ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2519-2534


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 ของโรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ (พ.ศ. 2501-2502) ด้วยผลการเรียนที่ดีเด่น ทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข สนับสนุนให้ไปศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี เมื่อ พ.ศ. 2508 นับเป็นหนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ที่มีความใกล้ชิดกับ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นอย่างมาก

พ.ศ. 2519 ท่านได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สืบต่อจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห นับเป็นคณบดีท่านที่สี่ของคณะฯ โดยท่านได้สืบสานปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในการพัฒนาให้คณวิทยาศาสตร์ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ นอกจากนี้ยังผลักดันให้ก้าวหน้าไปในระดับนานาชาติ โดยสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารองค์กร ด้านวิชาการ งานวิจัย พัฒนาศักยภาพของบุคลากร สำหรับด้านการเรียนการสอนนั้น คณะวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยมีหลักสูตรระดับปริญญาโท 14 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 10 หลักสูตร นอกจากนี้ยังส่งเสริมด้านวิชาการและงานวิจัย ทำให้คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก

คณะวิทยาศาสตร์ภายใต้การบริหารงานของท่านในระยะแรก มุ่งเน้นด้านการบริหารงบประมาณเพื่อปรุงปรุงกิจการและสวัสดิการภายในคณะฯ มีโครงการสร้างอาคารที่พักของคณาจารย์และข้าราชการ โครงการขยายโรงอาหาร ห้องน้ำ ตึกสันทนาการ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ภายในคณะฯ รวมถึงปรับุปรุงและพัฒนา “ตึกกลม” เพื่อให้เหมาะกับการเรียนการสอนหลังจากเปิดใช้งานมายาวนานระยะหนึ่ง และมีโครงการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในห้องบรรยายทุกห้อง

ในปี พ.ศ. 2522 คณะวิทยาศาสตร์ภายใต้การบริหารงานของท่าน ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสมัครเป็นนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาอินทรียเคมี โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณาตามระเบียบบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการดำเนินการศึกษาขึ้นปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต พ.ศ. 2519 เนื่องจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยคะแนนยอดเยี่ยม มหาวิทยาลัมหิดลจึงอนุมัติให้ทรงเข้าศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตได้โดยไม่ต้องผ่านมหาบัณฑิตก่อน ทรงขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยตามระเบียบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 และทรงสำเร็จการศึกษาและทรงเข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2528

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2519-2534 รวมระยะเวลา 16 ปี

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2501-2502 : โรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์เชียงใหม่ (ศิษย์เก่ารุ่นที่ 1)
พ.ศ. 2503 : เดินทางไปศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยไม่ต้องเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ประวัติการทำงานที่สำคัญ

ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2510 : อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2521 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ตำแหน่งทางด้านบริหาร
พ.ศ. 2519 - 2534 : ได้รับการคัดเลือกในดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (16 ปี 4 สมัย)
พ.ศ. 2522 - 2524 : ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

เกียรติคุณและรางวัลที่ได้รับ

- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นตริตาภรณ์มงกุฎไทย
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก
- ศิษย์เก่าดีเด่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2537

ผลงานเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ท่านที่ 4 ของคณะวิทยาศาสตร์ เป็นเวลายาวนานถึง 16 ปี โดยนอกจากจะสืบสานปณิธานของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนทำให้คณะวิทยาศาสตร์เป็นฐานปฏิบัติการวิจัยที่สำคัญที่สุดของประเทศ ก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ผลักดันให้ก้าวหน้าไปในระดับนานาชาติ และมีบทบาทอย่างสูงในการร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ตลอดจนบทบาทต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม โดยสามารถกล่าวถึงผลงานเด่นของท่านแยกเป็น 3 ส่วน สรุปได้ดังนี้

1. การพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์

พัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในสมัยของอาจารย์ ได้มีการริเริ่มโครงการใหม่หลายโครงการ จัดตั้งหลักสูตรใหม่และภาควิชาใหม่ อาทิ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ภาควิชาฟิสิกส์ (แยกออกจากภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์) ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (แยกออกจากภาควิชาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ) ภาควิชาพฤกษศาสตร์ (แยกออกจากภาควิชาชีววิทยา-พฤกษศาสตร์) ริเริ่มโครงการบัณฑิตศึกษาใหม่ อาทิ หลักสูตรปริญญาโทภาษาต่างประเทศ หลักสูตรปริญญาโทพิษวิทยา หลักสูตรปริญญาเอกชีววิทยาสิ่งแวดล้อม หลักสูตรสรีรวิทยาของการออกกำลังกาย หลักสูตรประสาทชีววิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ และหลักสูตรโพลีเมอร์เป็นต้น ซึ่งหลายภาควิชาและหลายหลักสูตรดังกล่าว ต่อมาได้มีการพัฒนาต่อยอดไปเป็นคณะ/สถาบันใหม่ ๆ ที่ ศาลายา อาทิ คณะศิลปศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น

2. การพัฒนาศาลายา (อ่านเพิ่มเติมจากบทความพิเศษ จากพญาไทสู่ศาลายา)

สร้างความเจริญก้าวหน้า พัฒนาศักยภาพและสร้างขีดความสามารถให้เข้มแข็ง มีการเตรียมการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา มาตั้งแต่สมัยที่ ศาสตราจารย์ ดร.กำจร มนุญปิจุ เป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2514 - 2518) แต่การดำเนินการก่อสร้างเริ่มขึ้นในสมัยที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ เป็นคณบดี คือในปี พ.ศ. 2519 โดยได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม รองคณบดี เป็นผู้ดูแลและเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา แต่เนื่องจากความจำกัดในด้านงบประมาณ จากปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ทำให้การก่อสร้างดำเนินไปค่อนข้างช้า จนแล้วเสร็จเมื่อปีการศึกษา 2525 ซึ่งอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ ต้องเดินทางด้วยความยากลำบากในระยะแรก เพื่อไปสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ของคณะวิทยาศาสตร์เองและคณะอื่น ๆ (คณะแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัช เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค สาธารณสุข และ กายภาพบำบัด) ที่ศาลายา ซึ่งการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาพื้นฐานทั้งหมด อยู่ในความรับผิดชอบของคณะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การกำหนดเปิดปิดภาคการศึกษา การกำหนดเวลาเรียนรายวิชา การสอบ และการประเมินผล รวมถึงการดูแลนักศึกษาในด้านวิชาการ โดยที่อาจารย์ส่วนใหญ่ของคณะ ยังต้องรับผิดชอบงานสอนและงานอื่น ๆ ที่เขตพญาไทด้วย คณบดีจึงต้องใช้ความสามารถและกลยุทธ์หลายประการในการบริหารจัดการ ให้การดำเนินการภารกิจเหล่านี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ในระยะเวลาต่อมา คณะวิทยาศาสตร์ยังต้องรับผิดชอบสอนวิชาพื้นฐานให้คณะที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งคณบดีได้ร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งด้วยตั้งแต่แรก ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติด้วย นับเป็นการทำเพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศในขณะนั้นที่ขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมและด้านภาษา



อาคารคณะวิทยาศาสตร์ ศาลายา เมื่อปี พ.ศ. 2526

สร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เข้มแข็งเพื่อต่อยอดการศึกษา เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะวิทยาศาสตร์มีบทบาทอย่างสูง คือการพัฒนาหอสมุดศาลายา โดยขณะนั้นมี อาจารย์วิภาวรรณ มนุญปิจุดำรงตำแหน่งหัวหน้าห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นห้องสมุดทางวิทยาศาสตร์ที่มีบริการและทรัพยากรที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัย ให้เป็นประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการดำเนินงานหอสมุดศาลายา และได้ย้ายหนังสือที่ใช้เพื่อการเรียนการสอนนักศึกษาปีที่ 1 จากห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ไปยังหอสมุดศาลายา ตลอดจนจัดบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันไปช่วยปฏิบัติงานที่หอสมุด ในช่วง 2 ปีแรก จนกระทั่งหอสมุดศาลายาสามารถดำเนินการเองได้ โดยมี นางวิภา โกยสุขโข เป็นผู้อำนวยการคนแรก

3. การพัฒนาสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ นอกจากจะให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในกิจกรรมเพื่อสังคมอีกหลายประการ อาทิ เป็นที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ประธานกรรมการบริษัทกันตนา อะนิเมชั่น จำกัด และประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพโทรคมนาคมและวิทยุจำกัด (ช่อง 7 สี) ซึ่งได้ให้การสนับสนุนในกิจกรรมการประชาสัมพันธ์คณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มาโดยตลอด

ผลงานวิจัยโดดเด่นในสมัยนั้น คณาจารย์ของคณะฯ ได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ถึง 5 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2527 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สกล พันธุ์ยิ้ม นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2528 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2529 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2531 และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2533 นับว่าเป็นช่วงคณาจารย์ของคณะฯ ได้สร้างผลงานวิจัยจนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ

ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล