ประวัติ 12 ภาควิชา
1. กายวิภาคศาสตร์ | 2. คณิตศาสตร์ | 3. เคมี | 4. จุลชีววิทยา | 5. ชีวเคมี | 6. ชีววิทยา |
7. เทคโนโลยีชีวภาพ | 8. พฤกษศาสตร์ | 9. พยาธิชีววิทยา | 10. ฟิสิกส์ | 11. เภสัชวิทยา | 12. สรีรวิทยา |
3. ภาควิชาเคมี
ภาควิชาเคมี มีความเป็นมาอันยาวนานเทียบเท่ากับคณะวิทยาศาสตร์ และเป็นภาควิชาแรกของคณะฯ ที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี เดิมสาขาเคมีเป็นสาขาหนึ่งที่ทำการสอนให้กับนักศึกษาเตรียมแพทย์ ทั้งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจาก ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นนักเคมีที่เข้าใจถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างถ่องแท้ จึงได้ชักจูงนักศึกษาแพทย์หลายคนมาเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และเป็นคณาจารย์ของภาควิชาเคมี ในที่สุด
ภาควิชาเคมี จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีเคมี ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิชาเคมีทั้งในพื้นฐานเชิงลึกและประยุกต์ ต่อมาได้เพิ่มให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรพิสิฐวิธาน ที่เพิ่มทักษะการวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อเป็นการบ่มเพาะให้บัณฑิตสามารถต่อยอดในระดับบัณฑิตศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาเคมีได้เปิดการเรียนการสอนสาขาแรก คือ เคมีอินทรีย์ ในระดับปริญญาโทและเอก เน้นงานวิจัยเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและอินทรีย์เคมีสังเคราะห์มาอย่างต่อเนื่อง และก้าวหน้าจนเป็นปึกแผ่น มีขีดความสามารถสูง ผลิตผลงานและบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ต่อมาได้เปิด สาขาฟิสิกส์เชิงเคมี และ เคมีเชิงฟิสิกส์ ทำงานวิจัยในด้านเคมีทฤษฎี เคมีจลนศาสตร์ และอุณหพลศาสตร์ ต่อมาภาควิชาได้เล็งเห็นความจำเป็นในการผลิตนักเคมีเชิงประยุกต์ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จึงได้เปิดหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ โดยมุ่งศึกษาและวิจัยเพื่อการพัฒนาวัสดุพอลิมอร์ ที่ครอบคลุมทั้งพลาสติก อิลาสโตเมอร์ และยางธรรมชาติ รวมถึงคอมพอสิทเชิงอุตสาหกรรม ตามด้วยสาขาเคมีวิเคราะห์และเคมีอนินทรีย์ประยุกต์ ที่ทำการวิเคราะห์ธาตุที่มีปริมาณน้อยและสารต่าง ๆ และค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และสาขาเคมีอนินทรีย์ ซึ่งมุ่งศึกษาการสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาในอุตสาหกรรม ตามลำดับ ปัจจุบันได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมี และหลักสูตรมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์
ภาควิชาเคมี มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน มีอุปกรณ์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และที่สำคัญคือมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูง คณาจารย์ในภาควิชาได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติทั้งการสอนและการวิจัยอย่างต่อเนื่องจากหลายหน่วยงาน และองค์กร อาทิเช่น รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ จากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) คณาจารย์ภาควิชาเคมีได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ ภาควิชาได้พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนการฝึกและการดูงานในโรงงานอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ บัณฑิตจาก เคมี-มหิดล จึงเป็นที่ยอมรับในเชิงวิชาการที่มีมาตรฐานสูงตลอดมา
รายนามหัวหน้าภาควิชา
- พ.ศ. 2503-2514 : ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
- พ.ศ. 2514-2529 : ศาสตราจารย์ น.ต. ดร.กำจร มนุญปิจุ
- พ.ศ. 2529-2533 : รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์
- พ.ศ. 2533-2537 : รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิณ วิไลรัตน์
- พ.ศ. 2537-2545 : ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล
- พ.ศ. 2545-2547 : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี เชี่ยววัฒนา
- พ.ศ. 2547-2551 : ศาสตราจารย์ ดร.มนัส พรหมโคตร
- พ.ศ. 2551-2555 : รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ
- พ.ศ. 2555-2559 : รองศาสตราจารย์ ดร.ชุลีวัลย์ ราษฎร์วิรุฬห์กิจ
- พ.ศ. 2559-2563 : รองศาสตราจารย์ ดร.ปราณี ภิญโญชีพ
- พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน : รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เว็บไซต์ภาควิชาฯ http://chemistry.sc.mahidol.ac.th
- ติดต่อภาควิชาฯ โทร. 0 2201 5110-3
ที่มา: “ภาควิชาเคมี” ใน 6 ทศวรรษ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 162-173. กรุงเทพ : โรงพิมพ์สุรวัฒน์, 2561.