รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี

รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ได้รับทุนเล่าเรียนดีต่อเนื่องจากทางโรงเรียนและอำนวยศิลป์มูลนิธิ จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.8) ในปี พ.ศ. 2509 สอบได้เป็นที่หนึ่งของนักเรียนทั้งโรงเรียนในสายวิทยาศาสตร์ สอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่ 2 ในวิชาแพทย์ศาสตร์และเลือกเข้าเรียนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้รับปริญญาตรี วิทยาศาสตร์การแพทย์ เกียรตินิยม ในปี พ.ศ. 2513 จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วข้ามไปศึกษาวิชาแพทย์ ที่คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี รุ่นที่ 2 เรียนวิชารังสีวิทยา พยาธิวิทยาคลินิก เวชศาสตร์ชุมชน อายุรศาสตร์ และศัลยศาสตร์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2514 ได้รับทุนจากมูลนิธิ Rockefeller Foundation ให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวิชา Neuroscience ที่ University of Illinois เมือง Urbana-Campaign มลรัฐ Illinois ในปลายปี พ.ศ. 2516 เรียนสำเร็จปริญญาเอกจากหลักสูตร Neuroscience Program (Neuro-Behavioral Biology), University of Illinois โดยเป็นนักศึกษาปริญญาเอกคนแรกที่จบหลักสูตร ด้วยคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตร (GPA=3.89) ได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์เกียรติยศสหรัฐอเมริกา Sigma Xi และ Phi Kappa Phi เป็นสมาชิกคนไทยคนแรกของสมาคมวิชาชีพ Society for Neuroscience (SFN) ปี พ.ศ. 2519 รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ศาสตร์ศึกษา (Diploma of Medical Education) จากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนรัฐบาลนอร์เวย์ไปทำการวิจัยหลังปริญญาเอก NORAD Postdoctoral Fellow in Neuroanatomy, Anatomical Institute, University of Oslo, Norway มีผลงานวิจัยที่สำคัญตามมาที่ทำให้มีความร่วมมือด้านการวิจัย และแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยออสโล โดยทุนจาก NORAD ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 40 ปี (พ.ศ. 2519 - 2559)

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์โท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2517 และได้ปฏิบัติงานราชการในมหาวิทยาลัยมหิดลต่อเนื่องจนถึงปี 2556 รวม 39 ปี ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2524 ในระหว่างรับราชการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ อาทิ ผู้อำนวยการศูนย์ ศูนย์วิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม และหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาศาลายาสเต็มเซลล์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี เป็นผู้มีผลงานเป็นที่น่ายกย่องทั้งทางด้านการวิจัยและการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เป็นผู้ริเริ่มในการวางรากฐานงานสอนและวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และ Brain Research ให้กับนักศึกษาปริญญาโท-เอก หลายคน จากภาควิชาเภสัชวิทยา สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ชีววิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรในการประชุมวิชาการนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2528 หลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลให้ย้ายหน่วยงานไปเป็น ศูนย์วิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ท่านเป็นผู้ร่างและนำเสนอหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ผ่านบัณฑิตวิทยาลัย ได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดการสอนได้ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ตามลำดับ ได้รับการรับรองปริญญาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรนานาชาติ ท่านได้รับการแต่งตั้งจากบัณฑิตวิทยาลัยให้เป็นประธานหลักสูตรต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2528 - 2550 มีอาจารย์ นักศึกษาชาวไทย และนักศึกษาจากต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิหร่าน พม่า ที่จบการศึกษาจนถึงปี พ.ศ. 2559 ปริญญาเอก 42 คน ปริญญาโท 80 คน มีงานวิจัยของนักศึกษา และอาจารย์ในหลักสูตรที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติมากกว่า 200 เรื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี มีผลงานวิจัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันใน ปี พ.ศ. 2559 รวมงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ จำนวน 145 เรื่อง มี Research Abstracts ที่นำเสนอในการประชุมวิชาการและตีพิมพ์ในเอกสารการประชุม (Conference Proceeding) มากกว่า 315 เรื่อง มีตำรา และบทความวิชาการในหนังสือตำรา 15 เรื่อง มีดัชนี Research Gate Index (วันที่ 24 October 2016) = 34.24

งานวิจัยที่สำคัญของรองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี ได้แก่ งานวิจัยเรื่องวงจรเซลล์ประสาทสมองส่วนหลัง Cerebellum ในการควบคุมการเคลื่อนไหว การทรงตัว และการเคลื่อนไหวของลูกนัยน์ตา งานวิจัยเรื่องประโยชน์ของการฝึกสมาธิ (Meditation) งานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับและโรคจากการนอนหลับ งานวิจัยด้านยาและสารเสพติด งานวิจัยด้านผู้สูงอายุและโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ งานวิจัยด้านการศึกษาที่ใช้สมองเป็นฐานการเรียนรู้ (Brain-Based Learning: BBL) งานวิจัยด้านประโยชน์ของอาหารเสริมและสารสกัดจากอาหารกับการทำงานของสมองและ งานวิจัยด้านการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อระบบประสาทและเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cells) เพื่อการรักษาโรคระบบประสาท


รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2566
โดยสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สศวม) ในโอกาสวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบปีที่ 65
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566

นอกจากนี้ท่านยังเคยดำรงตำแหน่งอุปนายกและกรรมการบริหารสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการ วทท. ประจำปี 2532 “Science for National Development” เป็นอดีตกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง และคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ.2524 - 2553) กรรมการในคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กรรมการในคณะกรรมการแพทย์พิจารณากฎหมายประกันสังคม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ กรรมการสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาโครงการวิจัยด้านสุขภาพของหน่วยงานภาครัฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในการพิจารณาโครงการวิจัยมุ่งเป้าด้านสุขภาพ งานวิจัยด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาการประกวดนักวิจัยดีเด่นผลงานการวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ด้วยผลงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ รวมถึงเป็นผู้ที่อุทิศตนให้การช่วยเหลือและสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีมติให้ รองศาสตราจารย์ ดร.นัยพินิจ คชภักดี เป็นผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์อาวุโสประจำปี 2559

ที่มาข้อมูล : สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. (2559). งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2559. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
ที่มาภาพ : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล