ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห

ประวัติ l ผลงานด้านการวิจัย l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ



Emeritus Professor Dr.Stitaya Sirisinha
B.S.(Hons.,Jacksonville State), Ph.D. (Rochester)
1988 Outstanding Scientist Award (Microbiology)

                ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ทันตแพทย์สถิตย์ สิริสิงห เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 นักวิจัยผู้บุกเบิกสาขาอิมมิวโนวิทยาของประเทศไทยในยุคเริ่มแรก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาจุลชีววิทยา ประจำปี พ.ศ. 2531 ด้วยผลงาน "ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเนื่องมาจากการขาดสารอาหาร" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ ศาสตราจารย์พันโท ทันตแพทย์สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และคุณหญิงอัมพร สิริสิงห สมรสกับ พญ.วลัยรัตน์ สิริสิงห มีบุตรธิดา 3 คน คือ พญ.ธิติยา รศ.ดร.ชาคริต และ นส.วิทิดา สิริสิงห

การศึกษา

                สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามลำดับ เมื่อปี พ.ศ. 2496 สอบเข้าจุฬาฯ ตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่เรียนได้ 2 เดือน ก็เปลี่ยนความตั้งใจไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุเพียง 15 ปี โดยมีชื่อเรียกขานแบบอเมริกันระหว่างที่พำนักอยู่กับครอบครัว Volker ว่า "Steve Sirisinha" สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี พร้อมกัน 2 ปริญญา คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) และอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากแจ็คสันวิลล์คอลเลจ เมื่อปี พ.ศ. 2500

                จากนั้น ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอลาบามา และได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา และปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ในปี พ.ศ. 2504 และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ จนได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา (อิมมิวโนวิทยา) ในปี พ.ศ. 2508

พ.ศ. 2496-2500 : ปริญญาตรี B.A. (Honors), Jacksonville State University, USA
พ.ศ. 2496-2500 : ปริญญาตรี B.S. (Honors), Jacksonville State University, USA
พ.ศ. 2500-2504 : ปริญญาโท M.S., University of Alabama, USA
พ.ศ. 2500-2504 : ปริญญาเอก D.M.D. (Honors), University of Alabama, USA
พ.ศ. 2504-2508 : ปริญญาเอก Ph.D., University of Rochestor, USA
พ.ศ. 2513 : Post-doctoral, Washington University, USA

ประวัติการทำงาน

                เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนถึงปี พ.ศ. 2510 จึงโอนมารับราชการที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามคำชักชวนของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และในปี พ.ศ. 2513 ได้ไปปฏิบัติงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้กลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดลต่อ จนได้รับตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นเป็นลำดับ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2522

ตำแหน่งวิชาการ
พ.ศ. 2508-2509 : อาจารย์โท ภาควิชาบักเตรีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2509-2510 : อาจารย์เอก ภาควิชาบักเตรีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)
พ.ศ. 2510-2517 : อาจารย์เอก ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2517-2519 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2519-2522 : รองศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2522-2527 : ศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2527-2541 : ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ระดับ 11 ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2515-2519 : รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2519 : คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2522-2529 : รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2530-2534 : หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2531-2545 : หัวหน้าห้องปฏิบัติการอิมมิวโนวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

ตำแหน่งพิเศษอื่น ๆ ที่สำคัญ
พ.ศ. 2510-ปัจจุบัน : อาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยและสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันโรคผิวหนัง
พ.ศ. 2519-2526 : อนุกรรมการคัดเลือกนักวิจัยโครงการแลกเปลี่ยน NIH Forgaty คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2522-2526 : ประธาน/กรรมการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2523-2526 : กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2530-2534 : กรรมการบริหาร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2531 : คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติ เรื่อง "โรคพยาธิใบไม้ตับ" กระทรวงสาธารณสุข
พ.ศ. 2531-2537 : กรรมการ/เลขานุการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
พ.ศ. 2535-2538 : ประธานกรรมการแผนกทันตแพทย์ศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล
พ.ศ. 2536-2543 : กรรมการจัดตั้งและรองประธาน "Federation of Immunological Societies of Asia-Oceania" (FIMSA)
พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : กรรมการประจำ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2549 : กรรมการจัดตั้งราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย

- กรรมการรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล
- กรรมการบริหารการวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- อนุกรรมการประเมินนักวิจัยที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- อนุกรรมการประเมินผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัลผลงานคิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- อนุกรรมการประเมินผลงานวิจัยที่เสนอขอรับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
- อ.ก.ม. วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการ สาขาวิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี ของทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการผู้บริหารองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการให้สถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และองค์กรต่าง ๆ เช่น สกว. สวทช. กรรมการวิจัยแห่งชาติ

ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรระดับนานาชาติ
- WHO Temporary Advisor
- กรรมการ Technical Adhoc Committee for Bacterial Vaccine
- พ.ศ. 2521 : WHO Short-term Consultant in Microbiology to Sri Lanka
- พ.ศ. 2524 : Member of WHO Workshop "The Immunity of Mucosal Membrane"
- พ.ศ. 2526-ปัจจุบัน : WHO Expert Advisory Panel on Immunology
- พ.ศ. 2541-2547 : กรรมการผู้บริหาร (Councilor) ของ "International Union of Immunological Societies" (IUIS)
- พ.ศ. 2543-2547 : President of Federation of Immunological Societies of Asia-Oceaniae

บรรณาธิการ/คณะบรรณาธิการ/ที่ปรึกษาวารสารวิชาการ
- Asian-Pacific Journal of Allergy and Immunology
- Medical Progress
- Journal of Science Society of Thailand
- Journal of Medical Association of Thailand
- Thai Journal of Oral and Maxillofacial Surgery

สมาชิก/กรรมการบริหารสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ
- American Society of Microbiologists
- Soceity for Experimental Biology and Medicine
- American Society for the Advancement of Science
- Allergy and Immunology Society of Thailand
- Dental Association of Thailand
- Science Society of Thailand
- Founding Member of "Federation of Immunological Societies of Asia-Oceania" (FIMSA) 1992
- Vice President and Councilor member of FIMSA
- Councilor member of "International Union of Immunological societies" (IUIS)
- Sigma XI
- สมาคมนักจุลชีววิทยาแห่งประเทศไทย

เกียรติคุณและรางวัล

พ.ศ. 2500 : ได้รับการคัดเลือกเป็น Who's Who Among Students in American Universities and Colleges
พ.ศ. 2518 : ได้รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
พ.ศ. 2504 : สมาชิก Omicron Kappa Upsilon (Honorary Dental Society, USA)
พ.ศ. 2531 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาจุลชีววิทยา ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2541 : ได้รับการคัดเลือกเป็น Who's who in the World
พ.ศ. 2542 : ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปริญญากิตติมศักดิ์

พ.ศ. 2545 : วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ศ. 2547 : ทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2549 : ทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พ.ศ. 2524 : ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
พ.ศ. 2528 : ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. 2530 : มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2535 : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2522 : ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)
พ.ศ. 2538 : เหรียญจักพรรดิ์มาลา (ร.จ.พ.)
พ.ศ. 2542 : เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์

^ Go to top

ผลงานด้านการวิจัย

                มีผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ และบทความในตำราต่าง ๆ รวมประมาณ 193 เรื่อง หลังเกษียณอายุราชการ มีงานตีพิมพ์ประมาณ 50 เรื่อง โดยเป็นผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาระบบภูมิต้านทานทั้งในคนและสัตว์ทดลอง ความผิดปรกติของภูมิต้านทานในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กขาดสารอาหาร การวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะแหล่ง และโครงสร้างของอิมมิวโนโกลบูลิน การวิจัยเกี่ยวกับ วิทยาภูมิกันและชีวโมเลกุลของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศแถบเอเซีย เช่นโรคพยาธิบางชนิด ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis vierrini) พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) และ พยาธิตัวกลม (Angiostrongylus cantonensis) โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่นโรค Melioidosis ที่เกิดจากเชื้อ Burkholderia pseudomallei โรคที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium marneffei เป็นต้น ผลงานวิจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบภูมิต้านทานในคนที่พยาธิสภาพผิดปรกติ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและวินิจฉัยโรคดังกล่าว

^ Go to top

คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล"นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

                ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2531 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2531 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาขาจุลชีววิทยา เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีคุณภาพดีเด่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอิมมิวโนวิทยา จนสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป และเพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม

                ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ ศาสตราจารย์ พันโท ทันตแพทย์สี และคุณหญิงอัมพร สิริสิงห สำเร็จการศึกษา ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามลำดับ เมื่อปี พ.ศ. 2496 ได้เข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีเดียวกัน ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม และอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม จากแจ็คสันวิลล์คอลเลจ เมื่อปี พ.ศ. 2500 ต่อจากนั้นได้เข้าศึกษา ในมหาวิทยาลัยอลาบาม่า และได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา และปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยม ในปี พ.ศ. 2504 และได้ศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ จนได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุลชีววิทยา สาขาอิมมิวโนวิทยา ในปี พ.ศ. 2508

                เมื่อสำเร็จการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ได้เข้ารับราชการ เป็นอาจารย์ที่ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนปี พ.ศ. 2510 จึงโอนเข้ารับราชการที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และในปี พ.ศ. 2513 ได้ไปปฏิบัติงาน หลังปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้กลับมารับราชการ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลต่อ จนได้รับตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นเป็นลำดับ จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2522

                ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ได้มุ่งมั่นศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดมา มีผลงานวิจัยดีเด่น ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิจัยชั้นนำระดับโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนถึงปัจจุบันรวม 98 เรื่อง ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันและองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและได้รับเชิญให้อยู่ในคณะบรรณาธิการของวารสารของสมาคม และวารสารวิจัย ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญ และอยู่ในกลุ่มที่ปรึกษาทางอิมมิวโนวิทยา ขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน

                ผลงานวิจัยโดยสรุปที่สำคัญของ ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ได้แก่ ผลการศึกษาระบบภูมิต้านทาน ทั้งในคนและสัตว์ทดลอง ความผิดปรกติของภูมิต้านทานในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กขาดสารอาหาร การวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะแหล่งและโครงสร้างของอิมมิวโนโกลบูลิน การวิจัยเรื่องอิมมิวโนวิทยาของโรคพยาธิบางชนิดโดยใช้สัตว์ทดลอง เป็นต้น ผลงานวิจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบภูมิต้านทานในคนที่พยาธิสภาพผิดปรกติ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้น

                ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เป็นนักวิจัยที่มุมานะ อดทน ได้อุทิศเวลาให้กับงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้ในช่วงระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ทางด้านงานบริหารสำคัญระดับรองอธิการบดี ก็ยังสามารถผลิตผลงานวิจัยที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ อันเป็นคุณสมบัติที่หาได้ไม่ง่ายในนักวิจัยทั่วไป นอกจากเป็นนักวิจัยที่ดีแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักบริหาร ที่เคารพในหลักวิชา หลักของเหตุผล และมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เป็นครูที่เป็นที่เคารพรักของศิษย์ ระดับปริญญาตรี โท เอก มากมาย ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

                โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เป็นผู้เพียบพร้อมด้วย คุณวุฒิ และคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาจุลชีววิทยา พุทธศักราช 2531

คัดจากหนังสือ :  มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2531).
                        รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2531 : ศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ สิริสิงห.
                        กรุงเทพฯ : มูลนิธิ. ISBN 974-7576-65-1

^ Go to top

วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”

                “...นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์หรือนักศึกษาที่กำลังจะเลือกวิทยาศาสตร์เป็นวิชาชีพ หากมีความสนใจที่จะทำงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้พัฒนาความรู้พื้นฐานในสาขานั้น ๆ หรือเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยก็ตาม มีโอกาสดีกว่าผู้เขียนที่ต้องเริ่มต้นทำการวิจัยในประเทศไทยเมื่อหลายปีมาแล้ว เนื่องจากว่าบรรยากาศต่าง ๆ รวมไปถึงเงินทุนสนับสนุนการวิจัย เครื่องมือสมัยใหม่ที่มีขีดความสามารถสูงหรือแม้กระทั่งการใช้ไฮเทคในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก ดังนั้น ความพยายามและเวลาที่เคยต้องเสียไป เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างในสมัยก่อนจึงมีน้อยมาก และนักวิจัยสามารถที่จะทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างให้กับงานวิจัยจริง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หากเราเป็นคนที่มีความตั้งใจแน่วแน่ มีความสนใจ และสุขใจอยู่กับการวิจัยเราสามารถที่จะประสบความสำเร็จได้โดยไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลย ...”

^ Go to top

ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห"

^ Go to top

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล