ประวัติและผลงาน
ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ป.ช., ป.ม., ท.จ.
ประวัติ
"อาจารย์สตางค์" เกิดเมื่อ พ.ศ. 2462 ที่จังหวัดจันทบุรี บิดาชื่อนายแจ้ง มงคลสุข มารดาชื่อนางไน้ มงคลสุข มีพี่ชาย 1 คน ชื่อนายแสตมป์ มงคลสุข
จากคำบอกเล่าของบุคคลใกล้ชิดได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ "อาจารย์สตางค์" เกิดนั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนักและเสียงฟ้าร้องดังกึกก้องไปทั่ว ช่อฟ้าหน้าโบสถ์ที่วัดใกล้บ้านได้หักลงมา ท่านสมภารได้เดินทางมาเยี่ยมถึงที่บ้านและผูกดวงให้พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า "สตางค์" หมายถึง "หนึ่งในร้อย" อีกทั้งยังกำชับบิดา มารดาให้เลี้ยงดูเด็กชายสตางค์ให้ดี
"อาจารย์สตางค์" เป็นเด็กที่เรียนดี เฉลียวฉลาด แต่เมื่อจบชั้นมัธยมต้น บิดาของท่านจะไม่ให้เรียนต่อ เนื่องจากขัดสนเรื่องรายได้ จนคุณครูและท่านสมภารต้องมาเกลี้ยกล่อมถึงที่บ้านให้ส่งเสียให้เรียนต่อ ท่านสมภารถึงกับเอ่ยปากว่าหากมีปัญหาอะไรให้ช่วยท่านก็ยินดีจะช่วย และจะยินดีมากหากจะได้มีส่วนส่งเสียให้ได้เล่าเรียนต่อชั้นสูง ๆ แต่ถ้าไม่รับปากท่านสมภารจะนั่งอยู่อย่างนั้นไม่ยอมกลับวัด บิดาของท่านจึงยอมให้เรียนต่อ แต่จะไม่ยอมรบกวนท่านสมภารเด็ดขาดและจะส่งเสียให้เล่าเรียนด้วยตัวของท่านเอง
ท่านได้เข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตและปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อท่านได้รับปริญญาโทแล้ว ก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แผนกเคมี ในปี พ.ศ. 2488 ได้รับเงินเดือน เดือนละ 140 บาท ในขณะนั้นท่านนับเป็นอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง มีนักศึกษาให้ความเคารพและชื่นชมมาก ด้วยความที่ท่านมีภูมิความรู้สูง ฉลาด สอนเร็ว กระฉับกระเฉง มีวิธีสอนที่เข้าใจง่ายและเป็นกันเองกับนักเรียน ถึงแม้ว่าท่านยังเป็นอาจารย์ที่อาวุโสน้อยและยังไม่ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศเหมือนอาจารย์อาวุโสท่านอื่น แต่การสอนของท่านก็ได้รับการยกย่องชื่นชมจากนักเรียนอยู่เสมอ ๆ
ท่านเป็นอาจารย์ที่สอนแบบ Tutorial ที่เก่งที่สุดคนหนึ่ง มีกลวิธีในการสอนที่ดีมากจนเป็นที่พออกพอใจของนักศึกษาทุกกลุ่ม เนื่องจากท่านเข้าใจเลือกปัญหาเลือกจุดสำคัญต่าง ๆ มาเน้น จนมีนักศึกษาบางคนเข้าใจผิดว่าท่านรู้ข้อสอบแล้วนำมาสอนให้นักศึกษา ที่เป็นดังนี้เพราะทุกเรื่องทุกประเด็นที่ท่านนำมาสอนมักตรงกับข้อสอบของอาจารย์เคมีรุ่นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก
ปี พ.ศ. 2490 ท่านได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัย Liverpool ประเทศอังกฤษ จนได้รับปริญญาเอกทางอินทรีย์เคมี สมัยที่ท่านศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่นั้น ได้รับคำชมจากบรรดาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Liverpool อยู่เสมอ
ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เดินทางไปดูงานที่มหาวิทยาลัย Liverpool ได้มีโอกาสพบกับผู้ควบคุมการศึกษาและการวิจัยของท่าน ซึ่งได้ชมเชยให้ฟังว่าท่านเป็นนักเรียนไทยที่มีความสามารถมาก และทำการวิจัยได้ผลดียิ่งกว่านักเรียนไทยคนอื่น ๆ ที่ได้เคยพบมา
ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ ท่านได้เข้ารับราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมาไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดตั้ง “คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์” ขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นท่านทำงานหนักมาก แต่ก็ทำไปได้ด้วยดีและได้รับความสำเร็จอันงดงาม
งานแรกของท่านที่ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก คือการเป็นหัวหน้าดำเนินการศึกษาของนักศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ซึ่งในตอนนั้นยังสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีทั้งสถานที่และอาจารย์ประจำ ต้องอาศัยสถานที่เรียนกันในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ครูบาอาจารย์ของท่านได้แลเห็นถึงความตั้งใจดีและความเอาจริงเอาจัง จึงช่วยกันไปดำเนินการสอนให้ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ไปได้ระยะหนึ่ง
ตลอดเวลาที่ท่านเริ่มงานที่โรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ท่านต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ รวมทั้งการถูกเพ่งเล็งในแง่ที่ไม่งามและดูแคลนอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดความสำเร็จของนักศึกษาแพทย์เชียงใหม่รุ่นแรกก็ปรากฎผล คือเมื่อมีการสอบรวมกับคณะแพทยศาสตร์จากศิริราชและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่านักศึกษาของท่านสามารถทำคะแนนนำเป็นส่วนมาก นับเป็นผลจากการปูพื้นฐานวิชาต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผลสำเร็จนี้สามารถทำให้ท่านขยายงานเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำเร็จในไม่ช้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน
หลังจากที่คณะวิทยาศาตร์การแพทย์เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งระดับประเทศ ท่านได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคเพื่อขยายโอกาสและเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของประเทศ โดยท่านร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ปี พ.ศ. 2514 ได้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทย เมื่อท่านได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่ท่านจะยังคงสถิตอยู่ในใจของทุกคนที่เกี่ยวข้องไปตลอดกาล
การรับราชการ
พ.ศ. 2486 - อาจารย์ผู้ช่วยสอนแผนกเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2488 - อาจารย์โท แผนกเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2490 - ลาราชการเพื่อศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2493 - อาจารย์โท แผนกเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2494 - อาจารย์โท แผนกเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2496 - อาจารย์เอก แผนกเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2501 - ผู้อำนวยการ โรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2502 - ศาสตราจารย์แผนกเคมี มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2503 - รักษาการคณบดี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
พ.ศ. 2503 - คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
(พ.ศ. 2512 เปลี่ยนชื่อเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
พ.ศ. 2511 - ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกตำแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. 2512 - ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกตำแหน่งหนึ่ง
ราชการพิเศษ และหน้าที่ราชการอื่น ๆ
- กรรมการมูลนิธิอานันทมหิดล
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- กรรมการพัฒนามหาวิทยาลัย
- กรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์
- กรรมการดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือในระดับอุดมศึกษา ในด้านแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสังคมศาสตร์
- กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
- กรรมการสอบคัดเลือกผู้ที่จะไปศึกษา ณ ต่างประเทศตามโครงการหลายโครงการ ทั้งของไทยและต่างประเทศ
- กรรมการร่วมกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลีย เพื่อจัดหาอาจารย์จากต่างประเทศ จัดหาทุนให้อาจารย์และนักศึกษาไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ
- เป็นผู้แทนไปประชุมสากลเคมี ตามคำเชิญของสมาคมเคมีประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ
- เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และได้ขยายงานจนเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน
- เป็นผู้ช่วยราชการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และช่วยเหลือด้านต่าง ๆ หลายด้านเรื่อยมา
- ช่วยดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่เริ่มแรกและช่วยเหลือออกแบบห้องทดลอง ช่วยหาอาจารย์ ช่วยให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีสถานที่เรียน ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะสร้างเรียบร้อย โดยให้ทำการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเวลา 2 ปี ครึ่ง และช่วยสอนด้วยตนเองตลอดระยะเวลานั้น
- เป็นผู้ช่วยในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาผู้บริจาคที่ดินให้แก่ราชการจัดหาคณาจารย์ เพื่อทำการสอน ตลอดจนหาทุนช่วยเหลือจากต่างประเทศ
- ดำเนินการขอความช่วยจากต่างประเทศ ให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดังต่อไปนี้
18.1 ประเทศออสเตรเลีย : ให้เครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ เป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนบาท และให้ทุนแก่นักศึกษาไปศึกษาต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ของคณะฯ
กว่า 30 ทุน
18.2 ประเทศอังกฤษ : ให้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนมาก ให้ทุนแก่นักศึกษาหลายสิบคนและส่งอาจารย์ชาวอังกฤษมาช่วยสอนในคณะฯ ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
18.3 ประเทศสหรัฐอเมริกา
18.3.1 มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ : ให้ความช่วยเหลือขยายงานของคณะฯ ระยะยาว โดยให้ทุนการจัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์ สำหรับการวิจัยและการสอน ให้ทุน
การศึกษาสำหรับอาจารย์เพื่อศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงปริญญาเอก เพื่อกลับมาทำการสอนในคณะฯ ให้ตำราเรียนและวารสารวิทยาศาสตร์
มากมาย ส่งผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ จากสหรัฐฯ มาทำการสอน และจัดตั้งภาควิชาต่าง ๆ จนกว่าอาจารย์ไทยจะมีเพียงพอและให้ทุนอื่น ๆ อีกมากเป็นมูลค่า
ทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านบาท
18.3.2 Massachusetts Institute of Technology : เปิดศูนย์การวิจัยสารที่เป็นพิษจากเชื้อราร่วมกับคณะฯ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ได้รับเครื่องมือและเงินทุน
วิจัยหลายล้านบาท และได้ให้ทุนแก่อาจารย์ของคณะฯ เพื่อไปศึกษาต่อด้วย
19. เป็นผู้แทนหรือผู้รับเชิญให้ไปประชุมยังต่างประเทศในเรื่องอื่น ๆ นอกจากการขอความช่วยเหลือและการประชุมทางวิชาการเคมีหลายครั้ง อาทิ รับเชิญจากรัฐบาล
ออสเตรเลียไปประชุม Australlian-New Zealand Association for the Advancement of Sciences, 37th Congress ณ กรุงแคนเบอร่า ในปี พ.ศ. 2507
20. ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เตรียมจะเดินทางไปเจรจาในรายละเอียดเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น แคนาดา อังกฤษ และมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล การเจรจาครั้งนี้เป็นที่คาดกันว่าประเทศและมูลนิธิต่าง ๆ ดังกล่าวจะตกลงช่วยเหลือใน
ด้านการเงิน ทุนการศึกษา และอาจารย์ชาวต่างประเทศ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นหลายสิบล้านบาท แต่ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของส่วนราชการ และบริษัทอุตสาหกรรมหลายแห่ง และมีหน้าที่การงานพิเศษอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ทางราชการ การศึกษา และวงการวิทยาศาสตร์ของชาติทั้งสิ้น
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2495 - เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2496 - จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2498 - ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2505 - ตริตาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2507 - ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2508 - ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2510 - ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2512 - ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
พ.ศ. 2513 - ประถมมาภรณ์ช้างเผือก
- เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
พ.ศ. 2514 - ทุติยจุลจอมเกล้า
ผลงานวิชาการ
- Dean, F. M., Halewood, P., Mongkolsuk, S., Robertson, A., & Whalley, W. B. (1953). Usnic acid. part IX. A revised structure for usnolic acid and the resolution of (±)-usnic acid. Journal of the Chemical Society, 1250-1261. doi:10.1039/JR9530001250
- Mongkolsuk, S., Robertson, A., & Towers, R. (1957). 2:4:3′:5′-tetrahydroxystilbene from Artocarpus lakoocha. Journal of the Chemical Society, 2231-2233. doi:10.1039/JR9570002231
- Loder, J. W., Mongkolsuk, S., Robertson, A., & Whalley, W. B. (1957). Diospyrol, a constituent of Diospyros mollis. Journal of the Chemical Society, 2233-2237.
- Mongkolsuk, Stang, Dean, F. M. (1964). Pinostrobin and Alpinetin from Kaempferia pandurata. Journal of the Chemical Society, 4654-4655.
- Dean, F. M., Mongkolsuk, S., & Podimuang, V. (1965). 150. (+)-pisetinidol from Afzelia xylocarpa. Journal of the Chemical Society, 828-829.
- Mongkolsuk, S., & Sdarwonvivat, C. (1965). 279. 3-methylnaphthalene-1,8-diol from Diospyros mollis. Journal of the Chemical Society, 1533. doi:10.1039/JR9650001511
- Ollis, W. D., Ramsay, M. V. J., Sutherland, I. O., & Mongkolsuk, S. (1965). The constitution of gambogic acid. Tetrahedron, 21(6), 1453-1470. doi:10.1016/S0040-4020(01)98308-5
- Mongkolsuk, S., Dean, F. M., & Houghton, L. E. (1966). Combretol from Combretum quadrangulare. Journal of the Chemical Society C: Organic, 125.
- Falshaw, C. P., Ollis, W. D., Ormand, K. L., Mongkolsuk, S., & Podimuang, V. (1969). The spectroscopic identification of coniferin. Phytochemistry, 8(5), 913-915. doi:10.1016/S0031-9422(00)85883-5
- Podimuang, V., Mongkolsuk, S., Yoshihira, K., & Natori, S. (1971). Constituents of three thai medicinal plants : Ardisia polycephala (myrsinaceae), Rhabdia lycioides (boraginaceae), and Balanophora polyandra (balanophoraceae). Chemical and Pharmaceutical Bulletin, 19(1), 207-208.
เอกสารประวัติศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้อง
1. มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์- พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยแพทยสาตร พ.ศ. 2486. (2486, 2 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 60 ตอนที่ 7. หน้า 212-227.
- พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2501. (2501, 21 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 75 ตอนที่ 82. หน้า 572-578.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน. (2503, 2 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 77 ตอนที่ 65. หน้า 1821.
- พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. 2503. (2503, 5 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 77 ตอนที่ 28. หน้า 285-288.
2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีและรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2511, 30 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 85 ตอนที่ 38. หน้า 1218.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2512, 20 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 86 ตอนที่ 56. ฉบับพิเศษ หน้า 6.
3. กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติและกรรมการบริหาร. (2505, 30 มกราคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 79 ตอนที่ 8. หน้า 170-176.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติและกรรมการบริหาร. (2507, 25 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 81 ตอนที่ 20. หน้า 430-437.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติและกรรมการบริหาร. (2510, 7 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 84 ตอนที่ 13. หน้า 383-391.
- ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติและกรรมการบริหาร. (2513, 19 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 87 ตอนที่ 44. หน้า 1668-1676.
4. กรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
5. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2507, 17 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 81 ตอนที่ 118. ฉบับพิเศษ หน้า 12-247.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2508, 23 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 82 ตอนที่ 111. ฉบับพิเศษ หน้า 22-64.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2510, 30 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 84 ตอนที่ 128. ฉบับพิเศษ หน้า 27-38.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2512, 27 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 86 ตอนที่ 46. ฉบับพิเศษ หน้า 1836-1846.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา. (2513, 10 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 87 ตอนที่ 11. หน้า 518.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2513, 13 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 87 ตอนที่ 122. ฉบับพิเศษ หน้า 25-32.
- แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. (2514, 13 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 88 ตอนที่ 49. ฉบับพิเศษ หน้า 18-26.