หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

11. ภาควิชาเภสัชวิทยา

ภาควิชาเภสัชวิทยาก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2511 มีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนวิชาเภสัชวิทยา แก่นักศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และผลิตนักศึกษามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตสาขาเภสัชวิทยา เพื่อผลิตอาจารย์ในสาขาเภสัชวิทยาให้แก่ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2511 โดยการนำของ Prof. Dr.Albert S. Kuperman หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยาท่านแรกร่วมกับคณาจารย์ชาวต่างประเทศอีก 6 ท่าน ที่ทางมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) ได้ส่งมาร่วมบริหารงานและจัดการเรียนการสอน ได้แก่ Dr.John P. Bederka, Dr.Barbara Kennedy, Dr.John McMonagle, Dr.Lorne G. Eltherington, Dr. Mohammed Saeed Dar และ Dr.Meng Kwoon Sim ร่วมกับอาจารย์ชาวไทยอีกสองท่าน คือ รศ. ดร.จิรวัฒน์ สดาวงศ์วิวัฒน์ และ ศ. ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์

ต่อมาภาควิชาฯ มีอาจารย์ชาวไทยเพิ่มขึ้น โดยเป็นอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศด้วยทุนของมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ อาทิ ศ. ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์, รศ. ดร.ปกรณ์ จูฑะพงศ์, ศ. ดร.กวี รัตนบรรณากูร, ศ. ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์, ดร.อุดม จันทรารักษ์ศรี และยังมีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากภาควิชาเภสัชวิทยามาร่วมเป็นกำลังสำคัญของภาควิชาฯ อีกด้วย ได้แก่ ศ. คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม และ รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายธุรการวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการเภสัชวิทยา สำนักวิจัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.กรองทอง ยุวถาวร อดีตรองคณบดีฝ่ายนโยบายและพัฒนาคุณภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเป็นอาจารย์สมทบให้กับหลักสูตรพิษวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านการประเมินและประกันคุณภาพตามเกณฑ์ EdPEx และ AUN-QA ของมหาวิทยาลัยมหิดล

รายนามหัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา

  • พ.ศ. 2511-2517 : Prof. Dr.Albert S. Kuperman
  • พ.ศ. 2517-2527 : รศ. ดร.จิรวัฒน์ สดาวงศ์วิวัฒน์
  • พ.ศ. 2527-2531 : รศ. ดร.กำพล ศรีวัฒนกุล
  • พ.ศ. 2531-2535 : รศ. ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์
  • พ.ศ. 2535-2539 : ศ. ดร.อำนวย ถิฐาพันธ์
  • พ.ศ. 2539-2543 : ดร.อุดม จันทรารักษ์ศรี
  • พ.ศ. 2543-2552 : รศ. ดร.ยุพิน สังวรินทะ
  • พ.ศ. 2552-2560 : รศ. ดร.สุภีนันท์ อัญเชิญ
  • พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน : รศ. ดร.ดาราวรรณ ปิ่นทอง

โครงการบัณฑิตศึกษา

ปัจจุบันภาควิชาเภสัชวิทยามีคณาจารย์ ทั้งสิ้น 11 ท่าน มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ หลายท่าน และที่สำเร็จการศึกษาและมีประสบการณ์วิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ University of Madison-Wisconsin ประเทศสหรัฐอเมริกา The University of Nottingham สหราชอาณาจักร Kyushu University ประเทศญี่ปุ่น University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา The University of Texas Medical Branch ประเทศสหรัฐอเมริกา The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย

ภาควิชาเภสัชวิทยาได้ผลิตบัณฑิตสาขาเภสัชวิทยา ทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาแล้ว รวม 253 คน ซึ่งนักศึกษาไทยที่สำเร็จการศึกษาจากภาควิชาเภสัชวิทยาได้เป็นกำลังสำคัญทางวิชาการในสาขาวิชานี้ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ขณะนี้มีนักศึกษาบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ที่กำลังศึกษาในภาควิชาฯ รวม 20 คน

นอกจากกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ปัจจุบันภาควิชาเภสัชวิทยารับผิดชอบการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีในหลักสูตรแพทยศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และศูนย์แพทยศาสตรศึกษานครราชสีมา นครศรีธรรมราช และนครสวรรค์ อีกทั้งยังรับผิดชอบการเรียนการสอนวิชาเภสัชวิทยาแก่นักศึกษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะพยาบาลศาสตร์ ศิริราช และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี) และ นักศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์) รวมถึงนักศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) อีกด้วย

ด้านงานวิจัย

สาขางานวิจัยที่ภาควิชาฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ pharmacokinetics & drug metabolism, endocrine pharmacology, antioxidants and platelet pharmacology, advers drug reactions, neuropharmacology, neuropsychopharmacology, chemical carcinogenesis, pharmacology of natural products, autonomic pharmacology, drug receptor and signal trans-duction, pharmacogenomics และ emerging targeted therapy for cancers สำหรับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยนอกจากเงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว ภาควิชาฯ ยังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้ภาควิชาเภสัชวิทยายังได้รับความร่วมมือด้านวิจัยกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น NIH ประเทศสหรัฐอเมริกา, Kyushu University ประเทศญี่ปุ่น Flinders University ประเทศออสเตรเลีย และ University of Edinburgh สหราชอาณาจักร อีกทั้งยังได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิ Cooley’s Anemia Foundation และโครงการทุนพัฒนาศักยภาพการวิจัยเชิงสถาบันของสาขาวิชาพรีคลินิก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทุนวิจัยโครงการร่วมคณะวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดี

ด้านทุนสำหรับนักศึกษา นักศึกษาบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ ได้รับทุนจากหลายแหล่ง เช่น ทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ทุนพัฒนาอาจารย์ ทุน สวทช. ทุนสนับสนุนการวิจัยจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ทุนเสริมสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และทุนอาจารย์ช่วยสอนของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

ภาควิชาฯ ได้ประสานงานกับภาควิชาเภสัชวิทยาของสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยผ่านทางกิจกรรมของสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2521 และจดทะเบียนสมาคมในปี 2524 และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ International Union of Pharmacology (IUPHAR) ซึ่งภาควิชาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการสมาคมเภสัชวิทยาแห่งประเทศไทยหลายครั้ง อาทิ
              พ.ศ. 2546: งานประชุมวิชาการสมาคมเภสัชวิทยา ครั้งที่ 25 ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย
              พ.ศ. 2550: งานประชุมวิชาการสมาคมเภสัชวิทยา ครั้งที่ 29
                                ณ ห้องประชุมสดศรี วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

ในส่วนของจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ภาควิชาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงาน 3 ครั้ง ดังนี้
              พ.ศ. 2528: 3rd Southeast Asia & Western Pacific Regional Meeting of Pharmacology
                                ณ กรุงเทพมหานคร
              พ.ศ. 2537: 7th Southeast Asia Drug Metabolism Workshops
                                ณ ศูนย์สาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
              พ.ศ. 2549: ประชุม Collegium Internationale Neuropsychopharmacologicum (CINP)
                                ณ เมืองพัทยา ประเทศไทย

ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://pharmacology.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5641-2


ที่มา: “ภาควิชาเภสัชวิทยา” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 194-197. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.