ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล
ประวัติ l คำประกาศเกียรติคุณ l ข่าวจากสื่อมวลชน l ห้องแสดงภาพ
Prof. David Ruffolo
Ph.D., The University of Chicago, USA
2017 Outstanding Scientist Award (Physics)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล เกิดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นบุตรของ ศาสตราจารย์ ดร.จอห์น เจ. และ นางแอลลา ดี.รูฟโฟโล สมรสกับนางรมณีย์ รูฟโฟโล มีบุตร 3 คน คือ ด.ช.แพททริค ด.ช.วิคเตอร์ และ ด.ญ.เซอรีนา ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การศึกษา
พ.ศ. 2523 : เข้าร่วมในโครงการ Talent Identification Program (TIP) ของ Duke University ซึ่งครอบคลุมนักเรียนอายุ 12 ปีในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ที่มีคะแนนสูงสุดใน 3% แรก และจากเด็ก 11,000 คนที่เข้าข่าย มี 9,000 คนที่ร่วมโครงการโดยสอบข้อสอบมาตรฐานเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย (SAT) โดยมีคะแนนสูงอันดับสอง (Math 740 และ Verbal 640 จาก 800)
พ.ศ. 2524 : เข้าร่วมในค่ายคณิตศาสตร์กับ TIP และเรียนคณิตศาสตร์ระดับ precalculus จนครบ
พ.ศ. 2524-2528 : เข้าศึกษาเมื่ออายุ 13 ปี ที่ University of Cincinnati สหรัฐอเมริกา ได้รับ ปริญญา B.S. in Physics และ B.A. in Mathematics (summa cum laude) และทำงานวิจัยเรื่องสภาพ glass ในสารกึ่งตัวนำ (มีผลงานตีพิมพ์ใน Physical Review Letters)
พ.ศ. 2528-2534 : เข้าศึกษาเมื่ออายุ 17 ปี ที่ University of Chicago สหรัฐอเมริกา ได้รับ ปริญญา Ph.D. in Physics และทำงานวิจัยเรื่องรังสีคอสมิกและอนุภาค พลังงานสูงจากพายุสุริยะ (มีผลงานตีพิมพ์ใน Nuclear Instruments and Methods และ Astrophysical Journal)
ประวัติการรับราชการ ตำแหน่งทางวิชาการ
พ.ศ. 2534 : นักวิจัยที่ Enrico Fermi Institute, University of Chicago สหรัฐอเมริกา ระยะ 6 เดือน
พ.ศ. 2534-2546 : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2540 : รองศาสตราจารย์พิเศษ (ตามกระบวนการเหมือนรองศาสตราจารย์)
พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2547 : ศาสตราจารย์พิเศษ (ตามกระบวนการเหมือนศาสตราจารย์)
พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน : ครูพิเศษ สอนดาราศาสตร์ระดับมัธยม 4 ที่โรงเรียนจิตรลดา
ประวัติการได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ
พ.ศ. 2524 : รางวัล Golden Eagle Award จาก American Academy of Achievement
พ.ศ. 2530-2533 : ทุนการศึกษาจาก Graduate Student Researchers Program ขององค์การ NASA
พ.ศ. 2554 : รางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2553 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ
พ.ศ. 2555 : ได้รับสัญชาติไทย
พ.ศ. 2556 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง (ระดับอาวุโส) จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2556 : Fellow ของ The World Academy of Sciences (TWAS) โดยเป็นคนไทยคนที่ 5 ที่เคยได้รับเลือก และเป็นคนแรกในเวลา 18 ปีที่ผ่านมา
พ.ศ. 2557 : MU Brand Ambassador ของมหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2557 : รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ด้านวิจัย
พ.ศ. 2558 : Fellow ภายใต้ Chinese Academy of Sciences President's International Fellowship Initiative
พ.ศ. 2558 : รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง จากสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
พ.ศ. 2559 : ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
พ.ศ. 2560 : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาฟิสิกส์ จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาชิกสมาคม
1. มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
2. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
3. American Geophysical Union (section on Solar and Heliospheric Physics)
4. Committee on Space Research
5. Phi Beta Kappa
6. Sigma Pi Sigma, a physics honorary society
7. The World Academy of Sciences (Fellow)
การประเมินสำหรับวารสารนานาชาติ และองค์กรในต่างประเทศ
1. Advances in Space Research
2. Astronomy & Astrophysics
3. Astrophysical Journal
4. Astrophysical Journal Letters
5. Earth, Planets, and Space
6. Journal of Geophysical Research-Space Physics
7. Journal of Solar-Terrestrial and Atmospheric Physics
8. National Science Foundation (US)
9. Physics of Plasmas
10. Science China Earth Sciences
11. Solar Physic
วิทยากรรับเชิญระดับนานาชาติ
1. D. Ruffolo, Interacting and Escaping Solar Energetic Particles (Rapporteur Talk, 25th International Cosmic Ray Conference, Durban,
South Africa, August, 1997)
2. D. Ruffolo, Transport and Acceleration of Solar Energetic Particles from Coronal Mass Ejection Shocks (Invited Talk, International Astronomical
Union Symposium 226, Coronal and Stellar Mass Ejections, Beijing, China, September, 2004)
3. C. Channok, D. Ruffolo (presenter), M. Desai, and G. Mason, Finite Time Shock Acceleration and Fits to ESP Ion Spectra (Invited Talk,
2005 Solar, Heliospheric, and Interplanetary Environment Workshop, Hawaii, USA, July, 2005)
4. D. Ruffolo, A. Saiz, J. W. Bieber, P. Evenson, and R. Pyle, M. Rujiwarodom, P. Tooprakai, M. Wechakama, and T. Khumlumlert,
Precision Modeling of Solar Energetic Particle Intensity and Anisotropy Profiles (Invited Talk, 2006 Fall Meeting of the American Geophysical
Union, San Francisco, California, USA, December, 2006)
5. D. Ruffolo, A. Saiz, J. W. Bieber, P. Evenson, R. Pyle, P. Pyle, P. Chuychai, and W. H. Matthaeus, Modeling the Transport of Solar Energetic
Particles to 1 AU (Invited Talk, 2008 Solar, Heliospheric, and Interplanetary Environment Workshop, Midway, Utah, USA, June, 2008)
6. D. Ruffolo, What Neutron Monitors Tell Us about Solar Energetic Particles and Galactic Cosmic Rays (Colloquium, Department of Physics and
Astronomy, University of Delaware, Newark, Delaware, USA, April, 2010)
7. D. Ruffolo, A. Saiz, P. S. Mangeard, W. Mitthumsiri, A. Seripienlert, and U. Tortermpun, Spectral Variations of Cosmic Ray (Invited Talk,
Asian-Pacific Regional IAU Meeting, Daejeon, South Korea, August, 2014)
8. D. Ruffolo, Solar-Heliospheric Physics (Rapporteur Talk, 35th International Cosmic Ray Conference, Busan, South Korea, July, 2017)
คำประกาศเกียรติคุณ
รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล
(Professor Dr.David Ruffolo)
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาฟิสิกส์ ประจำปี พ.ศ. 2560
ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล เป็นผู้มีผลงานโดดเด่นในด้านฟิสิกส์ เป็นผู้ที่ริเริ่มงานวิจัยในประเทศไทยทางด้านฟิสิกส์อวกาศ โดยเน้นการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับรังสีคอสมิก ซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศเกี่ยวกับพายุสุริยะและผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอวกาศและในบรรยากาศโลก และเกี่ยวกับขนส่งของอนุภาคพลังงานสูงทั่วระบบสุริยะ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล ได้พัฒนานิสิต นักศึกษา และนักวิจัยในการใช้เทคนิคทางด้านการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ทางด้านทฤษฎี และทางด้านการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับรังสีคอสมิกจากพื้นโลก โดยเป็นแกนนำของทีมงานที่จัดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยตอนเพิ่งจบปริญญาเอก เมื่อ พ.ศ. 2534 เพื่อสอนนิสิตและนักศึกษาไทยให้ได้ฝึกทำงานวิจัย ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ยึดมั่นใน 25 ปีที่ผ่านมาและยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในช่วงเริ่มแรกต้องฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อผลิตผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างผลงานที่มีคุณภาพและตีพิมพ์ในวารสารที่ดีที่สุดของโลกสำหรับงานวิจัยด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล มีความตั้งใจในบทบาทของการพัฒนาคน โดยทั้งสอนนักเรียนมัธยมศึกษาในฐานะครูพิเศษสอนนิสิตและนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ให้นิสิตและนักศึกษามีโอกาสฝึกทำงานวิจัยระดับนานาชาติ โดยสร้างห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูง เป็นแกนนำในการสร้างทีมนักวิจัยที่จัดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดจำนวนรังสีคอสมิกต่อเวลาในประเทศไทย เป็นผู้ให้ความสนใจในการพัฒนานักวิจัยอาชีพรุ่นใหม่ เช่น การนำเครือข่ายดาราศาสตร์ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และต่อมาได้นำเครือข่ายทางดาราศาสตร์ที่รับทุนผ่านศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์หรือผ่านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยสนับสนุนให้อาจารย์รุ่นใหม่และนักศึกษาทางฟิสิกส์อวกาศและดาราศาสตร์ทั่วประเทศรับทุนดำเนินงานวิจัยและเสนอผลงาน ณ ต่างประเทศ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล ยังมีบทบาทในการให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนเป็นภาษาไทยในเรื่องพายุสุริยะ อนุภาคพลังงานสูง และเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์โดยทั่วไป
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล ได้ริเริ่มงานวิจัยหลายด้านดังนี้
1) การพัฒนาวิธีการแก้สมการด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อจำลองการขนส่งของอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์มาถึงโลก โดยคำนึงถึงผลของลมสุริยะ
2) การคิดวิธีวิเคราะห์ข้อมูลอนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะ พร้อมการจำลองการขนส่งอนุภาคอย่างแม่นยำ จนสามารถหาอัตราต่อเวลาที่อนุภาคออกจากพายุสุริยะ
3) การศึกษาผลกระทบของเชือกฟลักซ์แม่เหล็กในระบบสุริยะ เนื่องจากพายุสุริยะต่อการขนส่งของอนุภาคพลังงานสูงจากพายุสุริยะครั้งต่อไป และต่อรังสีคอสมิกจากกาแล็กซี
4) การพัฒนาโปรแกรมจำลองการขนส่งของอนุภาคพลังงานสูง เพื่อศึกษาผลกระทบของคลื่นกระแทกต่อประชากรอนุภาคข้างหน้าคลื่นกระแทกซึ่งสามารถใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกจากพายุสุริยะจะกระทบกับโลก
5) การคิดทฤษฎีการเร่งของอนุภาค ณ คลื่นกระแทกในเวลาจำกัด และพิสูจน์ด้วยการเทียบกับผลการสังเกตด้วยยานอวกาศ
6) การอธิบาย "dropouts" ในอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ในรูปของโครงสร้างความปั่นป่วนที่มี wave vectors ตั้งฉากกับสนามแม่เหล็กเฉลี่ย
7) การช่วยคิดวิธีอธิบายที่มาของโครงสร้าง "moss" ในบรรยากาศดวงอาทิตย์ และพิสูจน์ด้วยการจำลองด้วยคอมพิเตอร์
8) การคิดข้อสมมุติฐาน random ballistic decorrelation สำหรับการคำนวณสัมประสิทธิ์การฟุ้งของเส้นสนามแม่เหล็กและอนุภาคพลังงานสูงในสนามแม่เหล็กปั่นป่วน
9) การพัฒนาแบบจำลองและทฤษฎีการฟุ้งของเส้นสนามแม่เหล็กสำหรับความปั่นป่วนแบบ reduced magneto-hydrodynamics (RMHD)
10) การค้นพบและอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ในการขนส่งของอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์คือ squeezing ในการกระจายตัวเนื่องจากโครงสร้างความปั่นป่วน
11) การช่วยคิดคำอธิบายสำหรับ anisotropy ในรังสีคอสมิกที่วัดที่ดอยอินทนนท์ ที่สูงผิดปกติหลายวันติดต่อกัน โดยอธิบายในรูปของโครงสร้าง coronal holes ในบรรยากาศดวงอาทิตย์
12) การพัฒนาวิธีวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดนิวตรอนในรูปแบบใหม่ ซึ่งบ่งบอกว่าพฤติกรรมของฟลักซ์ต่อพลังงานนั้น ได้เปลี่ยนแปลงกะทันหันภายในประมาณ 1 ปีจาการสลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์
13) การพัฒนาตัวแปรใหม่เพื่อ parameterize การเดินสุ่มของเส้นสนามแม่เหล็ก ภายใต้ความปั่นป่วนในอวกาศ ต่อเมื่อสนามแม่เหล็กเฉลี่ยไม่แรงนัก ซึ่งทำให้สามารถพัฒนาทฤษฎีการเดินสุ่มฯ ในกรณีนั้น
14) การวัดผลกระทบของอาคารต่อการวัดนิวตรอนจากรังสีคอสมิก โดยใช้เครื่องตรวจวัดนิวตรอนขนาดย่อม ที่ยืมมาจากกลุ่มวิจัยที่แอฟริกาใต้ ทั้งข้างในและข้างนอกอาคาร
15) การคิดวิธีวิเคราะห์ฮิสโตแกรมของช่วงเวลาระหว่างการวัดนิวตรอนในเครื่องตรวจวัดนิวตรอน โดยลบผลจาก chance coincidence จนให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานของรังสีคอสมิกจากกาแล็กซี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่วัดได้ในสถานีตรวจวัดนิวตรอนทั่วโลก
ด้วยการมีความคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ ทำให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล สามารถแข่งขันกับกลุ่มนักวิจัยในต่างประเทศ ซึ่งมักจะใช้เวลาในการสอนและการบริการวิชาการน้อยกว่า มีนักวิจัยและทรัพยากรมากกว่าและสามารถเดินทางไปประชุมวิชาการเฉพาะทางและปรึกษาหารือกับนักวิจัยชั้นนำของโลกได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล และทีมงานวิจัยยังตีพิมพ์ผลงานในวารสารชั้นนำของโลกได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการมีความคิดสร้างสรรค์ และทำงานในแนวทางที่กลุ่มนักวิจัยต่างประเทศนึกไม่ถึงหรือยังไม่สามารถทำได้
ด้วยเหตุที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาฟิสิกส์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
คัดจากหนังสือ : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2560. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์, 2560.
ข่าวจากสื่อมวลชน
นักฟิสิกส์ ม.มหิดล คว้านักวิทยาศาสตร์ดีเด่น. ชัดทันข่าวฮอลิเดย์ (28 กรกฎาคม 2560)
1. ศ.พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล "นักฟิสิกส์อวกาศ" ผู้ไขปริศนาจักรวาล. โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
2. วิรวินท์ ศรีโหมด. (20 สิงหาคม 2560). "เดวิด รูฟโฟโล" นักวิทย์ดีเด่นปี'60. โพสต์ทูเดย์.
3. เพ็ญญาเรีย บุญประเสริฐ. (6 สิงหาคม 2560). นักฟิสิกส์ผู้ไขปริศนาจักรวาล คว้านักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 2560. โพสต์ทูเดย์.
4. ชุลีพร อร่ามเนตร. (27 กรกฎาคม 2560). 'นักฟิสิกส์อวกาศ'ผู้ไขปริศนาจักรวาลพายุสุริยะ และกัมมันตรังสีรอบโลก. คมชัดลึก.
5. นักฟิสิกส์ ม.มหิดล ผู้ไขปริศนาจักรวาล-พายุสุริยะ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นปี 60. ผู้จัดการออนไลน์. (26 กรกฎาคม 2560)
6. เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ. (2 เมษายน 2556). ในห้วงอวกาศ...เดวิด รูฟโฟโล. กรุงเทพธุรกิจ.
ห้องแสดงภาพ "ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล"
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล