ประวัติ 12 ภาควิชา
1. กายวิภาคศาสตร์ | 2. คณิตศาสตร์ | 3. เคมี | 4. จุลชีววิทยา | 5. ชีวเคมี | 6. ชีววิทยา |
7. เทคโนโลยีชีวภาพ | 8. พฤกษศาสตร์ | 9. พยาธิชีววิทยา | 10. ฟิสิกส์ | 11. เภสัชวิทยา | 12. สรีรวิทยา |
8. ภาควิชาพฤกษศาสตร์
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเรียนการสอนและการวิจัยทางพฤกษศาสตร์ให้กว้างขวางออกไป เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านพืช ไปปฏิบัติหน้าที่ตามภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชเป็นอย่างมาก อาจารย์ที่สอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางพฤกษศาสตร์ ได้แก่ ผศ.วารุณี เลิศศิริ ผศ.วารี ประสมสุข ดร.ศิริพร นิตยางกูร และ อ.ประสิทธิ์ ศรีจำนงค์ ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งภาควิชาฯ และภาควิชาได้รับอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 109 ตอนที่ 98 ลงวันที่ 18 กันยายน 2535 และมี ดร.ศิริพร นิตยางกูร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคนแรก ซึ่งหัวหน้าภาควิชาในลำดับถัดมาคือ รศ.ดร. ครรชิต ธรรมศิริ และในปัจจุบันมี รศ. ดร.พวงผกา อัมพันธ์จันทร์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา
อาจารย์และนักศึกษาร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
และนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมระดับนานาชาติ ณ Royal Botanic Gardens, Kew U.K.
ภาควิชามีการจัดการเรียนการสอน 3 หลักสูตรได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต (พฤกษศาสตร์) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการพืช) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีการดำเนินการร่วมกันกับภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และในปี 2560 หลักสูตรวิทยาการพืชได้ลงนามภายใต้ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chiba university ประเทศญี่ปุ่น ใน Double degree program กับ Department of Horticulture, Graduate School of Horticulture ปัจจุบันมีนักศึกษา 1 คนกำลังศึกษาในโปรแกรมนี้ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาจากแต่ละสถาบัน และภาควิชาได้รับอนุมัติให้ทำการสอนในหลักสูตรปรัชญาดุษฎี (พฤกษศาสตร์) ในปี พ.ศ. 2559
ภาควิชาฯ ได้ผลิตบัณฑิตออกไปแล้ว 25 รุ่น มหาบัณฑิต 13 รุ่น บัณฑิตที่จบการศึกษาส่วนใหญ่ได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ เข้าศึกษาต่อทั้งภายในและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพ เช่น ผู้ผลิตและส่งออกผักและผลไม้ และทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สวทช. โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัย โรงเรียน และองค์กรธุรกิจเอกชน
นอกจากการเรียนการสอนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของคณาจารย์ในภาควิชาแล้ว คณาจารย์ยังได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เช่น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาสมุนไพร เช่น พืชวงศ์ขิง พืชอาหาร เช่น ข้าว ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กล้วยไม้ และพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ การผลิตไม้ผลของประเทศไทย เช่น กล้วย ทุเรียน ลำไย กีวี และบ๊วย โครงการวิจัยยางพาราและมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยทำงานวิจัยแบบบูรณาการร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนั้นภาควิชาฯ ยังมีการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการค้นพบพืชใหม่ของโลกหลายชนิด เช่น พืชในวงศ์ขิงและผักบุ้ง จากความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชที่มีมากของประเทศไทย และประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ภาควิชาฯ จึงสนับสนุนการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน ทั้งพืชหายาก ใกล้สูญพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์ พืชเศรษฐกิจ พืชพิษ พืชเสพติด หรือพืชที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ โดยอาจารย์ในภาควิชาฯ ใช้ความรู้ด้านต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ที่ได้รับทั้งด้านการเก็บรักษาพันธุกรรมในหลอดทดลองหรือในสภาวะเย็นยวดยิ่ง งานวิจัยด้านสรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ สัณฐานวิทยา อนุกรมวิธาน และงานวิจัยด้านพันธุกรรมในระดับต่าง ๆ เช่น การศึกษาด้านโครโมโซม การศึกษาด้านเครื่องหมายพันธุกรรม สามารถทำให้ผลงานวิจัยต่าง ๆ ของภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับทางด้านพืชเด่นชัดมากขึ้น นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังสนับสนุนให้คณาจารย์เข้าร่วมประชุมวิชาการในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งทำให้ได้รับการยอมรับจากวงการวิชาการทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับให้ไปบรรยายในงานประชุมต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติหลายครั้ง กิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้นักศึกษาของภาควิชามีโอกาสเข้าร่วมประชุมและฝึกทักษะในการทำงานและนำเสนอผลงานทางวิชาการอยู่เนือง ๆ นักศึกษาในทุกระดับได้รับโอกาสไปฝึกงาน Internship ด้าน Plant Factory ที่ Center of Environment, Health and Field Sciences ของ Chiba University ตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ผักบุ้งชนิดใหม่ของโลก ที่ถูกค้นพบและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยอาจารย์ในภาควิชาฯ
ภาพซ้าย - เครือพูดอกหอม: Argyreia dokmaihom Traiperm & Staples
ภาพขวา - เครือพูพวงผกา: Argyreia inaequisepala Traiperm & Staples
นอกจากด้านวิชาการแล้ว ภาควิชาฯ ยังสนับสนุนการบริการวิชาการให้กับบุคคลต่าง ๆ ผ่านการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนร้สู่ชุมชนในโอกาสต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการสืบทอดและขยายองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดซึ่งเป็นการเรียนรู้อย่างยั่งยืน สิ่งต่าง ๆ ที่พัฒนาต่อเนื่องมาในระยะเวลา 25 ปีที่ภาควิชาฯ เป็นส่วนหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์นี้ ภาควิชาฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคณะวิทยาศาสตร์ในการก้าวเดินไปอย่างมั่นคงเพื่อความเจริญก้าวหน้าของสถาบันแห่งนี้ต่อไป
รายนามหัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์
- พ.ศ. 2535-2540 : ดร.ศิริพร นิตยางกูร
- พ.ศ. 2540-2548 : รศ. ดร.ครรชิต ธรรมศิริ
- พ.ศ. 2548-2551 : รศ. ดร.พวงผกา อัมพันธ์จันทร์
- พ.ศ. 2551-2554 : รศ. ดร.ครรชิต ธรรมศิริ
- พ.ศ. 2554-2563 : รศ. ดร.พวงผกา อัมพันธ์จันทร
- พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน : ผศ. ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์
ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://plantscience.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5232
ที่มา: “ภาควิชาพฤกษศาสตร์” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 213-223. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.