หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

12. ภาควิชาสรีรวิทยา

ภาควิชาสรีรวิทยา ก่อกำเนิดมาพร้อมกับภาควิชาอื่น ๆ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อ พ.ศ. 2508 ในสมัยที่ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ Prof. Dr.James Dinning เป็นผู้แทนของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ในระยะแรกมูลนิธิฯ ได้จัดส่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาสรีรวิทยาแขนงต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา ผลัดเปลี่ยนมาประจำที่ภาควิชาฯ เพื่อทำหน้าที่ด้านการบริหาร การค้นคว้าวิจัย และการสอนสรีรวิทยาแก่นักศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์รามาธิบดี รวมถึงนักศึกษาบัณฑิตสาขาสรีรวิทยาและสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง อาจารย์หลายท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนักสรีรวิทยาทั่วโลก อาทิ Prof.Ward W. Moore ซึ่งมีส่วนร่วมในการเขียนตำรา “Physiology” ของ Selkurt อันเป็นตำราทางสรีรวิทยาที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย

หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยาท่านแรกคือ Dr.David E. Schafer ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2509-2511) จากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Dr.Walter S. Root (2511) Dr.Ward W. Moore (2511-2514) และ Dr.Russell A. Huggins (2514-2516) ตามลำดับ ในปลาย พ.ศ. 2512 ถึงต้น พ.ศ. 2513 จึงได้เริ่มมีการบรรจุอาจารย์ชาวไทยซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศกลับมาประจำอยู่ที่ภาควิชาสรีรวิทยาเป็นรุ่นแรก จำนวน 3 ท่านคือ ดร.สุทธิวรรณ ขวัญบุญบำเพ็ญ (สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย) ดร.อมรา มลิลา และ ศ.เกียรติคุณ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ (สังกัดคณะวิทยาศาสตร์) เมื่อ Dr.Russell A. Huggins ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ท่านที่ 4 มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2516 ศ.เกียรติคุณ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์ ได้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ สืบแทน นับเป็นหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยาท่านแรกซึ่งเป็นคนไทย ใน พ.ศ. 2523 ได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าภาควิชาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก โดย ศ. ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ เป็นเวลา 2 วาระติดต่อกันจนกระทั่งถึง พ.ศ. 2531 ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งท่านต่อมาคือ ศ. ดร.ชุมพล ผลประมูล (2531–2535) และ รศ. ดร.สมัยศึก โสภาสรรค์ (2535-2539) เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลได้ปรับเปลี่ยนข้อบังคับว่าด้วยการได้มาซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกระดับมาเป็นวิธีการสรรหาใน พ.ศ. 2538 การได้มาซึ่งหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยาจึงต้องใช้วิธีการสรรหาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา โดยผ่านกระบวนการสรรหาเป็นท่านแรกคือ ศ. ดร.ชุมพล ผลประมูล (2539-2543) และต่อมาคือ ศ. ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว (2543–2545) รศ.พิพัฒน์ เจิดรังษี (2545-2550) ศ. ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ (2550–2555) ศ. ดร.จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูล (2555-2558) และ รองศาสตราจารย์ ดร.วิฑูร แสงศิริสุวรรณ (2559-ปัจจุบัน)

รายนามหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา

  • พ.ศ. 2509-2511 : Dr.David E. Schafer
  • พ.ศ. 2511 : Dr.Walter S. Root
  • พ.ศ. 2511-2514 : Dr.Ward W. Moore
  • พ.ศ. 2514-2516 : Dr.Russell A. Huggins
  • พ.ศ. 2516-2523 : ศ.เกียรติคุณ ดร.เลียงชัย ลิ้มล้อมวงศ์
  • พ.ศ. 2523-2531 : ศ. ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์
  • พ.ศ. 2531-2535 : ศ. ดร.ชุมพล ผลประมูล
  • พ.ศ. 2535-2539 : รศ. ดร.สมัยศึก โสภาสรรค์
  • พ.ศ. 2539-2543 : ศ. ดร.ชุมพล ผลประมูล
  • พ.ศ. 2543-2545 : ศ. ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว
  • พ.ศ. 2545-2550 : รศ.พิพัฒน์ เจิดรังษี
  • พ.ศ. 2550-2555 : ศ. ดร.ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์
  • พ.ศ. 2555-2558 : ศ. ดร.จงกลณี วัฒนาเพิ่มพูล
  • พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน : รศ. ดร.วิฑูร แสงศิริสุวรรณ

โครงการบัณฑิตศึกษา

พ.ศ. 2507 มีพระราชกฤษฎีกาให้ตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) เพื่อส่งเสริมการศึกษาขั้นสูงและการวิจัยในมหาวิทยาลัย ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (คณะวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบัน) ได้ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย ในการเปิดโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาสรีรวิทยาโดยเริ่มรับนักศึกษาบัณฑิตรุ่นแรกเข้ามาเรียนใน พ.ศ. 2509 จำนวน 6 คน ซึ่งล้วนเป็นชาวต่างชาติที่ได้รับทุนการศึกษาบางส่วนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ แต่นักศึกษารุ่นแรกทั้ง 6 คนนี้ต้องเดินทางกลับประเทศไปก่อน มิได้เรียนจนสำเร็จรับปริญญามหาวิทยาลัยมหิดล

พ.ศ. 2510 ภาควิชาฯ รับนักศึกษาไทยรุ่นแรกเข้ามาเรียนระดับปริญญาโท จำนวน 3 คน โดยมี Dr.Nona Emery และ Dr.Gordon J. Leitch เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมการทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาไทยรุ่นแรกที่เรียนในระดับปริญญาโทจำนวน 3 คน ได้แก่ ศ. ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รศ. ภญ.ปราณี ใจอาจ และ ผศ. ภญ.สำลี ใจดี หลังจากนั้นโครงการบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ ก็ได้เจริญพัฒนาต่อมาโดยมีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาสมัครเข้าศึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ต่อมา พ.ศ. 2528 ภาควิชาฯ โดย ศ. ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ หัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความต้องการนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศ จึงได้ริเริ่มดำเนินการให้มีโครงการบัณฑิตศึกษาสาขาสรีรวิทยาของการออกกำลังกาย (ระดับปริญญาโท) ขึ้นเป็นปีแรก และต่อมาภาควิชาฯ ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายขึ้นใน พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ ภาควิชายังมีส่วนร่วมในการผลิตนักศึกษาบัณฑิตโครงการพิษวิทยามาตั้งแต่ต้นด้วย

ภาควิชาสรีรวิทยาในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) ภาควิชาสรีรวิทยามีพื้นที่อยู่สามส่วนด้วยกันคือ ชั้น 2 และชั้น 4 ตึกพรีคลีนิค (ตึก PR) และชั้น 5 ตึกชีววิทยา (ตึก B) โดยมีสำนักงานภาควิชาฯ ห้องประชุม/ห้องสมุด ห้องพักอาจารย์ และห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ที่ชั้น 4 รวมถึงห้องปฏิบัติการบางส่วนที่ชั้น 2 ของตึกพรีคลินิค และมีห้องบรรยาย ห้องพักอาจารย์ และห้องปฏิบัติการอีกบางส่วน รวมทั้งห้องพักนักศึกษาบัณฑิตอยู่ที่ชั้น 5 ตึกชีววิทยา สมาชิกของภาควิชาฯ ประกอบด้วย อาจารย์/ผู้ช่วยอาจารย์/นักวิจัย 20 คน นักวิทยาศาสตร์ 2 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 4 คน และลูกจ้าง 3 คน

การดำเนินการในพันธกิจด้านการศึกษาและด้านการวิจัยของภาควิชาสรีรวิทยาในปัจจุบันมีข้อมูลโดยสังเขป ดังนี้

พันธกิจด้านการศึกษา: คณาจารย์ในภาควิชาฯ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่

  1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสรีรวิทยา
  2. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสรีรวิทยา
  3. ทั้งสองหลักสูตรนี้ได้เปิดทำการสอนมาเป็นเวลานาน ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพไปทำการสอนและวิจัยทางสรีรวิทยาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศใกล้เคียงมาแล้วกว่าสองร้อยคน โดยหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2561
  4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสรีรวิทยาการออกกำลังกาย
  5. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาสรีรวิทยาการออกกำลังกาย
  6. ทั้งสองหลังสูตรเริ่มรับนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาโท สรีรวิทยาของการออกกำลังกายเป็นรุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2528 เป็นหลักสูตรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยของประชาชนชาวไทย อีกทั้งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรปรับปรุงล่าสุด พ.ศ. 2560

หลักสูตรบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ เปิดรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีหรือปริญญาโททางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีผลการเรียนดีและผ่านการสอบคัดเลือกของบัณฑิตวิทยาลัยและของภาควิชาฯ โดยการเรียนการสอนและการทำวิทยานิพนธ์ใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด นอกเหนือจากหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาฯ ทั้ง 4 หลักสูตรที่กล่าวมา คณาจารย์ของภาควิชาฯ ยังมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรสหสาขาวิชาอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรพิษวิทยาและหลักสูตรเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล นอกจากนี้ภาควิชาฯ ยังมีพันธกิจในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาสรีรวิทยา สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในหลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ในสาขาต่าง ๆ และหลักสูตรนานาชาติสาขาชีววิทยาศาสตร์การแพทย์ อีกด้วย

พันธกิจด้านการวิจัย: งานวิจัยของภาควิชาฯ ที่ดำเนินการในปัจจุบันมีทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและประยุกต์ โดยดำเนินการศึกษาถึงการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ทดลอง ทั้งในระดับโมเลกุล เซลล์ จนถึงระดับร่างกาย ทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากพยาธิสภาพ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม หรือการตอบสนองต่อยา สมุนไพร สารพิษ สารเคมี และความเครียดต่าง ๆ โครงการวิจัยในภาควิชาฯ สามารถจำแนกออกได้เป็น 7 กลุ่มวิจัย ดังนี้

  1. Calcium and Bone Research
  2. Cardiac Physiology
  3. Drug Discovery and Membrane Physiology
  4. Cancer and Degenerative Disease
  5. Renal Physiology and Membrane Transport
  6. Exercise Metabolism
  7. Muscle and Exercise Physiology

ผลงานวิจัยของภาควิชาฯ ได้นำไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร รวมทั้งการเผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำระดับนานาชาติในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อเพิ่ม Health Literacy ในสื่อต่าง ๆ อาทิ หนังสือพิมพ์ นิตยสารสุขภาพ โทรทัศน์ เว็บไซต์ และสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานวิจัยกว่าร้อยละ 60 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับ Quartile ที่ 1 เช่น American Journal of Physiology, Journal of Applied Physiology, Pflugers Archiv : European Journal of Physiology, Trends in Endocrinology and Metabolism, Journal of Endocrinology, Pharmacology & Therapeutics, Hepatology, Biochimica et Biophysica Acta, Journal of Biological Chemistry, Biochemical Pharmacology, Pharmaceutical Research, Gastroenterology เป็นต้น

บทบาทของภาควิชาฯ ในวงการสรีรวิทยา

ภาควิชาฯ ได้เป็นแกนกลางในการริเริ่มจัดการประชุม “The First Congress of The Asian and Oceanian Physiological Societies” ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการสรีรวิทยาระดับนานาชาติ ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ พ.ศ. 2529 ผลของการจัดประชุมครั้งนั้นทำให้มีการจัดตั้ง Federation of the Asian and Oceanian Physiology Society (FAOPS) โดยมี ศ. ดร.ชุมพล ผลประมูล เป็นเลขาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2533-2541 และดำงตำแหน่งเป็น President ตั้งแต่ พ.ศ. 2545–2549 ภาควิชาฯ ได้ร่วมกิจกรรมและเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการประจำปีของสรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดย พ.ศ. 2553 ภาควิชาฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการประจำปีของสรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 เป็นเจ้าภาพจัดอบรมพยาธิสรีรวิทยาประจำปีของสรีรวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และ พ.ศ. 2558 เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการประชุมนานาชาติ FAOPS ครั้งที่ 8 นอกจากนี้ คณาจารย์ในกลุ่มสรีรวิทยาของการออกกำลังกายยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2532) และร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นต้น

ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://physiology.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5610


ที่มา: “ภาควิชาสรีรวิทยา” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 206-212. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.