หน้าหลัก > คณะวิทยาศาสตร์ > ประวัติ 12 ภาควิชา

ประวัติ 12 ภาควิชา

1. กายวิภาคศาสตร์ 2. คณิตศาสตร์ 3. เคมี 4. จุลชีววิทยา 5. ชีวเคมี 6. ชีววิทยา
7. เทคโนโลยีชีวภาพ 8. พฤกษศาสตร์ 9. พยาธิชีววิทยา 10. ฟิสิกส์ 11. เภสัชวิทยา 12. สรีรวิทยา

7. ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพครั้งแรก ภายใต้การดำเนินงานของภาควิชาจุลชีววิทยา มี ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เป็นหัวหน้าคณะดำเนินการร่วมกับ ศ.เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ 2 ในประเทศไทย ที่เปิดสอนในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และเป็นหลักสูตรแรกในคณะวิทยาศาสตร์ที่จัดการเรียนการสอนเน้นด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพิ่มเติมจากทักษะเดิมของคณะด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เพื่อรองรับความต้องการทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ต่อมาใน พ.ศ. 2532 ได้มีการจัดตั้งภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพขึ้นอย่างเป็นทางการ และเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโทใน พ.ศ. 2535 และปริญญาเอกใน พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ ยังมีการริเริ่มหลักสูตรพิเศษอื่น เช่น โครงการหลักสูตรเร่งรัด ปริญญาตรี (เทคโนโลยีชีวภาพ) - ปริญญาโท (การตลาด) (B.Sc.-M.M.) ร่วมกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหลักสูตรนี้มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรให้มีแนวความคิดของผู้ประกอบการผสมผสานกับระบบความคิด และความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และมีการจัดทำหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2552 มีการจัดตั้งหลักสูตรระดับปริญญาเอก Double Doctoral Degree (Biotechnology-Horticulture) ร่วมกับมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่น และปี พ.ศ. 2559 ได้จัดตั้งหลักสูตรระดับปริญญาโท Double Degree Program ร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และปัจจุบันมีการประสานงานเพื่อจัดตั้งหลักสูตร Joint Degree Program ร่วมกับมหาวิทยาลัย โอซาก้าเพื่อรองรับนักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนใน พ.ศ. 2562

อีกหน้าที่หลักที่สำคัญของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ นอกเหนือจากการผลิตบัณฑิต คือ การค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมงานด้านวิชาการทั้งด้านการสอน และการบริการทางวิชาการ โดยงานวิจัยหลักของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร (Agricultural Biotechnology) เทคโนโลยีชีวภาพอาหาร (Food Biotechnology) เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรมและวิศวกรรมชีวกระบวนการ (Industrial Biotechnology and Bioprocess Engineering) และ เทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุลและการแพทย์ (Molecular and Medical Biotechnology) ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยที่สำคัญในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการจนถึงระดับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมของเชื้อจุลินทรีย์ เซลล์สัตว์ และเนื้อเยื่อพืช วิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมเคมีชีวภาพ ระบบการควบคุมอัตโนมัติ ระบบการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงทางคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้มีความสามารถสูงสุดในการแข่งขันเชิงธุรกิจ โดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม หน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพตั้งอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาเขตพญาไท และบางส่วนที่วิทยาเขตศาลายา มีอาคารโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ติดตั้งครุภัณฑ์ด้านวิศวกรรมกระบวนการและเทคโนโลยีอาหารสำหรับใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติการของนักศึกษา และการวิจัยและพัฒนาระดับกึ่งอุตสาหกรรมโดยร่วมมือกับภาคเอกชน

ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี (2525-2560) ภาควิชาฯ ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมแล้วในระดับปริญญาตรี 1,245 คน ปริญญาโท 364 คน และปริญญาเอก 95 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2561) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในหน้าที่ต่าง ๆ อาทิ นักวิชาการในสถาบันการศึกษา ผู้ควบคุมการผลิต ผู้ควบคุมคุณภาพ นักวิจัยและพัฒนา ในโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาฯ ได้ร่วมวิจัยและพัฒนากับภาคเอกชนซึ่งมีถ่ายทอดผลงานวิจัยไปยังภาคการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภาควิชาฯ ได้รับการประเมินระดับ “ดีเยี่ยม” ตามเกณฑ์คุณภาพงานวิจัยวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 3 รอบต่อเนื่องกัน ใน พ.ศ. 2552 2554 และ 2557 ตามลำดับ รวมทั้งได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเร ประเทศไทย ครั้งที่ 24 ประจำปี พ.ศ. 2560

ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมผลิตผลงานวิจัย ทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้ประเทศชาติมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการแพทย์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดความเจริญอย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ในอนาคต

รายนามหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

  • พ.ศ. 2531-2533 : ศ.เกียรติคุณ ดร.อมเรศ ภูมิรัตน (รักษาการหัวหน้าโครงการจัดตั้งภาควิชา)
  • พ.ศ. 2532-2536 : รศ. ดร.ช่อฟ้า ทองไทย
  • พ.ศ. 2537-2541 : ศ. ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด
  • พ.ศ. 2541-2545 : รศ. ดร.อภิญญา อัศวนิก
  • พ.ศ. 2545-2549 : รศ. ดร.มานพ สุพรรณธริกา
  • พ.ศ. 2549-2557 : รศ. ดร.ชื่นจิตต์ บุญเฉิด
  • พ.ศ. 2557-2558 : รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ
  • พ.ศ. 2559-2561 : ผศ. ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี
  • พ.ศ. 2562-2563 : รศ. ดร.จิรารัตน์ วงศ์คงคาเทพ
  • พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน : ผศ. ดร.เปรมวดี วงษ์แสงจันทร์

ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

- เว็บไซต์ภาควิชาฯ https://biotechnology.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5310-2


ที่มา: “ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 155-161. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.