รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม
รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาชีวเคมี ประจำปี 2546
รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม (ตำแหน่งทางวิชาการขณะได้รับรางวัล คือ ดร.) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นบุตรของนายกรุงศรี และนางภาคินี ยูวะนิยม สมรสแล้วกับนางฉันธนา (ลาภศิริวงศ์) ยูวะนิยม
ดร.จิรันดร ยูวะนิยม สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนประถมและมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ป*ระสานมิตร) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีสาขาเคมี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาเอกสาขา Biological Chemistry ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (Ann arbor) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เมื่อปี พ.ศ. 2540 ระหว่างการศึกษา ได้รับรางวัลเรียนดีและกิจกรรมดีเด่นต่าง ๆ มาโดยตลอด ได้รับคัดเลือกไปร่วมกิจกรรม Research Science Institute ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ณ มลรัฐ New York ได้รับรางวัล ศ.ดร. แถบ นีละนิธิ และ Horace H. Rackham Graduate School Predoctoral Fellowship รวมถึง Dominic D. Dziewiatkowski Outstanding Ph.D. Dissertation Award
ตั้งแต่ศึกษาระดับปริญญาเอก ดร.จิรันดร มีความสนใจและได้ทำวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างสามมิติของโปรตีนตลอดมา โดยได้ทุนจาก Horace H. Rackham Graduate School ไปศึกษาเทคนิคการหาโครงสร้างสามมิติ โดยอาศัยการหักเหรังสีเอ็กซ์ของผลึกตัวอย่าง (X-ray crystallography) ณ Cold Spring Harbor Laboratory มลรัฐ New York และเป็นผู้หาโครงสร้างสามมิติแรกของเอนไซม์ dual-specificity phosphatase ซึ่งมีความสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ และเป็นผลงานสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก (Science 272: 1328) หลังจากจบการศึกษา ได้รับราชการเป็นอาจารย์ในภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้รับทุน WHO/TDR Training Grant จากองค์การอนามัยโลก ไปทำวิจัยที่บริษัทยา F. Hoffmann-La Roche ณ เมือง Basel ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 โดยได้ศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์พลาสเมปซิน (plasmepsins I and II) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนายารักษาโรคมาเลเรีย และได้รับทุนวิจัย Target Research Unit Network จาก Thailand-Tropical Diseases Research Programme (TARUN/T-2) เพื่อศึกษาเอนไซม์ในกลุ่มพลาสเมปซินนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความร่วมมือกับ ศ. ดร.ประพนธ์ วิไลรัตน์ และ Howard Hughes Medical Institute ณ Washington University School of Medicine สหรัฐอเมริกา รวมทั้งบริษัท Actelion Pharmaceuticals จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังร่วมกับทีมนักวิจัย จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ในกลุ่มวิจัยของ ศ. ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เพื่อศึกษาโครงสร้างสามมิติของเอนไซม์ไดไฮโฟเลทรีดักเทส-ไธมิดิเลทซินเทส (dihydrofolate reductase-thymidylate synthase) จากเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งในการพัฒนายารักษาโรคมาเลเรีย (Nat struct Biol. 10, 357) นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของ ศ. ดร.ศกรณ์ มงคลสุข เพื่อศึกษาโครงสร้างสามมิติของโปรตีน ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและควบคุมการตอบสนองต่อสาร organic peroxide ในเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
นอกจากการหาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนแล้ว ดร.จิรันดร ยังมีความสนใจในการประยุกต์ความรู้ทางโครงสร้างของโปรตีนนี้ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ในการทำวิศวกรรมโปรตีน เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีสมบัติตามต้องการ โดยร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของ ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ และ ศ. ดร.วิทยา มีวุฒิสม เพื่อศึกษาการเปลี่ยนความจำเพาะของเอนไซม์ โดยวิธีวิศวกรรมโปรตีน และยังได้ร่วมกับ ผศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ผศ. ดร.พลังพล คงเสรี และ ดร.เปรมวดี วงษ์แสงจันทร์ จัดตั้งกลุ่มวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน ณ คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี ศ. ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร เป็นหัวหน้ากลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับสากลและเป็นประโยชน์กับประเทศไทยสืบต่อไป
ที่มาข้อมูล : รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2546. [กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546. ISBN 974-13-2511-8
ที่มาภาพ : หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล