หน้าหลัก > เอกสารและสิ่งพิมพ์ > บทความพิเศษ

จากพญาไทสู่ศาลายา

หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปี พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดำนเนินการขายโอนที่ดิน ณ ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม ให้มหาวิทยาลัยมหิดลใช้เป็นพื้นที่ขยายกิจการ นับเป็นพระราชปณิธานสืบเนื่องเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์และเพิ่มขอบเขตของวิชาการให้กว้างขวางออกไปจากวิชาแพทยศาสตร์


พระราชหัตเลขา พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จำหน่ายที่ดิน ต.ศาลายา ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : มหาวิทยาลัยมหิดล. (2526). รายงานการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ 1 พ.ศ. 2518-2525. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์


การก่อสร้าง ณ พื้นที่ใหม่ของมหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ระหว่างนั้นประสบปัญหาค่อนข้างมาก เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ระยะเวลาในการก่อสร้าง สถานการณ์ภายในประเทศที่มีความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบถึงราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงฯลฯ นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยก็มีปัญหาในการดำรงความมุ่งหมายและนโยบาย เนื่องจากใช้เวลาในการวางแผนนานนับสิบปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ได้คลี่คลายและการดำเนินการเป็นไปตามแผนงานอย่างสมบูรณ์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคลากรทุกภาคส่วน



สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างอาคารภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526


วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา และทรงวางศิลาฤกษ์อาคารบางส่วน โดยในระยะแรกมีหน่วยงานเพียงบางส่วนเข้าปฏิบัติงาน ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่

เมื่อพื้นที่ศาลายาเริ่มเปิดดำเนินการได้ในระยะต้น คณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้การบริหารงานของ “ท่านอาจารย์ไพโรจน์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ เปรมปรีดิ์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานจำนวนไม่กี่แห่งที่เข้าปฏิบัติงาน และเป็นหน่วยงานแรกที่ดำเนินการเรียนการสอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการขยายจำนวนนักศึกษาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เมื่อพิจารณาเห็นว่าคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีพันธกิจในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานซึ่งเป็นวิชาหลักสำคัญของนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ทุกคณะมีสถานที่ไม่เพียงพอ สมควรขยายเขตการศึกษามายังพื้นที่ศาลายาเพื่อดำเนินการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 2 คณะวิทยาศาสตร์จึงเริ่มทำการสอนนักศึกษา ณ พื้นที่ศาลายาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2525

ภาระหน้าที่ของคณะวิทยาศาสตร์ในห้วงเวลานั้นนับว่ามีความสำคัญต่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยนอกจากการสอนนักศึกษาของคณะเองแล้ว ยังให้บริการสอนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ของคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยที่ต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานประมาณปีละ 1,500 คน สอนวิชาภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ของทุกคณะ สอนวิชาทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ประเภทวิชาพยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ รังสีเทคนิค และกายภาพบำบัด และสอนวิชาทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพให้แก่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-3 ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งภาระหน้าที่การสอนทั้งหมดนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งคณะฯ เมื่อครั้งที่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นคณบดี และขยายขอบเขตเรื่อยมาจนถึงเมื่อท่านอาจารย์ไพโรจน์เป็นคณบดี ก็ยังคงสานต่อและพัฒนามาตามลำดับ

การขยายเขตการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์จากพื้นที่ทุ่งพญาไทมายังศาลายา ได้รับการวิจารณ์และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย สำหรับคณะวิทยาศาสตร์นั้นนับว่าเป็นการมองการณ์ไกลของผู้บริหารที่เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการขยายเขตการศึกษา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เมื่อครั้งเริ่มต้นนั้น มีผู้แสดงความเห็นจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า ศาลายาน่าจะเป็นวิทยาเขตเบ็ดเสร็จ มีคณะวิชาต่าง ๆ ครบถ้วนตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงมีคณะต่าง ๆ เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ศาลายาในลักษณะที่มีศูนย์ของคณะอยู่ในกรุงเทพฯ มีเพียงบางคณะที่ตั้งอยู่ที่ศาลายา ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น และการดำเนินงานก็เป็นไปอย่างราบรื่น ประสบผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม

เมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น การที่คณะวิทยาศาสตร์ตัดสินใจขยายเขตการศึกษาไปยังพื้นที่ศาลายา ต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้บริหารที่เห็นมรรคผลในวันนี้ ขณะที่วันนั้น เสียงสนับสนุนอาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการจัดการพื้นที่ศาลายาและพื้นที่โดยรอบยังไม่ราบรื่น สภาพพื้นที่และการเดินทางจากกรุงเทพฯ ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวคณะวิทยาศาสตร์ การขยายเขตการศึกษา รวมถึงการบริหารงานจากศูนย์กลางที่พญาไทสู่ศาลายาก็ราบรื่นและได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศ อาจกล่าวได้ว่าคณะวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานชุดแรก ๆ ที่ร่วมบุกเบิกการเรียนการสอนที่ศาลายา หากคณะวิทยาศาสตร์ไม่ได้เริ่ม “ปักธง” ที่ศาลายาในวันนั้น ก็คงไม่มีวันประสบความสำเร็จเช่นในวันนี้

เรียบเรียงจาก :
1. งานวิจัยสถาบันและสารสนเทศ กองแผนงาน มหาวิทยาลัยมหิดล. (2535). หนึ่งรอบนักษัตรมหาวิทยาลัยมหิดล พุทธศักราช 2522 ถึง 2534. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
2. มหาวิทยาลัยมหิดล . (2537). 25 ปี แห่งวันพระราชทานนาม มหาวิทยาลัยมหิดล 2 มีนาคม 2537. กรุงเทพ : มหาวิทยาลัยมหิดล.
3. มหาวิทยาลัยมหิดล. (2526). รายงานการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา ระยะที่ 1 พ.ศ. 2518-2525. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.