่านไปสู่สุคติสัมปรายภพเทอญ...”

คัดจาก : มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ 6 กรกฎาคม 2514. (2514). กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

   

ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล
ราชบัณทิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

         “... ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นผู้ที่พูดตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็บอกว่าไม่ดี ไม่เกรงใจใครในเรื่องงานที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและแก่ประเทศชาติ ความซื่อและตรงไปตรงมาอย่างนี้แหละเป็นที่สพอารมณ์และเจตนาของบรรดาชาวต่างประเทศที่ได้คบสมาคมกับ ดร.สตางค์ อาทิ ผู้แทนของ Ford Foundation และ Rockefeller Foundation จนถึงกับทุ่มเทเงินทองอย่างมหาศาลมาช่วยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
         ความเมตตากรุณา เป็นนิสัยประจำใจของ ดร.สตางค์ สมกับที่ข้าพเจ้าได้ยินสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ปัจจุบันได้กล่าวว่า "คนต่างกับสัตว์ก็เพราะ คนมีความเมตตากรุณา" ฉะนั้นถ้าใครขาดความเมตตากรุณาก็จะไม่ผิดอะไรกับสัตว์ ดร.สตางค์ได้ช่วยเหลือนิสิต นักศึกษาตลอดมา ปากก็ว่ากล่าวต่าง ๆ นานา แก่ผู้ที่ไม่เอาไหนและเรียนไม่ดี แต่ก็เพื่อเป็นการสั่งสอนไปในตัว ส่วนในใจจริงนั้นพร้อมเสมอที่จะเอ็นดูกรุณาช่วยเหลือลูกศิษย์และลูกน้องเสมอ ลูกศิษย์ที่พลาดพลั้งนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะไม่เหี้ยมโหดเอาตกหรือไล่ออกเหมือนกันอาจารย์บางท่าน เปิดโอกาสให้แก้ตัวหรือไม่ก็ช่วยเหลือเอาไว้เสมอ นี่เป็นการสร้างกุศลกรรม ลูกศิษย์คนไหนเรียนดี ก็พยายามช่วยเหลือให้ได้มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่อ ณ ต่างประเทศและสนับสนุนให้เรียนถึงขั้นปริญญาเอก Ph.D. เมื่อกลับมาแล้ว ไม่มีที่อยู่อาศัยก็พยายามช่วยเหลือให้พักอยู่ในคณะก่อน จนกว่าจะหาที่อยู่โดยลำแข้งได้ นี่แหละเป็นการช่วยเหลือด้วยใจจริงกอปรด้วยเมตตาจิต ทำให้อาจารย์นั้น ๆ กลับมาทำงานให้ด้วยความเต็มใจและเต็มความสามารถ ซึ่งเป็นผลดีต่อการศึกษาและต่อประเทศชาติโดยปริยาย
         วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้าไปในห้องของ ดร.สตางค์ ณ ตึกวิทยาศาสตร์การแพทย์เก่าข้างโรงพยาบาลสงฆ์ ข้าพเจ้าได้พบกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เคยมาหาข้าพเจ้า ที่จุฬาฯ มาขอเงินใช้เสมอ ๆ เพราะพ่อของเขาเคยเป็นเพื่อนกับข้าพเจ้าตอนเป็นเด็ก ๆ แต่มาเห็นที่ห้อง Lab ติดกับห้องของ ดร.สตางค์ จึงถามว่ารู้จักเด็กคนนี้ด้วยหรือ ได้รับคำตอบว่าเด็กคนนี้จน จึงช่วยเหลือจ้างให้มาล้างขวดล้างเครื่องแก้วทดลองวิทยาศาสตร์ในห้อง Lab นี่เป็นการแสดงออกมาของความเมตตากรุณาที่มีต่อคนจน คุณธรรมอันดีอย่างหนึ่งของ ดร.สตางค์ ก็คือ ความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อผู้มีพระคุณและต่อบรรดาครูอาจารย์ คุณธรรมอันสูงส่งนี้แหละเป็นกรรมดีที่ ดร.สตางค์ ได้สร้างไว้ กุศลกรรมจึงได้บันดาลให้ผู้ประกอบกรรมดีอันนี้ได้รับความเจริญรุ่งเรืองและลาภยศเห็นทันตา ดร.สตางค์ ได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็ว ได้เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับพระราชทานสายสะพายชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปีนี้
         ดร.สตางค์ ได้ดิบได้ดีแค่ไหนก็ไม่เคยลืมตัว ไม่เคยดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่เคยเย่อหยิ่งอหังการต่อบรรดาครูอาจารย์เก่า ๆ ไม่เคยนึกว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษกว่าผู้อื่น ตอนที่มีข่าวครึกโครมในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องรับนักศึกษาบางคนเข้าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกลูก ๆ ของหมอและผู้มีคุณต่อมหาวิทยาลัยและประเทศชาตินั้น ดร.สตางค์ ได้แถลงอย่างตรงไปตรงมาให้บรรดานักศึกษาทราบว่า กระทำไปเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งมากไม่ทราบว่าจะมีใครรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้าบ้าง คงจะมีไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความนับถือและเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ความดีงามอันนี้แหละที่ทำให้ล้นเกล้ากระหม่อมทั้งสองพระองค์ทรงโปรด ผู้ใหญ่ในวงราชการและเพื่อนฝูงรักใคร่ชอบพอ ตลอดจนกระทั่งบรรดาอาจารย์และลูกศิษย์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รักใคร่และเคารพนับถือมาก ...”

คัดจาก : มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ 6 กรกฎาคม 2514. (2514). กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

 
   

หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักพันธุ์
อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

         “...การสูญเสีย ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการศึกษาของประเทศไทย การที่ท่านต้องถึงแก่กรรมลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้เป็นที่น่าเสียใจและเสียดายอย่างยิ่ง ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ท่านได้ทำประโยชน์ไว้ให้แก่วงการศึกษาของชาตินานัปการ เราทุกคนเชื่อมั่นว่าท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้านอุดมศึกษาให้แก่บ้านเมืองขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นการเสริมรากฐานให้ผู้ร่วมงานรุ่นหลังได้ช่วยกันเสริมสร้างต่อไปโดยสะดวก...”

คัดจาก : มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ 6 กรกฎาคม 2514. (2514). กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์.

   

ศาสตราจารย์ นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ
อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

         “... การสูญเสียบุคคลผู้มีความสำคัญและเป็นกำลังสำคัญต่องานของชาติบ้านเมืองในด้านใดด้านหนึ่ง ในเวลาที่ไม่สมควร ย่อมเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของบุคคลทั่วไปไม่มากก็น้อย การสูญเสียอาจารย์สตางค์ หรือ "ป๋า" ของพวกเรา ซึ่งเป็นผู้ก่อกำเนิดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ริเริ่มและร่วมจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตั้งแต่ไม่มีอิฐสักก้อน จึงเป็นการกระทบกระเทือนต่อบุคคลทั่วไป ผู้ที่อยู่ในวงการมหาวิทยาลัยตลอดจนนักศึกษา ย่อมจะเศร้าสลดมากกว่าบุคคลทั่วไป สำหรับพวกเราซึ่งนับได้ว่าเป็นนักศึกษารุ่นแรกของสถาบัน หลังที่อาจารย์ริเริ่มและดำเนินการมาตลอดคือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว การสูญเสียครั้งนี้ถือเป็นการสูญเสียทั้งอาจารย์ที่เราบูชาเพราะให้ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ทั้งผู้บังคับบัญชาที่เราเคารพเพราะมีความเข้มแข็งและสามารถในการดำเนินงานเพอการศึกษาของชาติ และทั้งผู้ที่พวกเรารัดนับถืออย่างญาติผู้ใหญ่ เพราะอาจารย์มีความเมตตากรุณาต่อพวกเรา ปฏิบัติต่อพวกเราเหมือนลูกหลานตลอดเวลากว่า 13 ปี ที่เราเริ่มเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์มา
         เมื่อ 13 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่เราเริ่มเข้าเรียนเตรียมแพทย์เป็นปีแรกนั้น พวกเรามีด้วยกัน 65 คน มีอาจารย์ "ป๋า" และอาจารย์จบมาใหม่อีก 4 ท่าน เจ้าหน้าที่ทางธุรการอีก 3 คน นั่นคือคณะเราในขณะนั้น อาจารย์เริ่มมาตั้งแต่ยังไม่มีอิฐเลยสักก้อน เราพากันไปอาศัยตึกของคณะอื่นเรียนหลายคณะด้วยกัน เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ความลำบากของพวกเราและอาจารย์ทุกท่านมีมากไม่น้อย แต่เรารู้ดีว่าอาจารย์ "ป๋า" ลำบากกว่ามากในระยะเริ่มต้นนั้น ความลำบากและจำนวนคนน้อยทำให้เราเสมือนเเป็นสมาชิกครอยครัวเดียวกัน จากครอบครัวเล็ก ๆ นี่เอง เพียง 14 ปีให้หลังเราเปลี่ยนจาก โรงเรียนเตรียมแพทย์เชียงใหม่ เป็น คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถานที่ที่นักศึกษาอยากเข้าเรียนมากที่สุดของประเทศเราก็ว่าได้ และยังมีการสอนวิจัยถึงขั้นปริญญาเอก เป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อินเดีย ได้ส่งนักศึกษาบัณฑิตมาเรียนจำนวนมากขึ้นทุกปี เมื่อคิดย้อนหลังแล้วเราภูมิใจในความเจริญของคณะ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเราภูมิใจในฝีมือของอาจารย์ "ป๋า" ของเรา เพราะเรียกได้ว่าด้วยฝีมือของอาจารย์แท้ ๆ ที่เราก้าวหน้ามาถึงขั้นระดับนานาชาติได้ในเวลาอันสั้นเช่นนี้ ไม่ใช่แต่เพียงส่งคนของเราไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก แต่เรากำลังช่วยสอนคนจากต่างประเทศที่มาทำปริญญาเอกกับเราด้วย
         ในเวลาเดียวกัน อาจารย์ยังมีบทบาทในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคทุกแห่งในประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งอาจารย์เริ่มมาในทำนองเดียวกันกับการปั้นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ทีเดียว การเดินทางที่อาจารย์เตรียมตัวไปประเทศองักฤษ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ก็เพื่อหาทุนมาช่วยโครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นั่นเอง ที่ผู้เขียนพูดได้เพราะผู้เขียนทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ความจริงแล้วขณะที่เขียนนี้ ผู้เขียนเองกำลังจะออกเดินทางใน 3-4 ชั่วโมงนี้ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมการอภิปรายทางวิชาการของการประชุมนานาชาติ โดยที่ผู้เขียนจะเดินทางผ่านทางที่อาจารย์ "ป๋า" จะไปอย่างบังเอิญ อาจารย์ถึงนัดให้ไปพบกันระหว่างเดินทาง และโดยที่ผู้เขียนได้ร่วมเขียนโครงการคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วย ผู้เขียนจึงพอจะทราบว่าอาจารย์ "ป๋า" กำลังติดต่อกับต่างประเทศอย่างไร อาจารย์จึงคิดว่าการพบกันระหว่างทางอาจเป็นประโยชน์ต่อโครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ได้ การติดต่อนั้นอาจารย์ทำเองโดยตลอดและทางต่างประเทศเชื่อถือเป็นการส่วนตัว เมื่ออาจารย์ไม่ไปเองเช่นนี้แล้วความหวังที่จะได้ทุนเหล่านี้ย่อมน้อยลง
         จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 13 ปี ที่อาจารย์เริ่มตั้งคณะนี้มา อาจารย์ไม่ได้เพียงแต่ทำให้คณะเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยระดับนานาชาติเท่านั้น อาจารย์กำลังทำให้อีกหนึ่งมหาวิทยาลัยคือสงขลานครินทร์ดำเนินการไปถึงระดับเดียวกัน น่าเสียดายที่อาจารย์ไม่ได้อยู่เพื่อทำให้ถึงเวลานั้น และไม่ได้อยู่ชื่นชมผลงานของท่าน
         คนเราเกิดมาจะหลีกเลี่ยงความตายไม่ได้ แต่การสูญเสียบุคคลอย่างอาจารย์ในเวลาอันไม่สมควร อาจจะทำให้งานที่ยังค้างอยู่กระทบกระเทือนทุกด้าน ในทางส่วนตัวแล้วย่อมมีผู้เศร้าสลดอย่างสุดซึ้งอยู่มาก ผู้ที่อาจารย์เคยมีบุญคุณมายิ่งมากเท่าใดก็ย่อมมีความกระทบกระเทือนจิตใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ
         อาจารย์เป็นผู้ที่เอ็นดูและช่วยเหลือลูกศิษย์มาโดยตลอด สำหรับผู้ที่ขาดแคลนอาจารย์ก็จุนเจือ ลูกศิษย์ที่สำนึกในบุญคุณของอาจารย์ทั้งทางวิชาการและความเมตตากรุณาในด้านต่าง ๆ ในปีหนึ่ง ๆ นั้นมีนับไม่ถ้วน การจากไปของอาจารย์อย่างกระทันหันเช่นนี้ ย่อมทำให้บุคคลเหล่านี้เกิดความเจ็บปวดเกินกว่าที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้ ...”

คัดจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ. (2514).
กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

   
   

Prof. Dr. James S. Dinning
The Rockefeller Foundation

         I consider my eight years of association with Stang the most rewarding years of my life, both personally and professionally. Stang was a close friend, a person to whom I could go for advice and guidance.
         On the professional side it was a genuine pleasure to work with Stang, he had great breadth of vision and absolute dedication to his country. He set very high standards of performance and was able to inspire his associates to meet them. The Faculty of Science, which he created is now known throughout Southeast Asia and indeed throughout the world. I am confident that Stang's associates will continue to develop this Institution and it will remain the greatest memorial that we could leave him.

คัดจาก : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ. (2514).
กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

   
   

เสียงการให้สัมภาษณ์ “อาจารย์สตางค์ ในความทรงจำ”

               บทสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความรู้สึกของบรรดาผู้ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิด “อาจารย์สตางค์” โดยท่านเหล่านี้ได้ให้เกียรติเล่าถึงท่านในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งทางคณะผู้จัดทำได้ติดต่อขอสัมภาษณ์บุคคลดังกล่าว เพื่อบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักท่านอาจารย์ในบางเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเคยรู้และเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านสืบต่อไป

               ท่านผู้มีเกียรติที่ให้ความกรุณาในการสัมภาษณ์ประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “อาจารย์สตางค์” ในสถานะต่าง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ผู้ร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และลูกศิษย์ในปัจจุบันหลายต่อหลายท่านเหล่านี้ ได้กลายเป็นบุคคลสำคัญในวงการต่าง ๆ หรือดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ของประเทศ ซึ่งล้วนแต่มี “อาจารย์สตางค์” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จแทบทั้งสิ้น

 

ศาสตราจารย์ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2542-2550) ลูกศิษย์อาจารย์สตางค์ รุ่นแรก
[ บทสัมภาษณ์ที่ 1 ] [ บทสัมภาษณ์ที่ 2 ]
ศาสตราจารย์ นาวาตรีกำจร มนุญปิจุ ราชบัณฑิตสาขาเคมี
ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานกับท่านอาจารย์สตางค์มาตั้งแต่แรกเริ่มการก่อตั้งคณะฯ
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2514-2518
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุ
ผู้ร่วมก่อตั้งห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข โดยการชักชวนของท่านอาจารย์สตางค์
[ บทสัมภาษณ์ที่ 1 ] [ บทสัมภาษณ์ที่ 2 ] [ บทสัมภาษณ์ที่ 3 ]
ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2518
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์
ประธานมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
ศิษย์เอกคนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
นักชีววิทยาและอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา หัวหน้าโครงการ Biodiversity Research and Training Program (BRT) สวทช.
ลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
ที่ปรึกษาและนักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ โศภน
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2546-2547)
ลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2545-2553)
ศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข
คณบดีคนปัจจุบันของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บุตรชายคนเดียวของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2542-2546, 2547-2550)
หลานชายของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
พลโท ประวิชช์ ตันประเสริฐ
เจ้ากรมแพทย์ทหารบก (พ.ศ.2544-2546)
นักศึกษาเตรียมแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรก ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
รองศาสตราจารย์ ดร.ช่อฟ้า ทองไทย
อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ลูกศิษย์ของท่านอาจารย์สตางค์
นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นแรกของคณะวิทยาศาสตร์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ดร.อุดม จันทรารักษ์ศรี
อดีตผู้อำนวยการโครงการผลิตอาจารย์แพทย์ Ph.D.-M.D. มหาวิทยาลัยมหิดล
ลูกศิษย์สาขาเคมีคนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์
อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2519-2534)
ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
คุณเครือวัลย์ สมณะ
เลขานุการของ อ.สตางค์
อดีตประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (SIPA)
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
Prof. Gordon B. Bailey, Ph.D.
เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ Rockefeller
อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2505-2516
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
ศาสตราจารย์ ดร.เรือน สมณะ
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อดีตอาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ศิษย์คนหนึ่งของท่านอาจารย์สตางค์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]
คุณบุญช่วย มาลัยวรรณ
พนักงานทดลอง 1 ภาควิชาเคมี เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะวิทยาศาสตร์
[ คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ ]