ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล

ประวัติ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2485 ที่ตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนประจำจังหวัดสิงห์บุรี และมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรีทางเคมี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาเอกทางด้านเคมีอินทรีย์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมืองเมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2514 ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเคมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมรสกับนางแสงโสม (วิเชียรโชติ) ริ้วตระกูล มีธิดา 2 คน คือ แพทย์หญิงสิริมนต์ ประเทืองธรรม และนางมนฑิรา ทวีสิน

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2514- : เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • พ.ศ. 2519 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์
  • พ.ศ. 2522 : รองศาสตราจารย์
  • พ.ศ. 2527 : ศาสตราจารย์
  • พ.ศ. 2545 : ศาสตราจารย์ ระดับ 11
  • พ.ศ. 2537-2545 : ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่างๆ
- ประธานคณะกรรมการจัดการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 และ 18
- ที่ปรึกษาชั่วคราวของ HRP/WHO และประธานของ The steering committee of WHO task force on plants for fertility regulation
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ระหว่างปี พ.ศ. 2539-2542
- กรรมการในคณะกรรมการอุดมศึกษาเอกชน ทบวงมหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวิชาการ สภาสถาบันราชภัฏระหว่างปี พ.ศ. 2541-2543
- ประธานกรรมการพิจารณาขอเปิดดำเนินการหลักสูตรและการรับรองมาตรฐานการศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และประจำสำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ที่ปรึกษาและผู้ประสานงานด้านความร่วมมือต่างประเทศและวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สกว.
- ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี (Postgraduate Education and Research Program in Chemistry-PERCH) ซึ่งเป็น Consortium การผลิตนักศึกษาและงานวิจัยทางเคมี ร่วมกัน 5 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยของแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- กรรมการในกองบรรณาธิการเกียรติคุณของวารสารสงขลานครินทร์ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- เป็นผู้ประสานงานและดำเนินการควบคุมการวิจัยของโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับประเทศบังคลาเทศ และประเทศศรีลังกา โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสวีเดน
- เป็นที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ International Foundation For Science (IFS), The Asian Network of Research on Antidiabetes Plants (ANRAP) และ International Program in the Chemical Sciences (IPICS) เป็น Editorial Board และ Associate Editor ของ Asian Journal of Andrology และ Pharmaceutical Biology ตามลำดับ
- เป็นเครือข่ายและผู้ประสานงานเครือข่ายเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติประเทศไทย ขององค์การยูเนสโกปี พ.ศ. 2545-2548


เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

- ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทยประเภทบุคคล ประจำปี พ.ศ. 2538
- ได้รับเลือกเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. 2539-2546
- ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว.2545 ในด้านที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ
- ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ Palmes Académiques ชั้น Commander (The Commandeur dans I'Ordre des Palmes Académiques) จาก สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ปี 2559
- ได้รับรางวัลเกียรติยศนักเคมีอาวุโส สมาคมเคมีแห่งประเทศไทยฯ ปี 2564

ทุนวิจัย

สำหรับทุนวิจัย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ เช่น จากองค์การอนามัยโลกทางด้าน male and female fertility regulation จาก CONRAD, USAID ทางด้าน male fertility regulation จาก International Foundation For Science (IFS) ทางด้าน bioactive natural products และได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและการวิจัยทางเคมี (Postgraduate Education and Research Program in Chemistry - PERCH) และ International Program in Chemical Sciences (IPICS)


การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

1. งานวิจัยทางด้าน directed exploratory research in bioactive natural products อาจจะนำไปสู่สารต้นแบบ (lead structures) ซึ่งสามารถนำมาจดสิทธิบัตร ซึ่งจะเข้าไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณประโยชน์ในอนาคต
2. การพัฒนาสารประเภทที่มีฤทธิ์ทางด้าน anti-inflammatory antimicrobial และ antioxidant activities มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำสารประเภทนี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องสำอาง สารที่ใช้ในเรื่องการรักษาผลไม้สดอยู่ได้นานขึ้น ตัวอย่างที่การพัฒนาการถ่ายทอดความรู้และสร้างนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในเชิงสาธารณะ (public benefits) ที่จะเริ่มเป็นรูปธรรม คือการพัฒนาสารจากไพล (Zingiber cassummunar) ที่อาจจะใช้ใน cosmeceutical products ต่าง ๆ ในนามของ Plaitanoids

ที่มา : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2546. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล