ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
ประวัติ l คำประกาศเกียรติคุณ l วาทะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น l ห้องแสดงภาพ
Emeritus Professor Dr.Visut Baimai
B.Sc.(Hons. ), Ph.D.(Queensland)
1990 Outstanding Scientist Award (Biology-Genetics)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2485 ที่จังหวัดสุโขทัย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานดีเด่นในสาขาชีววิทยา พันธุศาสตร์ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ BRT (Biodiversity Research and Training Program) หรือมีชื่อภาษาไทยว่า "โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย" อันเป็นโครงการที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ให้ทุนสนับสนุนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2529 รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาพันธุศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2533 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา เมื่อ ปี พ.ศ. 2539
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นบุตรของนายเกี๊ยด และนางแขก ใบไม้ สมรสกับนางเสาวภา (สีเขียว) มีบุตรชาย 3 คน คือ นายชัยสิทธิ์ นายชัยวัฒน์ และนายวิภัช ใบไม้
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านกง (ราษฎร์อุทิศ) อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา (ม.1-2) จากโรงเรียนสวรรควิทยา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ม.3-6 จากโรงเรียนมัธยมวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7-8) จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สามพราน) จังหวัดนครปฐม ตามลำดับ
เมื่อปี พ.ศ. 2503-2504 ได้เข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ต่อจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนโคลอมโบ ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตววิทยา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จาก มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2508 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพันธุศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
ประวัติการทำงาน
ตำแหน่งวิชาการ
พ.ศ. 2512 : อาจารย์โท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2513 : อาจารย์โท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2513 : อาจารย์เอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2516 : นักวิจัยหลังปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2518 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2521 : รองศาสตราจารย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2524 : ศาสตราจารย์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2524 : ศาสตราจารย์อาคันตุกะ มหาวิทยาลัยเซาเปาโล ประเทศบราซิล
พ.ศ. 2532 : ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งบริหาร
พ.ศ. 2518-2534 : หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2538-ปัจจุบัน : ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)
ตำแหน่งในสมาคมและองค์กรต่าง ๆ
- กรรมการส่งเสริมการแต่งตำราสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการสร้างข้อสอบสัมฤทธิ์ผล ทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์ (สาขาชีววิทยา) ทบวงมหาวิทยาลัย
- กรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ ทบวงมหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
- กรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา
- กรรมการบริหารและที่ปรึกษาสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย
- กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ
- กรรมการบริหารสมาพันธ์พันธุศาสตร์นานาชาติ (IGF)
- กรรมการคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
- ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2538
- กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
- กรรมการสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการในคณะทำงานจัดตั้งองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพ สภาผู้แทนราษฎร
- ประธานอนุกรรมการป่าเขตร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานสิทธิมนุษยชน
- กรรมการบริหารศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- ประธานคณะทำงานวิชาการโครงสร้างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กทส.)
- ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
- ประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- กรรมการคณะกรรมการบริหารโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ
- ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทางชีววิทยาสภาวิจัยแห่งชาติ
- คณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพ
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยทักษิณ
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
- กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (กพอ) 2548
- คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ (2548)
- คณะกรรมการพิจารณาการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา (2548)
- คณะกรรมการศึกษาและจัดทำโครงสร้างสำนักบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (องค์กรมหาชน) (2548)
สมาชิกสมาคมระดับนานาชาติ
- The Society for the Study of Evolution
- The Genetics Society of Japan
- The American Mosquito Control Association
- The Italian Society of Parasitology
- The Comparative Endocrinology and Molecular Evolution Society
เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ. 2529 : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
พ.ศ. 2533 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาพันธุศาสตร์ มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2538 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
พ.ศ. 2539 : รางวัลปาฐกถาสุด แสงวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
พ.ศ. 2539 : ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิทยาศาสตร์
พ.ศ. 2542 : ได้รับโล่เกียรติยศ สมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2542 : เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ 2
พ.ศ. 2546 : นักชีววิทยาอาวุโสดีเด่น จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญากิตติมศักดิ์
พ.ศ. 2539 : วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีววิทยา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
พ.ศ. 2545 : วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีววิทยา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
พ.ศ. 2546 : วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ชีววิทยา) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พ.ศ. 2548 : ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2528 : ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2530 : ประถมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2532 : มหาวชิรมงกุฎ
พ.ศ. 2537 : มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2546 : จตุตถดิเรกคุณาภรณ์
คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ (Professor Dr.Visut Baimai)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาพันธุศาสตร์ ประจำปีพุทธศักราช 2533
ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในการประชุมครั้งที่ 2/2533 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน สาขาพันธุศาสตร์ เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษาเซลล์พันธุศาสตร์ของยุงที่นำเชื้อมาลาเรีย จึงสมควรเชิดชูเกียรติให้ประจักษ์โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม
ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เกิดที่จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรของนายเกี๊ยด และนางแขก ใบไม้ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จากโรงเรียนกงราษฎร์อุทิศ จังหวัดสุโขทัย และโรงเรียนมัธยมวิทยา จังหวัดลำปาง ตามลำดับ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สามพราน) จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2503-2504 ได้เข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) ต่อจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนโคลอมโบ ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตววิทยา เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จาก มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2508 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาพันธุศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
เมื่อสำเร็จการศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และได้รับตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับ จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ในปี พ.ศ. 2524
ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้มุ่งมั่นศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดมา ตั้งแต่ช่วงเวลาการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจากองค์การและหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อกันมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากมีผลงานวิจัยรวมถึง 76 เรื่อง และได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2529 และยังมีผลงานด้านตำราชีววิทยา 4 เล่ม และบทความต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ผลงานวิจัยโดยสรุปของ ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้แก่ ผลงานการศึกษาคุณสมบัติ ของแมลงหวี่และยุงก้นปล่อง ในระยะแรก ๆ ได้ใช้ความรู้และหลักการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเซลล์พันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จนสามารถแยกชนิดแมลงหวี่ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากตามสายวิวัฒนาการออกจากกันได้ การแยกชนิดของแมลงหวี่ดังกล่าว ไม่สามารถอาศัยหลักอนุกรมวิธานปกติได้ เนื่องจากลักษณะทางสันฐานวิทยาคล้ายคลึงกัน ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้ใช้หลักความรู้และประสบการณ์ ซึ่งหาผู้ใดเทียบได้ยากมาศึกษาในยุงก้นปล่อง พาหะนำเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ประสบความสำเร็จในการศึกษาจนทราบว่า ยุงก้นปล่อง พาหะนำเชื้อมาลาเรียที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย ภูมิภาคเอเซีย และเอเชียอาคเนย์ ว่าเป็นชนิดใด มีแบบแผนการแพร่กระจายพฤติกรรม ความสามารถนำเชื้อ และความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการอย่างไร
ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในอันที่จะสะสมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณสมบัติทางชีววิทยาและธรรมชาติของยุงก้นปล่องชนิดที่เป็นศัตรูแท้จริงที่นำเชื้อมาลาเรียแพร่สู่คน และนำไปสู่การแสวงหามาตรการจัดการควบคุมสิ่งมีชีวิตที่เป็นภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง หรือนำสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ มาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อสภาวะแวดล้อมเกินขอบเขต
ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ที่มีชีวิตและวิญญาณ เป็นนักวิจัยที่แท้จริง เป็นผู้อุทิศเวลาให้กับงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนและทำงานที่เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากจะเป็นนักวิจัยโดยวิญญาณแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ยังเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ เป็นครูที่เปี่ยมด้วยความรู้ และประสบการณ์ที่ไม่ล้าสมัย เป็นที่เคารพรักของศิษย์จำนวนมากมาย
โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาพันธุศาสตร์ ประจำปีพุทธศักราช 2533
คัดจากหนังสือ : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2533).
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2533 : รองศาสตราจารย์ สดศรี ไทยทอง, ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.
วาทะ “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น”
“...เราต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและการแข่งขันทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ทุกคนตระหนักดีว่าการแข่งขันที่อยู่บนพื้นฐานที่มั่นคงจะทำให้การพัฒนาเป็นไปถูกทาง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาอยู่บ้างในระยะเริ่มต้นเพื่อการวางฐานรากที่แข็งแกร่งและหยั่งลึก แต่เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนสำคัญนั้นแล้วทุกอย่างก็จะพัฒนาไปอย่างราบรื่นรวดเร็ว และยั่งยืนเฉกเช่นการสร้างฐานรากที่มั่นคงของอาคารหรือเคหะสถานที่มีความแข็งแรงและสวยงามตามความต้องการบนฐานคิดเดียวกันนี้ เราจำเป็นต้องสร้างนักวิจัยพื้นฐานที่มีจิตวิญญาณและยึดมั่นในวิชาชีพนักวิชาการ ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ประเทศไทยมีฐานทรัพยากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย โดยเฉพาะทรัพยากรพันธุกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยซึ่งมีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตผลทางการเกษตร และเภสัชภัณฑ์ หากฐานทรัพยากรดังกล่าวได้รับการศึกษาวิจัยขั้นพื้นฐานเพื่อให้ได้องค์ความรู้มีข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ก็จะทำให้การใช้ประโยชน์และ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมและพอเพียง โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนนี่คือภารกิจหลักของนักวิจัยพื้นฐานด้านชีววิทยาที่ประเทศชาติต้องการ…”
ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้"
- ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์. (2533). รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2533 : รองศาสตราจารย์ สดศรี ไทยทอง,
- ศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ.