หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

10. ภาควิชาฟิสิกส์

ภาควิชาฟิสิกส์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ในนาม แผนกฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ สังกัด คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมา เมื่อ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม “มหิดล” ให้เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 และมีการประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512 ทำให้ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปลี่ยนชื่อเป็น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ แผนกฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ เปลี่ยนชื่อเป็น ภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ จนเมื่อ พ.ศ. 2532 ได้แยกภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ออกเป็นสองภาควิชา คือ ภาควิชาฟิสิกส์ และ ภาควิชาคณิตศาสตร์

รายนามหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์

  • พ.ศ. 2510-2516 : ศ.เกียรติคุณ ดร.กำจร มนูญปิจุ (รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ)
  • พ.ศ. 2516 : ศ. ดร.วิทยา เพียรวิจิตร
  • พ.ศ. 2516-2518 : ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ
  • พ.ศ. 2518-2529 : ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์
  • พ.ศ. 2529-2533, 2533-2537 : ศ. ดร.รัศมีดารา หุ่นสวัสดิ์
  • พ.ศ. 2537-2541 : ผศ. ดร.ปิยพงษ์ สิทธิคง
  • พ.ศ. 2541-2543 : ผศ.นคร เหมะ
  • พ.ศ. 2543-2547 : ผศ. ดร.ศรีสุดา วรามิตร
  • พ.ศ. 2547-2549 : ผศ. ดร.สันติ วัฒนายน
  • พ.ศ. 2549-2551 : ผศ. ดร.ธนากร โอสถจันทร์
  • พ.ศ. 2551-2555 : ผศ. ดร.ศรีสุดา วรามิตร
  • พ.ศ. 2555-2556 : รศ. ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์
  • พ.ศ. 2556-2560 : ผศ. ดร.ทศพร บุญยฤทธิ์
  • พ.ศ. 2560-2563 : ผศ. ดร.ขวัญ อารยะธนิตกุล
  • พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน : ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ

ภารกิจหลัก

นอกจากการจัดการเรียนการสอนรายวิชาฟิสิกส์พื้นฐานให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหิดลทุกประเภทวิชาแล้ว ภาควิชาฯ ยังรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอน ในสาขาฟิสิกส์อีก 3 หลักสูตรคือ

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ (หลักสูตรปกติและหลักสูตรพิสิฐวิธาน)
  2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ (หลักสูตรนานาชาติ)
  3. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ (หลักสูตรนานาชาติ)

มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก สาขาฟิสิกส์ จำนวนรวม 117 คน (ระดับปริญญาตรี 47 คน ระดับมหาบัณฑิต 40 คน และระดับดุษฎีบัณฑิต 30 คน)

ในส่วนของงานวิจัย ภาควิชาฟิสิกส์ได้ดำเนินงานวิจัยทั้งในด้านฟิสิกส์พื้นฐาน และด้านฟิสิกส์ประยุกต์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เงินรายได้ของคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันภาควิชาฟิสิกส์มีกลุ่มวิจัย 9 กลุ่ม คือ

  1. ทัศนศาสตร์ประยุกต์และการประยุกต์เลเซอร์ (Applied Optics & Lasers Applications)
  2. ฟิสิกส์เชิงชีววิทยา (Biological Physics)
  3. ธรณีฟิสิกส์ (Geophysics)
  4. ฟิสิกส์ของสสารควบแน่น (Condensed Matter Physics)
  5. ฟิสิกส์ไม่เชิงเส้น (Nonlinear Physics)
  6. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)
  7. ทัศนศาสตร์และควอนตัมฟิสิกส์ (Optical & Quantum Physics)
  8. ฟิสิกส์ศึกษา (Physics Education)
  9. ฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง (Space Physics & Energetic Particles)

โดยภาควิชาฟิสิกส์มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

ผลงานด้านนวัตกรรม

  1. เสื้อดมกลิ่นเพื่อการประเมินสภาวะสุขภาพจากกลิ่นตัว
  2. ชุดการสื่อสารแบบข้อมูลหลายชุดผ่านเส้นใยแก้วนำแสงอย่างง่าย
  3. ชุดสาธิตประกอบการเรียนรู้เรื่องทิศแรงเสียดทาน
  4. ฟิล์มใสเคลือบแข็งป้องกันรอยขูดขีดสำหรับแผ่นพลาสติกใสชนิดบ่มร้อน
  5. เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้การตรวจจับเชิงแสงเชิงไฟฟ้าเคมีแบบพกพา โดยอาศัยไดโอดเปล่งแสง
  6. ชุดหัววัดไอระเหยสารประกอบแอมโมเนียและเอมีนประเภทวัสดุผสมนาโนและอุปกรณ์ตรวจไอระเหยแบบมือถือ
  7. เซนเซอร์ชิพเอสพีอาร์แบบอาร์เรย์สำหรับการจำแนกหมู่เลือดชนิดเอบีโอ
  8. เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว

โครงการต่าง ๆ

  1. โครงการฟิสิกส์เพื่อชุมชน: ค่ายวิทย์เพื่อน้อง
    เป็นโครงการบริการวิชาการในการสร้างความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนที่ขาดโอกาส ให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์ด้วยมิติ รูปแบบ และภารกิจที่มีการบูรณาการอย่างหลากหลายและทั่วถึง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยบรรลุตามยุทธศาสตร์ด้าน Social Responsibility
  2. โครงการทำวิจัยภาคฤดูร้อนสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (Physics Summer Undergraduate Research Experience)
    โครงการที่สร้างโอกาสการทำวิจัยและเครือข่ายบุคลากรด้านฟิสิกส์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งในระบบที่มีขนาดเล็กมากและระบบที่มีขนาดใหญ่มาก และเป็นองค์ความรู้สำคัญในการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเปิดรับนักศึกษาที่สนใจทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งหลังจบโครงการมีนักศึกษาเข้าศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่ภาควิชาทุกปี

รางวัลเกียรติยศ

  1. การประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการระดับ 5 (ระดับดีเยี่ยม) ในสาขาฟิสิกส์ จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ประจำปี 2552 และ 2554 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  2. การประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการระดับ 4 (ระดับดีมาก) ในสาขาฟิสิกส์ จากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ประจำปี 2557 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://physics.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5770


ที่มา: “ภาควิชาฟิสิกส์” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 198-205. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.