รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ กับบทบาท
ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2545-2553)

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ นอกจากจะเป็นผู้บริหารของสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้สถาบันฯ เป็นที่รู้จักในด้านการวิจัยและวิชาการ ยังสร้างผลงานบริการวิชาการวิจัยและการเรียนการสอนที่เป็นคุณประโยชน์แก่สังคม ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับประเทศ และนานาชาติ ตลอดระยะเวลา 8 ปี

การดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการของสถาบันฯ นับได้ว่าเป็นผลงานที่มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหมู่นักวิชาการ มีการเผยแพร่ความรู้สู่บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนและสังคม โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกระดับ ส่งเสริมวิชาการแก่โรงเรียนและชุมชน เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการศึกษาในระดับหน่วยงาน ระดับประเทศ และนานาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ เป็นแบบอย่างที่ดีในการอุทิศตนเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว อาทิ เป็นอาจารย์พิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการ เสนอผลงานทางวิชาการผ่านสื่อต่าง ๆ เป็นวิทยากรรับเชิญในการประชุมทางวิชาการ เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่สถาบันการศึกษามากมาย ประมาณ 150 ครั้ง โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ด้านนวัตกรรมการเรียน การสอน แบบ Active Learning ให้รู้จริง รู้นาน รู้สร้างสรรค์ โดยในช่วงระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ มีผลงานบริการวิชาการจำนวน 180 ครั้ง

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ยังได้รับเชิญเป็น Plenary Speaker และ Invited Speaker ในการประชุมระดับนานาชาติหลายครั้ง รวมถึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ 2 ครั้ง คือ การจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ICASE Asian Symposium 2007 เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 และการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติฟิสิกส์ศึกษา ICPE 2009 เมื่อวันที่ 23-24 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ภารกิจหลักประการหนึ่งของ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ คือการสอนนักศึกษาของสถาบันฯ ในระดับปริญญาโทและเอก รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ มีวิธีการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ สอนในห้องเรียนแบบตีบทให้แตก มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาจนเกิดความสร้างสรรค์และนวัตกรรม สามารถออกแบบการทดลองและสื่อการสอนขึ้นมาเอง และนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างได้ผล รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ เป็น Major Advisor ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาเอก 10คน เป็น Co Advisor ให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาเอก 40 คน ในด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ทั้งเคมีศึกษา ฟิสิกส์ศึกษา คณิตศาสตร์ศึกษา ฯลฯ นักศึกษาทุกคนสามารถผลิตผลงานทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติได้เฉลี่ยคนละ 1 เรื่อง

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ยังมีความสนใจด้านการวิจัยปลากัดไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และพันธุกรรม โดยมีผลงานเด่นในการค้นพบปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ ปลากัดป่ามหาชัย และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามชื่อไทย ว่า "Betta mahachaiensis" เมื่อปี พ.ศ. 2555

รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ พานิชพันธุ์ เป็นผู้มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งในสาขาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาระดับโมเลกุล สามารถนำความรู้แต่ละสาขามาประยุกต์ใช้และบูรณาการระหว่างสาขา สร้างเป็นผลงานสำคัญระดับแนวหน้าที่มีผลกระทบและคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยสรุปเป็น 4 โครงการที่มีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • 1. โครงการผลิตชุดตรวจสอบภาคสนามชนิดขวดเดียว สำหรับวัดปริมาณไอโอเดทในเกลือ (I-kit) และเครื่องวัดปริมาณไอโอเดทในเกลือ (I-reader) จัดทำขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2535
  • 2. โครงการการเก็บรักษาและการใช้และขนส่งวัตถุอันตรายอย่างปลอดภัย และมาตรการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม นำความรู้ทางเคมีที่ลึกซึ้งมาช่วยในการร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และข้อกำหนดที่ตามมา ทั้งการป้องกันอันตรายจากการเก็บรักษา ขนส่งวัตถุอันตราย การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการลดอุบัติภัยและการสูญเสีย
  • 3. การค้นพบปลากัดไทยสายพันธุ์ใหม่ด้วยเทคนิคอณูชีววิทยา ได้รับการสนับสนุนโครงการวิจัยจาก โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  • 4. โครงการบูรณาการผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสร้างขึ้นมาเองกับวิธีการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ โดยผลักดันให้เกิดการถ่ายทอด ขยายผลได้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดจากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษาให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ


การประชุม PACCON 2013 “Global Chemical Sciences for Green Community”
วันที่ 23-25 มกราคม 2556 โดยสมาคมเคมีแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา


งานแถลงข่าวการค้นพบ "ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก" เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555
ณ ห้องประชุม K 101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา :
1. หนังสือที่ระลึกงานเกษียณอายุงาน ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ พ.ศ. 2553
2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (5 เมษายน 2565). นักวิจัย คณะวิทย์ มหิดล ค้นพบ "ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก"
3. Dr.Bhinyo Panijpan : In memoriam August 19, 1942-September,15, 2022