หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

2. ภาควิชาคณิตศาสตร์

ตามราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2532 ได้มีการประกาศให้ดำเนินการจัดตั้ง ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแยกตัวออกมาจากภาควิชาฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ ด้วยอาจารย์ จำนวน 5 ท่าน โดยเป็นอาจารย์ชาวต่างประเทศ 1 ท่าน เปิดสอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ รับโอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มาบริหารจัดการ และบริการสอนคณิตศาสตร์ให้กับหลักสูตรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนเริ่มผลิตผลงานวิจัยเผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จากนั้น ได้ปรับหลักสูตรปริญญาโทเป็นหลักสูตรนานาชาติ พร้อมกับเปิดสอนหลักสูตรปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ในปี พ.ศ. 2542 และเปิดสอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย (หลักสูตรนานาชาติ) และรับโอนหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์อุตสาหการ (หลักสูตรนานาชาติ) มาบริหารจัดการ ในปีพ.ศ. 2552 และ 2559 ตามลำดับ โดยหลักสูตรระดับปริญญาตรีนานาชาติ 2 หลักสูตร เป็นหลักสูตรสองปริญญาที่ดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกับ Curtin University ประเทศออสเตรเลีย และ Nguyen Tat Thanh University ประเทศเวียดนาม

พ.ศ. 2551 ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้รับมอบหมายให้เป็นแกนนำของศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ ภายใต้สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ 19 มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งร่วมมือกันผลักดันและพัฒนาการวิจัยและการศึกษาด้านคณิตศาสตร์ในประเทศ โดยการให้ทุนวิจัย สนับสนุนนักศึกษาบัณฑิตเป็นผู้ช่วยวิจัย และทุนพัฒนาวิชาชีพครู เป็นต้น เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจของชาติต่อไป

รายนามหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์

  • พ.ศ. 2532-2537 : รศ. ดร.นารถธิดา ตุมราศวิน
  • พ.ศ. 2537-2541 : รศ.จินดา อาจริยะกุล
  • พ.ศ. 2541-2549 : ศ. ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
  • พ.ศ. 2549-2553 : อ. ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป
  • พ.ศ. 2553-2555 : ผศ. ดร.ชัยวัฒน์ มณีสว่าง
  • พ.ศ. 2555-2557 : ผศ. ดร.ศรีสุดา วรามิตร (รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชา)
  • พ.ศ. 2557 : ผศ. ดร.สมคิด อมรสมานกุล (รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชา)
  • พ.ศ. 2557 : ผศ. ดร.ชัยวัฒน์ มณีสว่าง (รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชา)
  • พ.ศ. 2557-2558 : อ. ดร.บริบูรณ์ เนาวประทีป
  • พ.ศ. 2558-2560 : ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี
  • พ.ศ. 2560 : รศ. ดร.ชนม์ทิตา รัตนกุล
  • พ.ศ. 2561-2565 : ผศ. ดร.วรรณนิกา แสวงทอง
  • พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน : ผศ. ดร.สมคิด อมรสมานกุล

ด้านการศึกษา

นับถึงปัจจุบัน ภาควิชาคณิตศาสตร์ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต จำนวนทั้งสิ้น 1,275 คน จาก 4 หลักสูตร (หลักสูตรคณิตศาสตร์อุตสาหการเพิ่งเริ่มเปิดรับนักศึกษาเมื่อ ปี พ.ศ. 2558 จึงยังไม่มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา) จำแนกได้เป็น

  • - บัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ 26 รุ่น จำนวนบัณฑิต 712 คน
  • - บัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย 6 รุ่น จำนวนบัณฑิต 325 คน
  • - มหาบัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 29 รุ่น จำนวนมหาบัณฑิต 131 คน
  • - ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาคณิตศาสตร์ 16 รุ่น จำนวนดุษฎีบัณฑิต 107 คน
  • (ข้อมูล พ.ศ. 2561)

ภาควิชาฯ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ค่ายพัฒนาศักยภาพนักคณิตศาสตร์รุ่นเยาว์ กิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสดูงานนอกสถานที่ และกิจกรรมตลาดงาน เป็นต้น นอกจากการบริหารจัดการหลักสูตรที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาควิชาฯ ทั้ง 5 หลักสูตรแล้ว ภาควิชาฯ ยังบริการสอนคณิตศาสตร์ให้กับหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์และคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

ด้านงานวิจัย

ศูนย์วิจัยทางคณิตศาสตร์ ได้มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2532 ในระยะแรกเริ่มของการก่อตั้งภาควิชาคณิตศาสตร์ โดย รศ.นารถธิดา ตุมราศวิน หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ ในขณะนั้น และศาสตราจารย์ ไอ มิง ถัง ภาควิชาฟิสิกส์-คณิตศาสตร์ ร่วมกับศาสตราจารย์ยงค์วิมล เลณบุรี ประธานกรรมการหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ในขณะนั้น ดำริให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมความพยายามผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพของคณาจารย์ของภาควิชาฯ และเป็นจุดเริ่มต้นของการระดมทุนการวิจัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดผลงานที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้ความสนับสนุนเงินทุนในการจัดตั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ที่จำเป็นในการทำวิจัย ทั้งยังได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด และบริษัทวิคตอรี่แกรนิต จำกัด อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ศูนย์ฯ สามารถดำเนินงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

ในปัจจุบันอาจารย์ในภาควิชาฯ ได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากหลายแหล่ง อาทิเช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ และหน่วยงานอื่น ๆ ในภาครัฐบาล/ภาคเอกชน ทำให้อาจารย์สามารถดำเนินการวิจัยด้านต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ งานวิจัยที่อาจารย์ในภาควิชาฯ สนใจ/ดำเนินการวิจัย อาทิ

  • - Dynamical Modelling of Nonlinear Systems in Biology and Medicine
  • - Mathematical Modelling and Simulation in Agriculture
  • - Mathematical Modelling in Nanotechnology
  • - High Performance Computing
  • - Partial Differential Equations and Distribution Theory
  • - Optimization
  • - Mathematical Finance
  • - Applied Operations Research
  • - Logistics and Supply Chain Management
  • - Statistical Modelling
  • - Coding Theory
  • - Graph Theory
  • - Approximation Theory
  • - Singular Geometry
  • - Algebra
  • - Functional Analysis

ภาควิชาฯ สนับสนุนให้อาจารย์เข้าร่วมการประชุมวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจัดให้มีสัมมนาวิชาการเป็นประจำทุกเดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศในการทำวิจัย โดยอาจารย์ของภาควิชาฯ และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ อาจารย์ภาควิชาฯ ยังมีความร่วมมือกับคณาจารย์ของ University of Warwick แห่ง สหราชอาณาจักร, Vanderbilt University, University of Maryland Bultimore County, Old Dominion University, Washington State University และ University of Rhode Island สหรัฐอเมริกา, CNR IASI Laboratorio di Biomatematica แห่งประเทศอิตาลี, Curtin University of Technology และ University of Wollongong แห่งประเทศออสเตรเลีย, Massey University ประเทศนิวซีแลนด์, และ Universiti Montpellier II แห่งประเทศฝรั่งเศส, เป็นต้น ในลักษณะของการร่วมวิจัย และการส่งนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์วิจัย ณ ต่างประเทศ

นอกจากนี้ อาจารย์ของภาควิชาฯ ยังช่วยกันผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีอาจารย์ของภาควิชาฯ ได้รับรางวัลสำคัญๆ อาทิ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ TWAS Prize for Young Scientist in Thailand อีกด้วยด้านการบริการวิชาการ

ภาควิชาฯ จัดให้มีโครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ สอนรายวิชา วิทยากรบรรยาย จัดอบรม/อบรมเชิงปฏิบัติการ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ/วิจัย และสร้าง/กลั่นกรอง/ที่ปรึกษาในการสร้างแบบทดสอบทางวิชาการ รวมถึงการร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินการตามโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก นอกจากนี้ อาจารย์ในภาควิชาฯ ยังได้รับเกียรติให้ปฏิบัติหน้าที่เป็น

  • - President of East Asia Section of the Society for Industrial and Applied Mathematics (พ.ศ. 2558 - 2559)
  • - ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ (พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน)
  • - ผู้แทนประเทศไทยนำทีมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปเข้าร่วมแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 58 ณ ประเทศบราซิล

ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://mathematics.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5340-3


ที่มา: “ภาควิชาคณิตศาสตร์” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 174-181. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.