ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์

              ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2489 ณ กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายประพัธน์ พูลสวัสดิ์ อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ (การรถไฟแห่งประเทศไทย) มารดาชื่อ นางชลอศรี พูลสวัสดิ์ เป็นแม่บ้าน

การศึกษา

              สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดดอนยาง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมปีที่ 1-4 ณ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 (ม.7-ม.8 เดิม) โรงเรียนพิบูลย์วิทยาลัย จังหวัดลพบุรี มัธยมปีที่ 5-6 ณ โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสระบุรี (เป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาธิการ จากอำเภอบางสะพาย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย)
              พ.ศ. 2513 : สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
              พ.ศ. 2518 : ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขานิวเคลียร์เทคโนโลยี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
              พ.ศ. 2522 : สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล
              พ.ศ. 2536 : สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าซิตี้ ประเทศญี่ปุน

ประวัติการทำงาน

              พ.ศ. 2510-2516 : Avian Malariologist ในโครงการสำรวจสัตว์ย้ายแหล่งทางพยาธิวิทยา (Migratory Animal Pathological Survey-MAPS) สถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)
              พ.ศ. 2517 : บรรจุในตำแหน่ง นักวิชาการ
              พ.ศ. 2526 : ตำแหน่ง อาจารย์ประจำ
              พ.ศ. 2531 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์
              พ.ศ. 2534 : รองศาสตราจารย์
              พ.ศ. 2543 : ศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพิเศษนอกเหนือจากงานประจำในประเทศ
              พ.ศ. 2537-2550 : เลขาธิการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
              พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน : กรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
              พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน : คณะกรรมการมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
              พ.ศ. 2544-ปัจจุบัน : คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ
ตำแหน่งอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพิเศษนอกเหนือจากงานประจำในต่างประเทศ
              พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน : เป็น Honorary Fellow ของ The American Ornithologist’s Union(AOU)
              พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน : Editorial Board ของ Ornithological Science, Journal of Ornithological Society of Japan
              พ.ศ. 2541-2549 : Executive Committee ใน International Ornithological Committee
              พ.ศ. 2528-ปัจจุบัน : คณะกรรมการ (ตัวแทนของประเทศไทย) ใน International Ornithological Committee
              พ.ศ. 2527-ปัจจุบัน : สมาชิกใน IUCN/Birdlife International Horn bill Specialist Group

ผลงานวิจัย

              1. การศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกในพื้นที่มรดกโลก ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
              2. การศึกษาการใช้พื้นที่ของนกเงือก (Home range) ในป่าชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย
              3. การศึกษาผลของการสูญพันธ์ของนกเงือกต่อกระบวนการแพร่กระจายเมล็ดไม้ในป่าเขตร้อน : การเปรียบเทียบอัตราการสูญเสียของเมล็ดไม้และพลวัตรของกล้าไม้ของพันธุ์ไม้ที่แพร่กระจายโดยนกเงือกในป่าสมบูรณ์และป่าเสื่อมโทรม
              4. ลักษณะพันธุกรรม ประชากร สถานภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือกในพื้นที่ผืนป่าและหย่อมป่าในประเทศไทย [โครงการร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ Wildlife Conservation Society (Thailand)]

แหล่งทุนวิจัย

              ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ งบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ห้างหุ้นส่วนจำกัด คลินิคอลไดแอกโนสติคส์ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มูลนิธิซิเมนต์ไทย บริษัท สยามมิชลิน จำกัด บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ฯลฯ

ผลงานดีเด่น

              1. ด้านงานวิจัยนกเงือก (2521-ปัจจุบัน)
              งานวิจัยจนได้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยา การสืบพันธุ์ของนกเงือกครอบคลุมตั้งแต่ฤดูการทำรัง อุปนิสัยการทำรัง ชนิดต้นไม้ที่เป็นโพรงรัง ลักษณะเฉพาะของรังชนิดและปริมาณของอาหารในช่วงกกไข่และเลี้ยงลูก สารอาหาร (Nutrients) ที่จำเป็นในช่วงกกไข่และเลี้ยงลูก การรวมฝูงและชนิดอาหารนอกฤดูทำรัง การใช้พื้นที่ป่า (Home range) โครงสร้างป่าถิ่นอาศัยและบทบาทการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าของนกเงือก และวิจัยทางพันธุกรรมของนกเงือกไทยทุกสายพันธุ์ ผลงานวิจัยที่ได้นำไปใช้ในการจัดการโพรงรังของนกเงือกไทยอันเป็นปัจจัยจำกัดในการขยายพันธุ์ของนกเงือกตามธรรมชาติ ในการจัดการโพรงรังนั้นรวมไปถึงการแก้ไขปรับปรุงโพรงเก่าที่นกเงือกละทิ้ง เนื่องจากสูญเสียสภาพที่เหมาะสม เช่นโพรงรังทรุด ปากโพรงปิด และรวมถึงการปรับปรุงโพรงไม้ที่ไม่เคยเป็นรังของนกเงือกแต่มีศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์ให้แก่นกเงือก ซึ่งหากปล่อยตามธรรมชาติ จะทำให้ประชากรลดลงได้ เพราะโพรงรังที่เหมาะสมมีจำกัด
              2. ด้านงานอนุรักษ์นกเงือก (2537-ปัจจุบัน)
              ก่อน พ.ศ. 2537 นกเงือกที่เทือกเขาบูโด (ซึ่งมีพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในระหว่างการเตรียมพื้นที่เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี) ประสบกับปัญหาอย่างหนักจากการถูกล่าโดยการขโมยลูกนกเงือก การลักลอบตัดไม้และบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกยางพาราและผลไม้ ด้วยความรู้ความสามารถจากการศึกษาวิจัยใน พ.ศ. 2537 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ได้เข้าไปดำเนินการรณรงค์และปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์นกเงือกและป่าถิ่นอาศัยบนเทือกเขาบูโด ร่วมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จนได้อดีตพรานล่านกเงือก ผู้นำชุมชน ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโด 13 หมู่บ้านในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี อำเภอรามัน จังหวัดยะลา อำเภอบาเจาะ อำเภอยี่งอ และอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เข้ามาร่วมงานวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกแห่งเทือกเขาบูโด จนทำให้ประชากรนกเงือกทั้ง 6 ชนิด เพิ่มขึ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 400 ตัว (พุทธศักราช 2537-ปัจจุบัน) นอกเหนือจากความสำเร็จในการปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์นกเงือกแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านต่อการล่านกเงือกให้เป็นนักอนุรักษ์นกเงือกจนชาวบ้านยอมรับและเห็นความสำคัญของนกเงือก โดยนายสาและ สือนิชาวบ้านตำบลตาเปาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้าง “ศูนย์อนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด” ที่หมู่บ้านตาเปาะ (ปัจจุบันเป็นศูนย์ฯ ให้ความรู้เกี่ยวกับป่า และสัตว์ป่าตลอดจนดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์แก่เยาวชนในท้องถิ่น) ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายโรงเรียนและชุมชน การจัดค่ายเยาวชนให้แก่โรงเรียนโดยรอบเทือกเขาบูโด และสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง

แหล่งทุนสนับสนุน

              ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มูลนิธิซิเมนต์ไทย ห.จ.ก คลินิคอลไดแอกโนสติคส์ บริษัท ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ผู้บริจาครายบุคคล Woodland Park Zoo, AAZK, Audubon Zoo, USA, Chester Zoo, UK และ Swarovski Optik, Austria ฯลฯ

ประโยชน์ของงานวิจัยนกเงือกต่อสังคมและประเทศชาติ

              1. สำหรับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
              1.1 เกิดองค์ความรู้ด้านชีววิทยาและนิเวศวิทยาของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนกที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เช่น ในสาขาชีววิทยา ชีววิทยาสภาวะแวดล้อม ชีววิทยาอนุรักษ์ชีววิทยาป่าไม้เป็นต้น สามารถนำไปเป็นเนื้อหาในการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาโดยตรงจากตัวอย่างการศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก (ซึ่งส่วนมากมักยกตัวอย่างจากงานวิจัยของต่างประเทศ) ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทำให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ในระบบนิเวศของป่าไทย และทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่นักศึกษาที่จะศึกษาวิจัยทางด้านสัตว์ป่าและถิ่นอาศัย
              1.2 เป็นโครงการต้นแบบที่เปิดรับนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเข้ารับการฝึกอบรม และทำการวิจัยด้านสัตว์ป่าและถิ่นอาศัย
              1.3 จัดนิทรรศการ บรรยายให้แก่นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและเอกชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและจิตสำนึกในอันที่จะร่วมมือกันในการรณรงค์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาตินอกจากนี้สวนสัตว์ และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าสามรถนำเอาผลงานวิจัยไปใช้เพื่อการเขายพันธุ์ต่อไป
              2. สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่
              2.1 จากการวิจัยชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือกไทยมากกว่า 30 ปี จึงเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ให้ความรู้ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกและการประยุกต์ หรือต่อยอดต่อไปในอนาคต ดังเช่น โครงการการออกแบบและการจัดสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก การจัดการโพรงรัง บทบาทและประสิทธิภาพของนกเงือกในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้นำข้อมูลทางชีววิทยา นิเวศวิทยามาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของนกเงือกในธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะพันธุ์พืชโดยนกเงือก
              2.2 เป็นแบบอย่างของงโครงการบูรณาการ โดยการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยหลากหลายสาขา เช่น ชีววิทยา พันธุกรรม สัตววิทยา ปักษีวิทยา พฤกษศาสตร์ นิเวศวิทยาประชากร นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ นิเวศวิทยาสัตว์ป่า และมัณฑนศิลป์ จากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาหลายสถาบัน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินโครงการวิจัยเชิงบูรณาการ โดยใช้นกเงือกเป็นสัตว์เป้าหมายในการวิจัยซึ่งรูปแบบและผลการวิจัยสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของประเทศ และเป็นโครงการต้นแบบให้แก่โครงการวิจัยอื่นในลักษณะเดียวกันนี้
              2.3 จัดตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก (ได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านนกเงือก นิเวศวิทยาป่าและพันธุ์พืชและสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่
              3. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
              3.1 จากผลงานวิจัยทำให้เกิดองค์ความรู้นานาประการ เช่น นกเงือกมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยฟื้นฟูและรักษาสมดุลของนิเวศวิทยาป่า โดยทำหน้าที่เป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ ช่วยควบคุมประชากรแมลงและสัตว์ขนาดเล็กให้สมดุล สามารถบ่งชี้ถึงสถานภาพและคุณภาพของป่าที่มีขนาดและโครงสร้างต่างกัน และการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทนกเงือกในการแพร่กระจายเมล็ดพรรณไม้ป่านี้ใช้ประเมินสถานภาพของป่าในอนาคตได้
              3.2 จากการวิจัยทำให้ทราบถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และองค์ความรู้เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์ในระบบนิเวศของป่าไทย สามารถนำความรู้ไปวางแผนฟื้นฟูสภาพป่าในอนาคตได้เป็นอย่างดี
              4. การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไป ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
              4.1 ให้ความรู้ และเสริมสร้างความตระหนัก ตลอดจนปลูกจิตสำนึก และเห็นคุณค่าของเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้นกเงือกเป็นสื่อ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการล่านกเงือก การตัดไม้ทำลายป่าของชาวบ้านให้มามีส่วนในการอนุรักษ์ และเกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน โรงเรียนเยาวชน และนักวิจัย พร้อมทั้งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยที่ชาวบ้าน (อดีตพรานล่านกเงือก) เข้ามาเป็นผู้ช่วยวิจัย เพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการเฝ้าระวัง และสังเกตพฤติกรรมการทำรังของนกเงือก เช่น โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก ณ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
              4.2 ได้ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดองค์ความรรู้เกี่ยวกับนกเงือกและถิ่นอาศัยให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นสมบัติของท้องถิ่นและประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป และมีศักยภาพในการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ หากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ลดลง
              4.3 นำงานวิจัยมาเป็นสื่อกลางในการกระตุ้นให้คนเมืองเข้ามาสัมผัส และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น เช่น โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด และศูนย์อนุรักษ์นกเงือกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี
              4.4 ฝึกอบรมการเป็นนักวิจัยรุ่นเยาว์ให้แก่เยาวชนในท้องถิ่นจากโรงเรียนต่าง ๆ และผู้ที่สนใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า ให้ดำรงอยู่ได้ต่อไปในอนาคต เช่น โครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือเขาบูโด
              4.5 การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากนกเงือกเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ และมีพฤติกรรมการทำรังที่น่าสนใจ จึงดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างมีคุณภาพโดยปลูกจิตสำนึกเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติสัตว์ป่าและป่า โดยใช้นกเงือกเป็นสื่อ และยังคงจัดการอบรมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันให้แก่เยาวชน ชาวบ้านเพื่อเป็นมัคคุเทศก์หลักที่สำคัญ และสร้างเยาวชนในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

              พ.ศ. 2537 : เกียรติบัตรในด้านความสนใจในการรณรงค์ เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีของประเทศไทย จากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
              พ.ศ. 2539 : โล่เกียรติยศนักอนุรักษ์ดีเด่น สาขาการวิจัยสัตว์ป่า จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
              พ.ศ. 2544-2546 : รางวัลจากโครงการร่วมใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย เรื่อง โครงการเยาวชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด จาก บริษัทฟอร์ดโอเปอเรชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด
              พ.ศ. 2547 : โล่เกียรติยศ ครุศาสตร์ดีเด่น จากสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
              พ.ศ. 2549 - รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ระดับศาสตราจารย์ ประจำปีการศึกษา 2548 จาก สภาอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
              พ.ศ. 2549 : รับพระราชทานรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลสาขาการวิจัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของนกเงือก” จากมหาวิทยาลัยมหิดล
              พ.ศ. 2549 : รางวัล (คนไทยคนแรก) The 52 Annual Chevron Conservation Awards จาก Chevron Corporation สหรัฐอเมริกา
              พ.ศ. 2549 : รางวัลผู้ทรงเกียรติ (คนไทยคนแรก) The 2006 Rolex Awards for Enterprise จาก Rolex SA ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
              พ.ศ. 2550 : รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำพ.ศ. 2549 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท)
              พ.ศ. 2550 : รางวัล BCST-Swarovski Award (นักอนุรักษ์นกดีเด่น) จาก สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand และ Swarovski Optik ประเทศออสเตรีย) Enterprise

บทสัมภาษณ์

ที่มา : รายการ The Lessons บทเรียนชีวิต ทางไทยพีบีเอส เผยแพร่เมื่อ วันที่ 6 สิงหาคม 2565

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล