หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

1. ภาควิชากายวิภาคศาสตร์

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นโดยศาสตราจารย์ ดร.กำแหง พลางกูร ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 โดยในระยะต้นได้ทำการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบและกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ให้แก่นักศึกษาเตรียมแพทย์และเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่น ๆ ต่อมาได้มีการจัดการเรียนในระดับปริญญาโทด้วย เมื่อปี พ.ศ. 2509 ได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนและการวิจัยครั้งใหญ่ในภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และภาควิชาพรีคลินิคอื่น ๆ เนื่องจาก ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข ได้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิ Rockefeller ทั้งในด้านงบประมาณและกำลังคน โดยเฉพาะได้มีศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน 3 ท่าน ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิฯ เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ให้แก่นักศึกษาแพทย์ที่จะไปศึกษาต่อ ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาถึงขั้นปริญญาเอก เพื่อผลิตอาจารย์พรีคลินิค ในสาขากายวิภาคศาสตร์ซึ่งขาดแคลนอย่างมาก ศาสตราจารย์และอาจารย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเป็นหลักในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและการวิจัยดังกล่าวในช่วงต้น คือ Professor Dr.Robert C. Holland (หัวหน้าภาควิชาคนแรก), Dr.William P. Callahan และ Dr.Vernon L. Yeager โดยแต่ละท่านมีความชำนาญเฉพาะทางคือ Dr.Holland เชี่ยวชาญทางด้านประสาทชีววิทยา Dr.Callahan ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์และเซลล์ชีววิทยา Dr.Yeager ทางด้านมหกายวิภาคศาสตร์

ช่วงต้น พ.ศ. 2500 จากการมองการณ์ไกลของท่านอาจารย์สตางค์ ท่านได้คัดสรรนักเรียนเตรียมแพทย์ฯ ที่มีผลการเรียนดีเด่นเพื่อไปศึกษาต่อยังต่างประเทศทางด้านกายวิภาคศาสตร์และสาขาพรีคลินิคอื่น ๆ เพื่อจะได้มาเป็นแกนในการพัฒนาวิชาการ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและบัณฑิตศึกษา ท่านแรกคือ ศ. ดร.เรือน สมณะ ซึ่งได้ไปศึกษาในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกโดยทุน ก.พ. ที่ University of California, Berkeley และเมื่อ พ.ศ. 2505 ศ. ดร.ประเสริฐ โศภน ได้ไปศึกษาระดับปริญญาตรีโดยทุน Colombo Plan ที่ให้โดยรัฐบาลประเทศออสเตรเลียที่ University of Western Australia และทุน Rockefeller ในระดับปริญญาเอกที่ University of Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้มีอาจารย์ท่านอื่น ๆ ไปศึกษาที่ต่างประเทศในสาขากายวิภาคศาสตร์และสาขาใกล้เคียงด้วยการชักนำของอาจารย์สตางค์ และ Dr.Holland อีกหลายท่าน เช่น รศ. ดร.ชาติชาย ตระกูลรังสิ ที่ U.C. Berkeley, ศ. นพ. ดร.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล ที่ University of Rochester ในขณะเดียวกันก็มีการชักชวนให้นักศึกษาแพทย์ฯ และนักศึกษาวิทยาศาสตร์ที่มีผลการเรียนดีเด่น เข้ามาศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกของภาควิชาฯ จำนวนมาก และที่ได้บรรจุเป็นอาจารย์ซึ่งมีส่วนร่วมพัฒนางานวิชาการของภาควิชาฯ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ศ. นพ. ดร.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ รศ. ดร.เสริมศรี วิเศษสุวรรณ ผศ.สุเทพ จันทร์ผ่อง รศ.ผดุง ว่องพยาบาล รศ.วันทนีย์ ตระกูลรังสิ และรุ่นต่อมาที่อาจจะนับได้ว่าเป็นคลื่นลูกที่สอง ได้แก่ รศ. ดร.ชัยทิพย์ วนิชานนท์ ศ. ดร.ประพีร์ เศรษฐรักษ์ รศ. ดร.จิตติพันธุ์ ชวเดช ศ. ดร.สุขุมาล จงธรรมคุณ ศ. ดร.วิจิตรา เลิศกมลกาญจน์ และ ศ.ยินดี กิติยานันท์ จากนั้นมีการบรรจุอาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาอีกเป็นระยะได้แก่ รศ. ดร.พรจันทร์ สายทองดี รศ. ดร.เจริญศรี ธนบุญสมบัติ รศ. ดร.กนกพรรณ วงศ์ประเสริฐ รศ. ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล รศ. ดร.สมลักษณ์ อสุวพงษ์พัฒนา รศ. ดร.เพิ่มพันธุ์ ธรรมสโรช รศ. ดร.กุลธิดา ชัยธีระยานนท์ รศ. ดร.ไกร มีมล ผศ. ดร.รพีพรรณ วานิชวิริยกิจ นับได้ว่าเป็นคลื่นลูกที่สาม

จากนั้นเริ่มบรรจุอาจารย์ใหม่ทดแทนอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ ได้แก่ ดร.สมยศ ศรีดุรงค์ฤทธิ์ ดร.สิทธิพล อินทรพัฒน์ ผศ. ดร.วรวิทย์ ศุภมั่งมี นพ.ชินวุฒิ สุริยนเปล่งแสง ดร.มนสิชา สมฤทธิ์ ได้รับการโอนย้ายอาจารย์เพิ่มเติมได้แก่ รศ. ดร.ยสวันต์ ตินิกุล ดร.มรกต สร้อยระย้า ดร.ธันยาภรณ์ เสนารายณ์ และแพทย์ใช้ทุน นพ.ปัณณวัฒน์ ตรีรัตนวงศ์ พวกเราได้ร่วมกันอุทิศทั้งกำลังกายและกำลังใจในการพัฒนางานการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านกายวิภาคศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ได้เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขากายวิภาคศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ทางกายวิภาคศาสตร์และชีววิทยาระดับเซลล์และโมเลกุล เพื่อปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นนักวิจัยในหน่วยงานของภาครัฐ และองค์กรเอกชน บัณฑิตเหล่านี้ได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับงานในหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี และมีชื่อเสียงในวงการวิชาการ

ภาควิชาฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทั้งปริญญาโทและเอก ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 และได้มีหลักสูตรปรับปรุงใหม่มีเนื้อหาที่ทันสมัยทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกโดยใช้ชื่อหลักสูตรเป็น “สาขากายวิภาคศาสตร์และชีววิทยาโครงสร้าง” (Anatomy and Structural Biology) ทั้งนี้เพื่อสื่อถึงงานวิจัยที่มีมุมมองที่กว้างและลึกลงถึงระดับของกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับโครงสร้างชีววิทยาโมเลกุล นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังร่วมสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้กับนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังสอนนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาพยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค วิศวกรรมการแพทย์ ความผิดปกติของการสื่อความหมาย เวชปฏิบัติฉุกเฉิน เป็นต้น อีกปีละกว่า 1,200 คน

รายนามหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์

  • พ.ศ. 2510-2518 : Prof. Robert C. Holland
  • พ.ศ. 2518-2530 : ศ. ดร.ประเสริฐ โศภน
  • พ.ศ. 2530-2534 : ศ. ดร. นพ.เรือน สมณะ
  • พ.ศ. 2534-2541 : ศ. ดร. นพ.กนก ภาวสุทธิไพศิฐ
  • พ.ศ. 2541-2544 : ศ. ดร. นพ.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล
  • พ.ศ. 2544-2548 : รศ. ดร.ชัยทิพย์ วนิชานนท์
  • พ.ศ. 2548-2551 : รศ. ดร.ประพีร์ เศรษฐรักษ์
  • พ.ศ. 2551-2554 : รศ. ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล
  • พ.ศ. 2554-2558 : ศ.ยินดี กิติยานันท์
  • พ.ศ. 2558-2559 : รศ. ดร.สมลักษณ์ อสุวพงษ์พัฒนา
  • พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน : รศ. ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล


กิจกรรม Mahidol Open House โดยนักศึกษาภาควิชากายวิภาคศาสตร์

งานวิจัย

  1. งานวิจัยของภาควิชาฯ แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้ คือ
    - Aquatic Bioscience
    - Cell Structural Biology & Molecular Biology
    - Neuroscience
    - Stem Cell Biology
    - Reproductive Biology
    - Biomaterial Research
    - Cancer Research
    - Gross Anatomy
  2. เงินทุนสนับสนุนการวิจัย ดังนี้
    แหล่งทุนในประเทศ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการวิจัย (สกว.) ทุนอุดหนุนจากงบประมาณ ทุนจากสภาวิจัย ทุน TRF-MRC Newton Fund และทุน คปก.
  3. ผลงานวิจัย ภาควิชาฯ มีผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเฉลี่ย 1.5-2 เรื่อง/คน/ปี มีผลงานตีพิมพ์ในสาขากายวิภาคศาสตร์เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศและภูมิภาคอาเซียน

การบริการวิชาการ

  1. ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ได้ก่อตั้ง Care Lab ร่วมกับภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในการจัดทำศูนย์การฝึกผ่าตัดโดยใช้ Soft cadaver
  2. บริการวิชาการการสอนกายวิภาคศาสตร์พิ้นฐานให้กับสถาบันต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน
  3. ให้บริการวิชาการการ ศึกษาดูงาน ให้ความรู้ในด้านกายวิภาคศาสตร์ให้กับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันต่าง ๆ

ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์: http://anatomy.sc.mahidol.ac.th
- ธุรการ กายวิภาคฯ โทร. 0 2201 5402, 0 2201 5447
- บัณฑิตศึกษา กายวิภาคฯ โทร. 0 2201 5447
- บริจาคร่างกาย โทร. 0 2201 5400, 0 2354 7346


ที่มา: “ภาควิชากายวิภาคศาสตร์” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 128-135. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.