หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

9. ภาควิชาพยาธิชีววิทยา

ภาควิชาพยาธิชีววิทยา (Pathobiology หรือ Experimental Pathology) ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2512 โดย ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ หัวหน้าภาควิชาคนแรก (พ.ศ. 2512-2518) และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อการเรียนการสอน และงานวิจัยด้านพยาธิวิทยา ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อให้เกิดความเข้าใจพยาธิกำเนิด กลไกการเกิดโรค และการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพของโรค

จากรากฐานทางวิชาการที่เข้มแข็งทั้งด้านการศึกษาและวิจัย เป็นส่วนสำคัญของการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ของคณาจารย์ และบุคลากรของภาควิชาพยาธิชีววิทยาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันภาควิชาฯ มีพันธกิจหลักมุ่งเน้นการเรียนการสอน การผลิตงานวิจัยระดับสากล นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับงานบริการวิชาการทางพยาธิวิทยาที่สนับสนุนการเรียนการสอน และการผลิตผลงานนวัตกรรม ผ่านคลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิวิทยา ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิง และที่พึ่งทางวิชาการด้านพยาธิวิทยาในระดับสากล พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพยาธิชีววิทยาให้มีความรู้ควบคู่คุณธรรมเพื่อรับใช้ประเทศชาติและสังคม

รายนามหัวหน้าภาควิชาพยาธิชีววิทยา

  • พ.ศ. 2512-2518 : ศ.เกียรติคุณ นพ. ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
  • พ.ศ. 2518-2531 : รศ. นพ. ดร.สมพงศ์ สหพงศ์
  • พ.ศ. 2531-2534 : ศ. พญ.สมเนตร บุญพรรคนาวิก
  • พ.ศ. 2534-2538 : รศ. นพ. ดร.ธงธวัช อนุคระหานนท์
  • พ.ศ. 2538-2545 : รศ. นพ. ดร.สมพงศ์ สหพงศ์
  • พ.ศ. 2545-2549 : รศ. ดร.สุดา เรียงโรจน์พิทักษ์
  • พ.ศ. 2549-2557 : รศ.กัลยาณี ดวงฉวี
  • พ.ศ. 2557-2565 : ผศ. ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ
  • พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน : ดร.นิวัฒน์ กังวานรังสรรค์

ภารกิจหลัก

ด้านวิจัย : ภาควิชาพยาธิชีววิทยา มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ National Institutes of Health (NIH) เป็นต้น ปัจจุบันมุ่งเน้นงานวิจัย และงานนวัตกรรมใน 4 กลุ่มงานวิจัยหลัก ได้แก่ 1) กลุ่ม Infectious Diseases 2) กลุ่ม Cancer, Aging and Stem Cell 3) กลุ่ม Toxicological Pathology และ 4) กลุ่ม Genetic Diseases

ด้านการศึกษา : ภาควิชาพยาธิชีววิทยา รับผิดชอบหลักสูตรนานาชาติ (International Program) ทั้งในระดับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพยาธิชีววิทยา (Master of Science Program in Patho-biology) และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพยาธิชีววิทยา (Doctor of Philosophy Program in Patho-biology) รับผิดชอบการเรียนการสอนรายวิชาพยาธิวิทยาให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรแพทยศาสตร์ (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ พระบรมราชชนก ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช) หลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ และหลักสูตรปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

นอกจากรับผิดชอบการเรียนการสอนแล้ว ภาควิชาฯ ยังส่งเสริมการสร้างทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษาบัณฑิตผ่านโครงการประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายทางวิชาการ และเรียนรู้นอกห้องเรียนกับคู่ความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน

ด้านบริการวิชาการ : ภาควิชาพยาธิชีววิทยา ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน และการพัฒนางานวิจัยสู่ผลงานนวัตกรรมผ่านคลังข้อมูลและศูนย์เรียนรู้ทางพยาธิวิทยาฯ มีกิจกรรมหลัก เช่น การบริการวิชาการทาง Histopathology การจัดฝึกอบรม Workshop ด้าน Histopathology ให้แก่ คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจด้านพยาธิวิทยาทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

  1. การบริการวิชาการทาง Histopathology โดยมีผู้รับบริการจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 20 หน่วยงานต่อปี เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติและสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ซึ่งมีงานบริการมากกว่า 7,500 ตัวอย่าง ใน พ.ศ. 2560
  2. การจัดฝึกอบรม Workshop ด้าน Histopathology มีผู้สนใจอบรมจากทั้งภาครัฐและเอกชน มีการออกร้านแสดงสินค้าด้านพยาธิวิทยาจากผู้สนับสนุนในแต่ละปีมากกว่า 100 คน ต่อเนื่อง 6 ปี
  3. การฝึกงานทางด้าน Histopathology แก่ นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจในงานด้านพยาธิวิทยาทั้งในและต่างประเทศ อาทิ
    - คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    - คณะอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
    - หลักสูตรวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    - คณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัย Dankook ประเทศเกาหลีใต้

ภาควิชาพยาธิชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ https://pathobiology.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5550


ที่มา: “ภาควิชาพยาธิชีววิทยา” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 188-193. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.