ผลงานของคณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ
Achievements of Research Team on Shrimp
คณะผู้วิจัย
- 1. ศาสตราจารย์ ดร.บุญเสริม วิทยชำนาญกุล
- 2. ศาสตราจารย์ ดร. ทิมโมที วิลเลียม เฟลเกล
- 3. ศาสตราจารย์ ดร.วิชัย บุญแสง
- (หมายเหตุ: ตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. 2543)
งานวิจัยในเรื่องกุ้งกุลาดำ
การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นอุตสาหกรรมใหญ่อย่างหนึ่งของประเทศไทยทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกกุ้งกุลาดำมากที่สุดในโลกเป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 5 ปี และในปี พ.ศ. 2543 สามารถส่งออกกุ้งกุลาดำรวมแล้วมีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท สาเหตุที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ยั่งยืนมากกว่าประเทศอื่น ๆ มีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญคือ ผู้เพาะเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้การลงทุนในการเพาะเลี้ยงแต่ละครั้งมีไม่มากนัก ประกอบกับความขยันหมั่นเพียรและความเป็นผู้สนใจใฝ่หาวิชาการของเกษตรกรไทย ทำให้การเพาะเลี้ยงแต่ละครั้งได้ผลดีมากกว่าผลเสีย อีกสาเหตุหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน ต่อกันคือความร่วมมือของนักวิจัยไทย ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการวิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำในประเทศไทยมีเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชม คือมีความสามัคคีร่วมใจกัน เปรียบเสมือนการต่อภาพจากชิ้นส่วนย่อย ๆ ให้เป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม กลุ่มนักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำกล่าวคือมีการทำงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าห้าปีโดยมีการทำงานที่ต่างหน้าที่กันใช้เทคนิคทางวิจัยที่ต่างกัน แต่นำไปสู่การตอบคำถามเดียวกัน
โรคต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อกุ้งเพาะเลี้ยงได้มีการเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอพร้อม ๆ กับการขยายตัวของฟาร์มขนาดใหญ่ ในระหว่างปี พ.ศ. 2536-2543 โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ ได้แก่ โรคหัวเหลืองและโรคตัวแดงดวงขาว ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงที่สุดต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศแถบเอเชีย การระบาดของเชื้อโรคเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวิจัยระดับลึกในด้านต่าง ๆ คือ ชีววิทยาพื้นฐาน ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อโรคกับตัวสัตว์ และการพัฒนาชุดตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและความสามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว จากความพยายามของกลุ่มผู้วิจัยนี้ กลุ่มวิจัยอื่น ๆ ในประเทศไทยและฝ่ายส่งเสริมการเกษตรทำให้เกิดผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวเหลืองและโรคตัวแดงดวงขาว ซึ่งได้ช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องสูญเสียเงินจำนวนหลายพันล้านบาทจากความเสียหายในการเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา ซึ่งในอนาคตโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนพร้อมกับการขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง
โรคติดเชื้อไวรัสในกุ้งกุลาดำ โดยเฉพาะ โรคตัวแดงดวงขาว (White-spot Disease) และ โรคหัวเหลือง ( Yellow-head Disease) ก่อให้เกิดความเสียหายในการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในประเทศไทยปีหนึ่ง ๆ ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท กลุ่มนักวิจัยนี้พร้อมกับกลุ่มนักวิจัยของกรมประมงและของภาคเอกชน ได้ค้นพบสาเหตุของโรค การระบาดของโรคและการป้องกันโรคทั้งในระดับห้องปฎิบัติการและในระดับภาคสนาม ภาคเอกชนได้มีส่วนช่วยในการกระจายผลงานวิจัยเหล่านั้นออกไปสู่ภาคสนาม ทำให้ผลการวิจัยมีส่วนช่วยอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง
จากการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด สมาคมกุ้งทะเลไทย และบริษัทเอกชนอื่นๆ ทำให้กลุ่มผู้วิจัยมีโอกาสได้รับรู้ปัญหาของการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำในภาคสนามและมองเห็นว่าควรนำวิชาการประเภทใดมาแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และจากการคลุกคลีอยู่ในวงการนักวิจัยของบริษัทเอกชนและของกรมประมง ทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของทิศทางการวิจัยได้มากขึ้น การร่วมมือกับนักวิจัยต่าง ๆ ทำให้มีผลงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ความพยายามในการร่วมมือในงานวิจัยกุ้งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เพื่อทำการศึกษาเจาะลึกในด้านชีวโมเลกุลของเชื้อไวรัสตัวแดงขาวและไวรัสหัวเหลือง จนในที่สุดสามารถนำเทคนิค Polymerase Chain Reaction หรือ PCR มาใช้วินิจฉัยโรคทั้งสองได้
วิธี PCR ได้กลายเป็นเทคนิคที่สำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรคไวรัส PCR เป็นเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ (DNA) ให้เป็นล้านๆ เท่าในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง เป็นวิธีที่มีความจำเพาะและมีความไวในการตรวจสูง และจะสามารถเพิ่มความไวในการตรวจขึ้นได้อีกโดยวิธี nested PCR
การพัฒนาเทคนิค PCR ในการตรวจไวรัสตัวแดงดวงขาวและไวรัสหัวเหลือง เริ่มจากการพยายามออกแบบไพรเมอร์ (ตัวเริ่มต้น) ที่จำเพาะต่อไวรัสแต่ละชนิด และการพยายามที่จะวิเคราะห์และทำให้เชื้อบริสุทธิ์ กลุ่มผู้วิจัยพบว่าสารพันธุกรรมของ WSV เป็น DNA และของ YHV เป็น RNA ดังนั้นวิธี PCR จะสามารถใช้ DNA ของไวรัสตัวแดงดวงขาวในการเพิ่มปริมาณได้โดยตรง แต่ RNA ของไวรัสหัวเหลืองจะต้องถูกเปลี่ยนให้เป็น DNA เสียก่อน แล้วจึงจะถูกเพิ่มปริมาณต่อด้วยวิธี PCR ซึ่งเรียกว่าวิธี RT-PCR (Reverse Transcription-PCR)
แม้จะได้ค้นพบวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งแล้วการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี PCR ยังได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการตรวจโดยวิธี nested PCR แบบเดิม ซึ่งจะต้องมีการถ่ายตัวอย่างที่ทดสอบจากหลอดหนึ่งไปสู่อีกหลอดหนึ่งทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนในตัวอย่าง เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกลุ่มผู้วิจัยจึงได้ทดลองทำวิธีการแบบ nested PCR ที่สามารถทำได้ภายในหลอดเดียว เกิดเป็นวิธีใหม่ที่เรียกว่า “one-step nested PCR” ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ป้องกันการปนเปื้อนได้ เพราะไม่ต้องมีการเปิดฝาหลอดทดลองเลยวิธีนี้ไม่เพียงแต่บอกว่าตัวอย่างกุ้งที่ตรวจติดเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวหรือไม่เท่านั้น แต่ยังบอกถึงระดับความรุนแรงของการติดเชื้อได้อีกด้วย เทคนิค PCR ที่พัฒนาขึ้นยังได้นำไปตรวจหาพาหะของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวและโรคไวรัสหัวเหลืองในปูชนิดต่าง ๆ ที่พบบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำซึ่งพบว่าปูเหล่านั้นล้วนแต่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด นอกจากนั้น เพื่อให้การเลี้ยงกุ้งกุลาดำของไทยเป็นอาชีพที่ยั่งยืนสืบไป กลุ่มผู้วิจัยจึงทำการศึกษาต่อถึงเรื่องความแปรผันทางพันธุกรรม (Genetic Variation) ของเชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาวและไวรัสหัวเหลือง ซึ่งจะสามารถพัฒนาชุดตรวจสอบในงานระบาดวิทยาได้ นอกจากนี้ยังทำการศึกษาโปรตีนและลักษณะของยีนของเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด โดยการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ ลำดับกรดอะมิโน ซึ่งมุ่นเน้นการสืบหายีนที่จะนำไปสู่การผลิตโปรตีนโครงสร้าง (Structural Protein) ซึ่งผลของงานวิจัยนี้จะนำไปสู่การผลิตวัคซีนป้องกันการก่อโรคไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากโรคหัวเหลืองและโรคตัวแดงดวงขาวแล้ว กลุ่มผู้วิจัยยังได้ศึกษาโรคติดเชื้อ Hepatopancreatic parvovirus (HPV) และ Monodon baculovirus (MBV) ซึ่งแม้ว่าโรคทั้งสองนี้โดยทั่วไปไม่ได้ทำให้กุ้งตาย แต่พบว่าโรคดังกล่าวทำให้กุ้งโตช้า หรือที่เรียกว่า “โรคกุ้งแคระ” ซึ่งประมาณกันว่าเป็นสาเหตุทำให้มีการสูญเสียเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทในแต่ละปี โดยความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย ออสเตรเลีย สวีเดนและอเมริกา ทำให้กลุ่มผู้วิจัยมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านต่าง ๆ กับการแพร่กระจายของเชื้อโรคกุ้งในหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีระบบการควบคุมโรคที่เหมาะสม
เชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดความเสียหายต่อกุ้งน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้เพราะเกษตรกรสามารถควบคุมเชื้อได้โดยการจัดการบ่อเลี้ยงที่เหมาะสม และถึงแม้ว่าการจัดการล้มเหลว การใช้ยาและสารเคมีก็พอช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้บ้าง อย่างไรก็ดีเชื้อแบคทีเรียที่พบในประเทศไทยเช่น Vibrio harveyi และ V. parahaemolyticus เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีความรุนแรงที่สุดสำหรับกุ้งและยังมีความจำเป็นที่ต้องทราบว่าเหตุใดเชื้อบางสายพันธุ์จึงมีความรุนแรงและบางสายพันธุ์ไม่มีความรุนแรง กลุ่มนักวิจัยนี้พบว่าเชื้อ V. harveyi หลายสายพันธุ์จะไม่ก่อปัญหากับกุ้ง จนกว่าจะสามารถผลิตสารพิษที่ร้ายแรงจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้เป็นไวรัสของกุ้งแต่เป็นไวรัสของแบคทีเรีย การค้นพบดังกล่าวได้เปิดให้มีการวิจัยแนวใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อันอาจนำไปสู่วิธีการควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรียวิธีใหม่ โดยการศึกษาแบคทีเรียและไวรัสที่มีกลไกการทำงานร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย จะทำให้กลุ่มผู้วิจัยเข้าใจธรรมชาติ วิถีการผลิตและกลไกการออกฤทธิ์ของสารพิษดังกล่าว กลุ่มผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดธรรมชาติจากสาหร่ายทะเลและแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในบ่อกุ้งจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ การควบคุมโรคแบคทีเรียโดยวิธีธรรมชาติจะทำให้การใช้ยาและสารเคมีในฟาร์มกุ้งลดลง และลดผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ยาและสารเคมี
อย่างไรก็ตามไม่ว่ากลุ่มผู้วิจัยจะควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ดีเพียงใด ก็ยังมีความจำเป็น ที่ต้องมีวิธีการตรวจสอบที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและการตรวจวินิจฉัยโรค ในการนี้กลุ่มผู้วิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจสอบเชื้อ V. parahaemolyticus โดยเทคนิคทางอณูวิทยาเช่นเดียวกับการพัฒนาชุดตรวจสอบสำหรับเชื้อไวรัสในกุ้งซึ่งวิธีการตรวจสอบดังกล่าวสามารถทำได้กับตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อยโดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวกุ้ง และเห็นผลได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง วิธีการตรวจสอบคล้ายกันนี้ สำหรับเชื้อ V. harveyi กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและเป้าหมายคือ ให้สามารถตรวจเชื้อ Vibrio ที่สำคัญทั้ง 4 ชนิดที่พบในเมืองไทยได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว การใช้วิธีการตรวจสอบเหล่านี้เป็นประจำในห้องปฎิบัติการจะทำให้สามารถรู้ ล่วงหน้าก่อนการระบาดของโรค ทำให้มีเวลาในการเตรียมการป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้น
การควบคุมโรคต่าง ๆ ของกุ้ง จำเป็นต้องรู้หลาย ๆ อย่าง ไม่เพียงแต่ตัวเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวกุ้งด้วย ความก้าวหน้าในงานวิจัยเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งในกุ้งประเภท crayfish ซึ่งมีโปรตีนที่มีแบบแผนความจำจำเพาะต่อผนังเซลล์ของแบคทีเรียและเชื้อรา งานวิจัยในทำนองเดียวกันในกุ้งกุลาดำโดยนักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นโดยความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้นำในงานวิจัยใน crayfish ที่ประเทศสวีเดนในทางตรงข้ามกับแบคทีเรีย ความเข้าใจเกี่ยวกับการตอบสนองของกุ้งต่อเชื้อไวรัสแทบไม่มีเลยกลุ่มผู้วิจัยได้เริ่มทำงานในแนวทางที่น่าสนใจนี้โดยได้ศึกษาในระดับอณูวิทยาของทั้งตัวกุ้งและไวรัสและพบว่าเซลล์กุ้งมีกระบวนการทำลายตัวเอง (apoptosis) หลังจากการติดเชื้อ WSV และ YHV งานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินไปอย่างประสานสอดคล้องกับความพยายามที่จะผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพ และการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงที่ปลอดภัย
การนำ PCR ไปใช้ในภาคสนาม ต้องอาศัยนักวิจัยจากภาคเอกชน เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งทำให้ได้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ของ PCR ที่นำมาใช้ และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการในรายละเอียด เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในภาคสนามได้ดีขึ้น การวิจัยเพื่อให้ได้ผลงานนี้จำเป็นต้องทดลองในภาคสนาม คือในโรงเพาะฟักและในฟาร์มทดลอง ซึ่งต้องอาศัยสถานที่ของภาคเอกชนผลการทดลองทำให้สามารถหาวิธีผลิตลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อได้ และค้นพบพาหะต่าง ๆ ของเชื้อ ซึ่งนำไปสู่ระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบปิด ในระบบนี้จะมีการป้องกันมิให้พาหะของเชื้อไวรัสเข้ามาสู่บ่อกุ้ง และมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำน้อยหรือถ่ายน้ำโดยอาศัยน้ำจากบ่อพักน้ำซึ่งปราศจากเชื้อไวรัสและพาหะ การเลี้ยงด้วยลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อและการเลี้ยงด้วยระบบที่ปลอดเชื้อ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายและได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการลดอัตราการเสี่ยงของโรคตัวแดงดวงขาวและหัวเหลืองลงอย่างมาก
ในการเลี้ยงระบบปิดนั้น การบำบำน้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ของเสียที่เกิดจากสิ่งที่กุ้งถ่ายออกมา ที่เกิดจากการตายของแพลงค์ตอนพืชและสัตว์ ที่เกิดจากอาหารกุ้งที่เหลือในบ่อและอีกหลายอย่าง ทำให้คุณภาพของน้ำเสียไป ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเพื่อคืนสภาพน้ำให้สู่ปกติและโดยไม่อาศัยวิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ จากความร่วมมือกับนักวิจัยของบริษัทและอาจารย์ชาวอิสราเอล จึงได้เกิดวิธีการบำบัดน้ำในบ่อกุ้งแบบธรรมชาติขึ้น ซึ่งเป็นแบบชีวภาพ (bioremediation) หลักการสำคัญของวิธีการคือ การปรับระดับของปริมาณคาร์บอนและไนโตรเจนในน้ำให้มีอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้จุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถกำจัดมลภาวะในน้ำได้เจริญเติบโตขึ้นมา
ในการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยังต้องพึ่งพาธรรมชาตินั้น ไม่ว่าจะพยายามป้องกันอย่างไร เชื้อโรคก็ยังมีโอกาสสอดแทรกเข้ามาได้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัย ค้นหาจุลินทรีย์กำจัดเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์เพิ่มภูมิต้านทานให้แก่กุ้ง (probiotics) และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ กลุ่มผู้วิจัยและนักวิจัยของบริษัทจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้าตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และสามารถหาสารชีวภาพดังกล่าวนำมาช่วยเหลือเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากด้านโรคแล้ว กลุ่มผู้วิจัยยังทำงานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง (domestication) ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตออกมาได้ถึงรุ่นที่สี่ และคาดว่าสามารถพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกันนั้นได้ศึกษาค้นคว้าด้านพันธุกรรมของกุ้งกุลาดำ การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยอาศัยผลของการเจริญเติบโต ผลของการต้านทานโรค ควบคู่กับการศึกษาด้านชีวโมเลกุลของสายพันธุ์ (Molecular Genetics) โดยการช่วยเหลือของ ดร.ศิราวุธ กลิ่นบุหงา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.อัญชลี ทัศนาขจร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการศึกษานี้ทำให้เกิดความเข้าใจเป็นรูปธรรมว่า งานวิจัยไม่ว่าในระดับใด ๆ ก็ตามที่สามารถนำมาใช้ได้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม คือการวิจัยเชิงพัฒนาที่แท้จริง
มหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพกุ้งในประเทศไทย ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาได้ด้วยการทำงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและทางด้านอณูชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดลและ BIOTEC จึงได้ตั้งหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและอณูชีววิทยาในกุ้ง ซึ่งอยู่ในศูนย์วิจัยใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกว่า Center of Excellence หน่วยวิจัยนี้จะเริ่มเปิด ในช่วยไตรมาสแรกของปี 2001 และกลุ่มผู้วิจัยจะเข้าไปทำงานวิจัยในศูนย์วิจัยนี้จุดมุ่งหมายของกลุ่มจะมุ่งไปยังการร่วมมือของงานวิจัย ตลอดจนการฝึกเทคนิคเฉพาะด้านสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะพัฒนาและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้ง ตลอดจนพยายามลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้วิจัยเชื่อว่าผลงานวิจัยที่มีคุณภาพจะมีขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายไม่ใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่มีผู้ใดที่เชี่ยวชาญไปทุกเรื่อง ผลงานที่เกิดขึ้น เช่น การจดสิทธิบัตร การตีพิมพ์บทความทางวิชาการและความร่วมมือกันกับกลุ่มนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ จะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ถึงความสำเร็จของความพยายามในครั้งนี้
ที่มา : มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย. (2544). ผลงานของคณะผู้วิจัยเรื่องกุ้งกุลาดำ. ใน รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : Thailand Toray Science Foundation 2000. หน้า 27-36. ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล