ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Prapon Wilairat
B.Sc.(Hons.,A.N.U.), Ph.D. (Oregon)
1997 Outstanding Scientist Award (Biochemistry)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นแฝดผู้พี่ของรองศาสตราจารย์ ดร.ประพิณ วิไลรัตน์ เป็นบุตรของนายนิพนธ์และนางสดับพิณ วิไลรัตน์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทยผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเคมี มีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการศึกษาการทำงานของวิตามินอี โรคมาลาเรีย และโรคธาลัสซีเมีย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาชีวเคมีจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 สมรสกับนางมัลลิกา วิไลรัตน์ มีบุตร 1 คน

การศึกษา

- สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียน St. David Preparatory School กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียน Alexandra Grammar School ประเทศสิงคโปร์
- ได้รับทุนโคลัมโบจากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2506-2509 ไปศึกษาในสาขาวิชาเคมี ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เมืองแคนเบรา
- หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสองแล้ว ได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีวเคมี ในปี พ.ศ. 2517

ประวัติการทำงาน

ตำแหน่งวิชาการ
- เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2517
- ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2520 รองศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2524 และศาสตราจารย์ในปี พ.ศ. 2541

ตำแหน่งบริหาร
- หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2534
- รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
- ประธานสาขาชีวเคมี ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2533
- บรรณาธิการวารสาร Journal of Science Society of Thailand ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2535
- กรรมการบรรณาธิการวารสาร Asia Pacific Journal of Molecular Biology and Biotechnology ระหว่างปี พ.ศ. 2537-ปัจจุบัน

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2530 : รางวัล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
พ.ศ. 2535 : รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู
พ.ศ. 2538 : รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง "การทำงานของวิตามินอีในการลดโคเลสเตอรอลในกระต่าย"
พ.ศ. 2539 : เป็นผู้ร่วมคณะ ในโครงงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 ผลงานประดิษฐ์คิดค้นยอดเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2539 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2539 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาชีวเคมี
พ.ศ. 2540 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2543 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาชีวเคมี ระยะที่ 2
พ.ศ. 2547 : รางวัลปาฐกถาสวัสดิ์ สกุลไทย จากสมาคมศิษย์เก่าบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2546 : อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.)

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนกว่า 140 เรื่อง โดยเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของวิตามินอี ในการทำหน้าที่เป็นสาร antioxidant แนวทางในการนำวิตามินอีมาใช้เป็นยาลดโคเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี การศึกษาชีวเคมีและพยาธิสรีรวิทยาในระดับโมเลกุลของโรคที่พบมากในประเทศไทย จำนวน 2 ชนิด คือโรคมาลาเรียและโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพื่อเป็นแนวทางในการค้นหายาใหม่ ๆ หรือวิธีการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้น

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ (Associate Professor Dr.Prapon Wilairat)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2540
(ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัลคือ รองศาสตราจารย์)

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2540 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ได้พิจารณาเห็นว่า รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่น สาขาชีวเคมี เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงานวิจัยด้านการศึกษาการทำงานของวิตามินอี ด้านโรคมาลาเรีย และด้านโรคเลือดธาลัสซีเมีย จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2487 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายนิพนธ์ และนางสดับพิณ วิไลรัตน์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียน St. David Preparatory School กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียน Alexandra Grammar School ประเทศสิงคโปร์ จากนั้นได้รับทุนโคลัมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย ไปศึกษาในสาขาวิชาเคมี ณ มหาวิทยาลัย ออสเตรเลียนเนชั่นแนล เมืองแคนเบอรา ในปี พ.ศ. 2506-2509 หลังจากสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสองแล้ว ได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ไปศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัยโอริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีวเคมี ในปี พ.ศ. 2517

                รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์วิสามัญ ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2520 และรองศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2524 เคยดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2534 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นที่ปรึกษาชั่วคราวของ CHEMAL/WHO นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติงานในหน้าที่อื่น ๆ อีก เช่น ประธานสาขาชีวเคมี ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2531-2533 บรรณาธิการวารสาร Journal of Science Society of Thailand ระหว่างปี พ.ศ. 2534-2535 และกรรมการบรรณาธิการวารสาร Asia Pacific Journal of Molecular Biology and Biotechnology ระหว่างปี พ.ศ. 2537-ปัจจุบัน

                จากการสอนและการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดมา ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย ในปี พ.ศ. 2530 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ในปี พ.ศ. 2535 รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2538 เป็นผู้ร่วมคณะในโครงงานที่ได้รับรางวัลที่ 1 ผลงานประดิษฐ์คิดค้นยอดเยี่ยม จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2539 รางวีลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเคมีเภสัช จากสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2539 และได้รับเลือกเป็น เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2539

                ผลงานวิจัยโดยสรุปของ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ มี 3 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับการทำงานของวิตามินอี โดยพบว่าการขาดวิตามินอีในลิงจะทำให้เกิดอาการโลหิตจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในกระบวนการพัฒนาเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ผลงานวิจัยที่ได้สามารถนำมาใช้อธิบายการเกิดโรคโลหิตจางในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และการใช้วิตามินอีในการรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ได้พบว่า การขาดวิตามินอีในกระต่ายจะทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อแฟบ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของเอนไซม์ Ca-ATPase ที่กล้ามเนื้อถูกออกซิไดส์ในสภาวะที่ขาดวิตามินอี ผลงานนี้สนับสนุนการทำงานของวิตามินอีในการทำหน้าที่เป็นสาร antioxidant เอนไซม์อื่น ๆ ที่วิตามินอีมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน ได้แก่ Acyl CoA-cholesterol acyltransferase และ cholesterol 7 alpha-hydroxylase ซึ่งควบคุม cholereterol metabolism ในตับ การทำงานของวิตามินอีทำให้เอนไซม์สองตัวนี้มีการทำงานสูงขึ้น สามารถเปลี่ยนโคเลสเตอรอลให้เป็น bile salts และกำจัดออกทางน้ำดีมีผลทำให้ระดับโดเลสเตอรอลในเลือดลดลง ผลงานวิจัยเรื่องนี้ให้แนวทางในการนำวิตามินอีมาใช้เป็นยาลดโคเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

                เรื่องที่สอง เป็นงานวิจัยด้านโรคมาลาเรีย รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ และคณะ ได้นำความรู้ทางด้านชีวเคมีและพันธุวิศวกรรมมาใช้ศึกษาเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum และได้พบว่าเชื้อมาลาเรียอาศัยเอนไซม์ protease ในการเจาะเข้าเม็ดเลือดแดง นอกจากนี้ยังได้ทำการเฟ้นหาสารเคมีกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้เป็นยายับยั้งการเจริญพันธุ์ ของเชื้อมาลาเรีย โดยมีเป้าหมายที่เอนไซม์ DNA topoisomerase รวมทั้งได้คิดค้นวิธีตรวจหาเชื้อมาลาเรียโดยเทคนิค PCR

                เรื่องที่สาม เป็น งานวิจัยด้านโรคเลือดธาลัสซีเมีย รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ และคณะ ได้นำเทคนิค PCR มาใช้ศึกษาความผิดปกติของยีนในผู้ป่วยโรค Beta-thalassemia/HbE เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพบว่ามีความผิดปกติของยีนมากกว่า 20 ชนิด นอกจากนี้ยังได้พบความผิดปกติที่เยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เกิดจากการทำลายลิปิดและโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการมีระดับวิตามินอีที่ค่อนข้างต่ำในผู้ป่วย ผลงานวิจัยในโครงการนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจหาผู้ที่เป็นพาหะของโรค และตรวจหาความผิดปกติทางยีนของทารกในครรภ์ รวมทั้งการริเริ่มให้วิตามินอีแก่คนไข้โรคธาลัสซีเมีย

                ผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องของ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในเชิงพื้นฐานที่สามารถนำเอาวิธีการทางชีวเคมีมาใช้ตอบคำถามที่ตั้งขึ้น เพื่อหาข้อมูลที่สามารถจะทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรคบางอย่างได้ และในเชิงประยุกต์ในการนำเทคนิคทางชีวภาพ มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค ผลงานวิจัยนี้ได้มีส่วนเสริมสร้างให้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางวิชาการทัดเทียมนานาชาติ

                รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ได้อุทิศตน ให้กับการศึกษาวิจัยในด้านชีวเคมีในประเทศไทยอย่างจริงใจและต่อเนื่อง เป็นเวลามากกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำให้เป็นที่รักใคร่ของผู้ร่วมงาน เป็นผู้ใช้ชีวิตแบบสมถะ และมีจริยธรรมของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ เปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ และเป็นที่เคารพรักของศิษย์จำนวนมากมาย

                โดยเหตุที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี ประจำปีพุทธศักราช 2540

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2540).
                         รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๐ : รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์.
                         กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

On Becoming a Scientist

                Are there any rules by which one can be successful as a science researcher ? Sad to say, there is no such thing as the Scientific Method. However, a number of universal guidelines can be recommended.

                1. Work on something that is you find exciting or interesting. This will be an impetus to get one to read the literature on the topic of interest so that ultimately one becomes an expert on the topic, at least in one's department or even in the country.

                2. Never do an experiment which you cannot predict an answer or answers. You may ask: if you know the answer, why do the experiment? Experiments are conducted to obtain proofs of one's prediction. In other words, scientific experiments are undertaken to obtain evidences that support one's idea or hypothesis. Experiments are not exercises in data gathering; the data themselves must provide information which either is consistent with the working hypothesis or contradicts it.

                3. Never work in isolation. A corollary to this is that one should tell as many people as possible about one's work. Science is a public activity but is also competitive. The sooner one learns if someone else is doing the same experiment or receives advise on how to overcome a technical difficulty, the quicker one can publish the data.

                4. Associate with people who are successful in science. Choosing the appropriate questions and designing the proper sets of experiments require experience which can only be learnt from other scientists who already have acquired these skills. This is a long process, requiring the aspiring scientist at least 10 years of training : first there is the B.Sc. degree (4 years), then the M.Sc. degree (2 years), and lastly the Ph.D. degree (4 years). It is recommended that the scientist spend one or more years as a postdoctoral researcher to obtain experience working as an independent scientist.

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2540). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2540 :
รองศาสตราจารย์ ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.